วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นประธาน ฯ ร่วมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) คณะอนุกรรมการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมหารือ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ.
สำหรับคณะอนุกรรมการ ฯ มีภารกิจในการกำหนดแนวทางในการรวบรวม ออกแบบ และจัดทำระบบการสำรวจ คัดกรองและวินิจฉัยที่ได้มาตรฐานเพื่อค้นหาเด็กปฐมวัยที่มีภาวะความต้องการพิเศษ พิการ หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา เด็กปฐมวัยที่ไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงต่อไป
ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมรับฟัง “ระบบคัดกรองพัฒนาการเด็กไทย ใส่ใจ ส่งเสริม กระตุ้นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าและเด็กที่มีภาวะออทิซึมในยุคดิจิทัล” โดย นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร และความสำเร็จของ “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพร ศรประสิทธิ์ ได้เล่าถึงการบริหารทรัพยากรเพื่อให้เด็กปฐมวัยในภาคใต้ได้รับการคัดกรอง วินิจฉัย ช่วยเหลือ และพัฒนา ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งมีโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลกว่า 120 โรงเรียนทั่วภาคใต้
ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันใน 2 ประเด็น คือ
- เครื่องมือคัดกรองและวินิจฉัยเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษและด้อยโอกาส มีความหลากหลายและมีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ตามแต่ละหน่วยงานที่จัดทำขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะอนุกรรมการ ฯ จะเร่งพิจารณาเครื่องมือคัดกรอง ฯ พร้อมส่งเสริมการออกแบบเครื่องมือดังกล่าวให้ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้านและได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถนำไปใช้ได้ในฐานะเครื่องมือกลางของประเทศโดยเบื้องต้นจะเร่งสำรวจและพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2566
- ควรเชื่อมโยงฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเด็กปฐมวัยจากทุกหน่วยงานและเปิดให้องค์กร/ศูนย์พัฒนาเด็กเข้าใช้งานได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการค้นหาและเข้าช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาสได้ทันท่วงที และต่อยอดสู่การส่งเสริมความรู้ให้ผู้ปกครองได้ช่วยดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยสามารถเข้าถึงโปรแกรมระบบจัดการข้อมูลพัฒนาการเด็กรายบุคคล (DSPM) กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะอนุกรรมการ ฯ จะประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำข้อมูลไปใช้นั้นจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และสิทธิของเด็กด้วย