วันที่ 24 มิถุนายน 2565 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม “แนวทางการดำเนินงานในการจัดและให้บริการแก่เด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ.
รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มจำนวนเด็กด้อยโอกาส ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดภาวะตกงานของผู้ปกครอง ส่งผลให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการซึ่งรับผิดชอบด้านระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลสวัสดิภาพของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบสำรวจและส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยที่มีภาวะความต้องการพิเศษ หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา รวมถึงเด็กที่ไม่มีผู้ดูแล ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเหมาะสม
ที่ประชุมได้หารือถึงข้อกังวลจากการนิยามคำว่า พิการ ซึ่งผู้ที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ จำเป็นต้องทำบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐและการยืนยันตนเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีผู้ปกครองบางส่วนได้บอกเล่าถึงความไม่สบายใจและยังไม่พร้อมที่จะยอมรับให้บุตรหลานที่มีความพิเศษต้องถูกนิยามด้วยคำว่า พิการ จากการสมัครเพื่อถือบัตรดังกล่าว จึงมีเด็กปฐมวัยบางส่วนไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมถึงสิทธิทางกฎหมายด้านอื่น ๆ จากการหารือเบื้องต้นพบว่า ทุกหน่วยงานทราบถึงปัญหาและได้จัดทำข้อเสนอให้ผนวกสิทธิ์ของบัตรดังกล่าวเข้ากับบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยต่อไป
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการสัญญาณที่ดีของการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่จะร่วมปกป้องดูแลเด็กไทยโดยไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ให้ทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาชาติต่อไปได้อย่างภาคภูมิ โดยหลังจากนี้อาจมีการบูรณาการการจัดทำเครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยให้ครอบคลุมการประเมินเด็กปฐมวัยในทุกด้าน เพื่อให้เป็นเครื่องมือกลางของประเทศที่มีมาตรฐานระดับสากล และช่วยส่งเสริมให้เด็กได้รับความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ให้มีขีดความสามารถที่พร้อมในการปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า และมีความสุขต่อไป