
การละเล่นพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่สะท้อนวิถีชีวิต ความคิด และความเชื่อของผู้คนในแต่ละพื้นที่ แม้ว่ารูปแบบการเล่นจะหลากหลายตามภูมิภาค แต่หลายครั้งกลับพบว่าการละเล่นจากทั่วโลกมีวิธีการเล่นและลักษณะคล้ายกันอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน แม้ว่าจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสาร และส่งต่อวัฒนธรรมไปถึงกันได้
สำหรับการละเล่นพื้นบ้านนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก และทำหน้าที่เป็นสะพานที่เชื่อมโยงเด็กกับวัฒนธรรมและมรดกของชุมชนได้อย่างลงตัว โดยตัวอย่างของการละเล่นพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมทั่วโลกและมีวิธีเล่นคล้ายคลึงกัน ได้แก่
1. การละเล่นกระโดดขาเดียว / ตั้งเต (Hopscotch)

การละเล่น Hopscotch เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวและการควบคุมร่างกายแก่เด็กปฐมวัยได้อย่างดีเยี่ยม ขณะเล่น เด็กจะได้ปฏิบัติตามกติกาที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้มีร่างกายแข็งแรง คล่องแคล่ว และควบคุมการเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ Hopscotch มีชื่อเรียกและรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ในประเทศไทยเรียกว่า “กระโดดขาเดียว” หรือ “ตั้งเต” ในขณะที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “Hopscotch” ฝรั่งเศสเรียกว่า “La Marelle” อิตาลีเรียกว่า “Campana” เม็กซิโกเรียกว่า “Avioncito” ญี่ปุ่นเรียกว่า “Ken-Ken-Pa” เกาหลีเรียกว่า “Saekhwa-Nori” อินเดียเรียกว่า “Stapu” หรือ “Kith-Kith” และในแอฟริกาใต้เรียกว่า “Udam”
กติกาการเล่น
แม้รายละเอียดและกติกาการเล่นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะร่วมกัน คือ การตีเส้นเป็นรูปแบบตาราง อาจเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้ง โดยช่องสุดท้ายมักมีขนาดใหญ่กว่าช่องอื่น ๆ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น มักเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น กติกาพื้นฐานคือ ผู้เล่นต้องโยนลูกหินหรือลูกแก้วลงในช่องแรก จากนั้นกระโดดขาเดียวไปตามช่อง ยกเว้นช่องที่มีลูก หากเป็นช่องคู่ให้กระโดดลงสองขาพร้อมกัน โดยห้ามเหยียบเส้นหรือช่องที่มีลูก เมื่อถึงช่องสุดท้ายต้องหมุนตัวกลับ หากผู้เล่นทำได้สำเร็จจะได้ 1 คะแนน แต่หากทำผิดกติกาจะต้องต่อแถวเริ่มใหม่ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
การละเล่น Hopscotch กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดังนี้
1. ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น เสริมความแข็งแรงของขา เพิ่มความทนทานและความคล่องตัว รวมถึงการฝึกการทรงตัวบนขาเดียวและการควบคุมการเคลื่อนไหว สำหรับกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กจะได้ฝึกประสานงานระหว่างมือและตา ผ่านการโยนและหยิบจับลูกหินหรือวัสดุที่ใช้ในการเล่น
2. ให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางคณิตศาสตร์ เช่น การนับเลข การจัดลำดับ การคำนวณระยะทาง และความเข้าใจในรูปทรงเรขาคณิต นอกจากนี้ยังช่วยฝึกการวางแผน การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา รวมถึงพัฒนาความจำและสมาธิ
3. ช่วยให้เด็กเรียนรู้การปฏิบัติตามกติกา ฝึกความอดทน การรอคิว และการจัดการอารมณ์เมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวัง เด็กยังได้เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน พัฒนาความมั่นใจในตนเอง รวมถึงการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
4. ช่วยฝึกทักษะการสื่อสาร การฟังคำสั่ง และการใช้คำศัพท์เกี่ยวกับทิศทาง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การอธิบายกติกา การร้องเพลงประกอบการเล่น รวมถึงฝึกการออกเสียง จังหวะ และทำนองต่าง ๆ ซึ่งส่งเสริมคลังคำศัพท์และความจำของเด็ก
2. การละเล่นหมากเก็บ (Jackstone)

การละเล่น Jackstone เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เล่นกันมาอย่างยาวนานในหลายประเทศทั่วโลก ลักษณะการเล่นจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ผู้เล่นจะต้องเก็บก้อนหินหรือวัตถุที่ใช้แทน “หมาก” ด้วยมือหรือการเคลื่อนไหวที่ต้องอาศัยความแม่นยำและความเร็ว เช่น ในประเทศไทยเรียกว่า “หมากเก็บ” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “Juego de Anillo” หรือ “Jackstone” สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เรียกว่า “Jackstone” เกาหลี เรียกว่า “Gonggi” ญี่ปุ่น เรียกว่า “Otedama” อินเดีย เรียกว่า “Gutte” และกรีซ เรียกว่า “Pentovola”
กติกาการเล่น
ถึงแม้ว่ารูปแบบการเล่นและอุปกรณ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่แนวคิดหลักก็ยังคงเหมือนเดิม แต่โดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะร่วมกัน คือ ผู้เล่นจะใช้ก้อนหินหรือหรือวัตถุที่ใช้แทน “หมาก” โดยมีการเก็บและโยนไปตามลำดับวิธี ผู้เล่นต้องเก็บหมากจากพื้นทีละก้อนหรือทีละหลายก้อน ขึ้นอยู่กับกติกาที่ตั้งขึ้น โดยระหว่างการเล่นจะต้องใช้ความแม่นยำและความเร็วในการโยนหมากและเก็บให้ครบก่อนหมากที่โยนลอยขึ้นจะตกถึงพื้น
การละเล่น Jackstone กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดังนี้
1. ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น นิ้วและมือ โดยเฉพาะการเก็บและโยนหินหรือหมาก การเล่นนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของนิ้วและมือ อีกทั้งช่วยในการประสานงานระหว่างตาและมือขณะโยนลูกบอลหรือหมากขึ้นไปในอากาศและเก็บหมากจากพื้น เด็กจะได้ฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างสายตาและมือให้สอดคล้องกันอย่างเหมาะสม
2. ช่วยพัฒนาทักษะการวางแผนและแก้ปัญหา เด็กจะต้องคิดและวางแผนลำดับการเก็บหมากในแต่ละรอบ ทักษะคณิตศาสตร์ผ่านการนับจำนวนหมากในแต่ละรอบ การนับคะแนน หรือการคำนวณจำนวนก้อนหินที่ต้องเก็บ ทักษะความจำเด็กจะต้องจดจำกติกาการเล่นและลำดับการเก็บหมากในแต่ละรอบ ช่วยให้เด็กฝึกการจดจำและเรียนรู้ที่จะรักษาลำดับขั้นตอนในการเล่น
3. ช่วยพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรอคิวเล่น ฝึกการเป็นผู้เล่นที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ อีกทั้งช่วยในการควบคุมอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากการเล่นต้องใช้ความแม่นยำและสมาธิสูงอาจทำให้เด็กต้องจัดการกับความตื่นเต้นหรือความผิดหวังเมื่อไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจได้ การเล่นนี้จึงช่วยให้เด็กฝึกการควบคุมอารมณ์และเรียนรู้การรับมือกับความผิดหวัง
4. เด็กสามารถปรับกติกาหรือสร้างรูปแบบใหม่ในการเล่นได้ เช่น การเพิ่มระดับความยากด้วยการเปลี่ยนวิธีการโยน การเก็บ หรือการกำหนดกติกาเฉพาะของกลุ่ม ซึ่งกระตุ้นให้เด็กคิดสร้างสรรค์ในการเล่น
3. การละเล่นกระโดดยาง (Jump Rope / Rubber Band Jumping)

เป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ในหลายประเทศเล่นกันอย่างสนุกสนาน โดยมีกติกาและรูปแบบการเล่นที่หลากหลาย ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและจินตนาการของแต่ละภูมิภาค โดยในประเทศต่าง ๆ มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เช่น ในประเทศไทยเรียกว่า “กระโดดยาง” ญี่ปุ่น เรียกว่า “Gomu Tobi” ฟิลิปปินส์ เรียกว่า “Chinese Garter” อเมริกา เรียกว่า “Jump Rope” หรือในยุโรป เรียกว่า “French Skipping”
กติกาการเล่น
การเล่นกระโดดยาง หรือ Jump Rope / Rubber Band Jumping มีกติกาที่หลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่น ในที่นี้เป็นกติกาทั่วไปที่นิยมใช้คือ ผู้เล่นสองคนยืนประจันหน้ากัน ยืดเส้นยางให้ตึงโดยเกี่ยวไว้กับข้อเท้า หัวเข่า หรือระดับที่กำหนด ผู้เล่นที่เหลือต้องกระโดดข้ามยางตามลำดับ โดยท่ากระโดดอาจมีการกำหนดรูปแบบ เช่น การกระโดดเท้าคู่ ขาเดียว หรือการหมุนตัว สำหรับระดับความสูงจะเริ่มจากระดับต่ำสุด (ข้อเท้า) และเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หัวเข่า สะโพก เอว หัวไหล่ และสูงสุดที่ศีรษะ ซึ่งผู้เล่นต้องกระโดดข้ามโดยไม่โดนยาง หากผู้เล่นพลาด เช่น เหยียบยาง กระโดดไม่ถึง หรือเสียสมดุล ผู้เล่นคนนั้นต้องออกจากลำดับการกระโดด ผู้เล่นที่เหลือจะเล่นต่อไปจนกว่าจะครบทุกระดับ
การละเล่น Jump Rope / Rubber Band Jumping กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดังนี้
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อขาและความแข็งแรงของร่างกายส่วนล่าง และในการกระโดดข้ามยางหรือเชือกในระดับต่าง ๆ จะช่วยในการฝึกการทรงตัวและประสานงานระหว่างสายตา มือ และเท้า อีกทั้งยังเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย
- ช่วยฝึกทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการรอคิวและการแบ่งปันโอกาสในการเล่น ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ๆ และสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ อีกทั้งยังทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความผิดหวังเมื่อล้มเหลว และมีความพยายามที่จะลองใหม่ และการเล่นกระโดดยางหรือกระโดดยังเชือกช่วยลดความเครียดและสร้างอารมณ์เชิงบวกให้แก่เด็กอีกด้วย
- ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์ โดยเด็กสามารถการออกแบบท่าหรือคิดค้นท่ากระโดดใหม่ ๆ ที่แปลกและท้าทายยิ่งขึ้นได้ และยังสามารถตั้งกติกาหรือเรื่องราวเสริมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันข้าม “สะพาน” หรือ “แม่น้ำ” เพื่อให้การเล่นมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถร้องเพลงหรือคำคล้องจองประกอบการเล่น เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาภาษาของเด็กได้อีกด้วย
4. การละเล่นดีดลูกแก้ว (Marbles)

การละเล่น Marbles เป็นกิจกรรมที่เด็กในหลายประเทศทั่วโลกเล่นกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เช่น ในประเทศไทยเรียกว่า “ดีดลูกแก้ว” อินโดนีเซียลูก เรียกว่า “kelereng” เกาหลี เรียกว่า “gganbu” อินเดีย เรียกว่า “Goli” ฟิลิปปินส์ เรีบกว่า “Holen”สหรัฐอเมริกา เรียกว่า “Marbles” อังกฤษ เรียกว่า “Ringer” ออสเตรเลีย เรียกว่า “Knuckle Down”
กติกาการเล่น
การละเล่น Marbles หรือเกมดีดลูกแก้ว เป็นกิจกรรมที่มีกติกาหลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามภูมิภาค วัฒนธรรม และความชอบของผู้เล่น โดยกติกาพื้นฐานของเกมมักมีเป้าหมายและวิธีการเล่นที่คล้ายกัน แต่สามารถปรับให้มีความยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มความสนุกและความท้าทาย
โดยผู้เล่นจะใช้ลูกแก้วของตนเป็นตัวดีด โดยอาศัยนิ้วโป้งหรือวิธีการอื่นตามที่ตกลงกัน เป้าหมายหลักของเกมคือการดีดลูกแก้วของตนให้โดนลูกแก้วของฝ่ายตรงข้าม หรือปฏิบัติตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น การดีดลูกแก้วให้เข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย ผู้เล่นยังสามารถเก็บลูกแก้วของฝ่ายตรงข้ามที่ถูกดีดออกจากเป้าหมายได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้เล่นว่าจะเดิมพันลูกแก้วเพื่อแข่งขัน หรือเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ซึ่งกติกาเหล่านี้สามารถดัดแปลงได้ตามความต้องการ ช่วยให้การละเล่น Marbles ยังคงสร้างความเพลิดเพลินและความตื่นเต้นสำหรับผู้เล่นทุกเพศทุกวัย
การละเล่น Marbles กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดังนี้
- การเล่น Marbles จะต้องใช้ความแม่นยำและการควบคุมนิ้วมือ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและความคล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมัดเล็ก อีกทั้งยังฝึกการประสานงานระหว่างมือและตา เนื่องจากเด็กต้องจับลูกแก้วและเล็งเป้าหมาย ฝึกการทำงานร่วมกันของตาและมือให้สอดคล้องกัน และยังฝึกการทรงตัวและความยืดหยุ่นของร่างกาย ในขณะที่เด็กทำท่าทางการนั่งยองหรือนอนในการเล่น
- ในขณะเล่นเด็กจะได้ฝึกการยอมรับความสำเร็จและความล้มเหลว ช่วยพัฒนาการควบคุมอารมณ์และการยอมรับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความมั่นใจในตนเองของเด็ก เมื่อเด็กสามารถดีดลูกแก้วได้แม่นยำหรือชนะเกม เด็กจะรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จ
- การเล่น Marbles มักจะต้องเล่นเป็นกลุ่ม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมและการทำงานเป็นทีมแก่เด็ก ฝึกการเรียนรู้และทำตามกติกา โดยเด็กต้องปฏิบัติตามกติกาที่กำหนด อีกทั้งเด็กจะได้ฝึกการสื่อสารและการเจรจา เนื่องจากต้องมีการพูดคุยและการตกลงกันในเรื่องกติกา เด็กจะได้พัฒนาทักษะการสื่อสารเพิ่มเติมด้วย
- ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนกติกา สนาม หรือรูปแบบการเล่นให้เหมาะสมกับความชอบของเด็ก และเด็กยังได้ใช้จินตนาการผ่านการเลือกและเล่นกับลูกแก้วหลากสี รวมถึงการคิดค้นสถานการณ์การเล่นใหม่ ๆ หรือสร้างความท้าทายต่าง ๆ เพิ่มเติมในเกม การคิดนอกกรอบเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้แก่เด็ก
การละเล่นพื้นบ้าน เช่น Hopscotch, Jackstones, Jump Rope และ Marbles แม้มีความแตกต่างในแต่ละวัฒนธรรม แต่มีความคล้ายคลึงกันที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมมนุษย์ทั่วโลก อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะของเด็กทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์ จิตใจ และภาษา ดังนั้น การสนับสนุนการเล่นในเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการของเด็กอย่างสมดุล เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกด้าน