พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 กล่าวถึง การให้เด็กเล็กซึ่งเป็นเด็กปฐมวัยได้รับการคุ้มครอง ดูแล ให้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง ทั่วถึง และเสมอภาค รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อตั้งแต่ก่อนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เด็กปฐมวัยสามารถเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีและเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต และเพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อาศัยอำนาจตามมาตรา 54 และ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (1) จึงกำหนดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ และให้เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านการศึกษา ด้านการศึกษาพิเศษ ด้านการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสื่อสารมวลชน ฯลฯ เพื่อร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
structure
คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวนแปดคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านการศึกษา ด้านการศึกษาพิเศษ ด้านการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านสื่อสารมวลชน ด้านละหนึ่งคน และด้านการบริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจำนวนสองคน ซึ่งมาจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยภาครัฐหนึ่งคน และภาคเอกชนหนึ่งคน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 จึงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ดังรายชื่อในเอกสารคำสั่งแต่งตั้ง
คณะอนุกรรมการ
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น รวมทั้งสิ้น 7 คณะ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน และดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยมีอำนาจในการเสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 อันประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย
หน้าที่และอำนาจ
- จัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ
- กำหนดแนวทางบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งการบูรณาการการจัดบริการในแต่ละช่วงรอยต่อของเด็กปฐมวัย
- จัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- กำหนดแนวทางการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- จัดทำมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- จัดทำสมรรถนะและตัวชี้วัดการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลด้านปฐมวัย
หน้าที่และอำนาจ
- จัดทำระบบสารสนเทศและระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยให้เป็นระบบ (system approach) โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และให้บริการตามเป้าหมายของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
- ติดตามและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศและข้อมูลของเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ
- จัดทำความเชื่อมโยงของระบบสารสนเทศและระบบฐานข้อมูลในข้อ 1. ให้สามารถติดตามเด็กได้เป็นรายบุคคล จนเด็กเข้าสู่ประถมศึกษาปีที่ 1 ภายใต้หลักการการปกป้องสิทธิเด็ก
- บ่งชี้ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องดำเนินการและแก้ไข และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นระยะ เพื่อให้มีการปรับปรุงและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
3. คณะอนุกรรมการวิจัยพัฒนา และจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย
หน้าที่และอำนาจ
- ส่งเสริม หรือจัดให้มีการศึกษาวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- รายงานผลการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม ให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทราบ เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนนำผลการวิจัย และนวัตกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่การปฏิบัติ
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
4. คณะอนุกรรมการกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิ
หน้าที่และอำนาจ
- เสนอให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ที่จำเป็นเพื่อดำเนินการตามนโยบายระดับชาติ ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย แผนพัฒนาเด็กปฐมวัยและมาตรฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และเอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิแก่เด็ก
- ส่งเสริมสนับสนุนและติดตามให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน จัดให้มีบริการสาธารณสุข จัดการศึกษา จัดสวัสดิการและให้บริการด้านการคุ้มครองสิทธิแก่เด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง ซึ่งอาจดำเนินการแบบบูรณาการโดยจัดให้มีบริการต่าง ๆ ภายในหน่วยงานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- จัดทำแนวทางการสร้างระบบและกลไกทางกฎหมาย เพื่อพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิเด็กปฐมวัยตามกฎหมายในการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และดำเนินการทางคดี
- เสนอแนะจัดทำแนวทางการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเด็กปฐมวัยให้มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติต่อการดำเนินการตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย และตามกฎหมาย
- ประสานความร่วมมือ และติดตามให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และดำเนินการทางคดีเพื่อการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิแก่เด็กปฐมวัย ให้การช่วยเหลืออย่างทั่วถึง สอดคล้องเหมาะสมกับความจำเป็น และดำเนินการในระบบวินิจฉัยแบบสหวิทยาการ
- ประสานให้สถาบันที่ผลิต และพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการดำเนินงานทางด้านกฎหมายและพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิสำหรับเด็กปฐมวัย
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
5. คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
หน้าที่และอำนาจ
- จัดทำกรอบแนวทาง กลยุทธ์ และแผนงานด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
- สื่อสารเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมทักษะ และสร้างเสริมเจตคติที่ดีด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย บุคลากรและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคมอย่างทั่วถึง ให้สอดคล้องกับหลักการและปรัชญาของการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ส่งเสริมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็กปฐมวัย ให้มีความหลากหลายและเพียงพอ
- ประสานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เข้มแข็ง
- เสนอแนะแผนงบประมาณด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้บรรลุผลการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคม และการมีสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ หลากหลายและเพียงพอ
- จัดให้มีการประเมินผลประจำปีด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งด้านการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย บุคลากร และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคประชาสังคมกับการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสำหรับเด็กปฐมวัย
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
6. คณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส
หน้าที่และอำนาจ
- กำหนดแนวทางในการรวบรวม สำรวจเครื่องมือ เพื่อสำรวจ คัดกรองและวินิจฉัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษและด้อยโอกาสของเด็กปฐมวัย ที่ใช้อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์คัดเลือกและสังเคราะห์เครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจ คัดกรองภาวะความต้องการพิเศษและด้อยโอกาสของเด็กปฐมวัยที่ใช้อยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการจัดทำระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน
- เสนอแนะ ให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาเครื่องมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องว่าหน่วยงานใดต้องพัฒนาเครื่องมือใดเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการสำรวจ คัดกรองและวินิจฉัยในการหาภาวะความต้องการพิเศษและด้อยโอกาสของเด็กปฐมวัย
- ออกแบบและจัดทำระบบการสำรวจ คัดกรองและวินิจฉัยที่ได้มาตรฐานเพื่อค้นหาเด็กปฐมวัยที่มีภาวะความต้องการพิเศษ พิการ หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา เด็กปฐมวัยที่ไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
- จัดทำหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อให้เด็กปฐมวัยตามข้อ 3 เข้าถึงสิทธิและได้รับโอกาสในการพัฒนาที่มีคุณภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ และบริการ รวมทั้งความช่วยเหลืออื่นทั้งด้านการพัฒนาและการศึกษาที่สอดคล้องเหมาะสมกับความจำเป็น เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ประสานเพื่อให้เกิดการกำหนดบทบาทหน้าที่และการจัดสรร บูรณาการทรัพยากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการคัดกรองและวินิจฉัยเด็กปฐมวัยแบบองค์รวมอย่างเป็นระบบ ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
- ประสานสถาบันอุดมศึกษาผลิตบุคลากรให้ผลิตบุคลากรเฉพาะด้านเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับระบบที่ต้องมีบุคลากรแบบสหวิชาชีพ
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
7. คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลเด็กปฐมวัย
หน้าที่และอำนาจ
- ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ กำหนด และพิจารณาแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กปฐมวัย และการบริหารจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กปฐมวัย เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน
- กำกับและติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูลเด็กปฐมวัยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามระบบบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐและการคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล
- บ่งชี้ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องดำเนินการและแก้ไข และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นระยะ เพื่อให้มีการปรับปรุงและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
- รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยมอบหมาย
สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (สนป.)
พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบาย การพัฒนาเด็กปฐมวัยขึ้น เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประสานการขับเคลื่อนการดำเนินงานและรองรับการบูรณาการ ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในส่วนที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษารับผิดชอบให้เป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุผลสำเร็จตามภารกิจ เกิดประโยชน์กับการบริหารราชการโดยรวม และสอดคล้องกับภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงจัดตั้งสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
อำนาจหน้าที่
- ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแต่งตั้ง รวมทั้งปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- รวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย
- วิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการเพื่อผลักดันและสนับสนุนการนำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนพิจารณาเสนอแนะแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการต่อคณะกรรมการ
- จัดทำและพัฒนากลไกและระบบการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ตลอดจนร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายในระดับจังหวัดและระดับอำเภอเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย
- จัดให้มีการศึกษาวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
- เสนอแนะแนวทางการจัดสรรและแสวงหาทรัพยากรเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อคณะกรรมการ
- สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเด็กปฐมวัยเพื่อจัดทำฐานข้อมูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย และเผยแพร่ข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย
- จัดทำการประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานมอบหมาย