โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองได้สะท้อนปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนจะสายเกินแก้และสูญเสียโอกาสในการสร้างประชากรเด็กที่มีคุณภาพ โดยมีข้อค้นพบที่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ คือ ทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือ ทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรง กล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 70 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่าร้อยละ 98 ของเด็ก ๆ มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
ของเด็ก ในวัยเดียวกัน ซึ่งปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม สะท้อนว่าเด็กกำลังเผชิญวิกฤต
ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องที่ส่งผล ต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ และสัญญาณเตือนสำคัญคือการจับดินสอไม่ถูกวิธีเพราะกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ที่ทางทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้สังเกตพบว่ามี 8 รูปแบบดังนี้
จับดินสอผิดวิธีเนื่องจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง
ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โค้ชการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อนุบาล – ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. กล่าวว่า การจับดินสอผิดวิธี สะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อย เป็นอุปสรรค
ต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ภายใต้คำว่า “เขียน” เด็กต้องใช้ทั้งกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อของมือในการจับดินสอและของลำตัวเพื่อทำให้ร่างกายตั้งตรงและทรงตัวได้อย่างมั่นคง จึงจะทำให้เด็กเคลื่อนมือในการเขียนได้ สมองต้องควบคุมการทำงานของร่างกายและต้องจดจำ แยกแยะรูปร่างของตัวพยัญชนะแต่ละตัว
ซึ่งมีความซับซ้อน คำว่า “อ่าน” ก็เช่นเดียวกัน เด็กต้องแยกเสียงพยัญชนะ สระ เมื่อนำมาประสมกันเป็นคำ เกิดเป็นรูปใหม่ ได้เสียงที่เปลี่ยนไป มีรายละเอียดที่ต้องพยายามเรียนรู้ซ่อนอยู่มากมาย
ในขณะที่เด็กมีต้นทุนของทักษะการเรียนรู้น้อยเกินไป การดุเด็กว่า “ทำไมแค่นี้เขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้” และการบังคับเคี่ยวเข็ญ เด็กจะรู้สึกถูกกดดันและเครียด ยิ่งทำให้การเรียนรู้ช้าลงตามไปด้วย
ครูและผู้ปกครองทุกคนต้องสังเกตและจับสัญญาณจากเด็กให้ได้ การลุกยืนและเดินไปมา
ในคาบสอน ไม่ใช่เพราะเด็กสมาธิสั้น หรือเป็นเด็กพิเศษ หรือการไม่ยอมทำการบ้านเพราะขี้เกียจเรียนอย่างที่หลายคนด่วนสรุป จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิดและร่วมประเมินกับครู
พบว่าเกิดจาก “ฐานกายเด็กยังไม่พร้อม”
ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โค้ชโครงงานฐานวิจัยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. กล่าวว่า คุณครูได้สังเกตพฤติกรรมเด็กในขณะ
นั่งเขียน ภายในเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาทีพบว่า เด็กเขียนได้สักพักก็ฟุบตัวไปกับโต๊ะ แล้วอีกสักพักก็ลุกขึ้นยืน เพราะกล้ามเนื้อแกนกลาง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรง การยืนหรือเดินจะสบายกว่าการนั่งเนื่องจากแรงที่กระทำต่อสันหลังลดลง ตอนแรกครูเข้าใจว่าเด็กสมาธิสั้น ก็เลยดุทำให้เด็กยิ่งเบื่อ
และบ่นว่าเหนื่อย หลังจากที่ครูเข้าใจสาเหตุเลยไม่ดุเด็กอีกต่อไป
“การจับดินสอที่ผิดวิธีมีได้หลายแบบ บางคนก็เหยียดเพื่อให้นิ้วรู้สึกว่าจับดินสอได้มั่นคง บางคนก็เหยียดเพื่อออกแรงกดเยอะขึ้นเพื่อให้นิ้วมือมีความรู้สึกมากขึ้น ซึ่งเมื่อดูโดยรวมแล้วจะพบว่าวิธีจับดินสอไม่ถูกต้องที่พบได้บ่อยมีประมาณ 8 แบบด้วยกัน หรือสังเกตที่แท่งดินสอก็ได้ ถ้าเขียนไม่ถูกวิธีส่วนใหญ่ตัวดินสอจะตั้งตรง ไม่ใช่แค่เด็กประถมต้นที่มีปัญหา ทุกวันนี้นักเรียนชั้นประถม 5 ก็ยังมีที่จับดินสอผิดกัน แม้แต่ครูบางคนที่อายุ 40 ปี ก็ยังจับดินสอไม่ถูกจนกลายเป็นเขียนผิดมาตลอด
ครูเล่าว่าตัวเองเป็นคนเขียนช้า ทำงานช้ามาตั้งแต่ตอนเรียน โดยไม่รู้เลยว่าเกิดจากจับดินสอผิดวิธี และสาเหตุจากกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรงและปลายนิ้วรับความรู้สึกได้ไม่ดี คุณครูเห็นผลลัพธ์ปลายทางว่าเด็กที่มีปัญหาคือเด็กที่เขียนหนังสือช้าหรือเขียนไม่สวยเท่านั้น และโควิด-19 กำลังซ้ำเติมให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น”
แนวทางฟื้นฟูกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ในการพัฒนากล้ามเนื้อเด็กวัยประถมต้น
หลังจากวิเคราะห์ลักษณะความถดถอยของฐานกายเด็กแล้ว ครูเริ่มตามแนวทางนี้คือออกแบบกิจกรรม เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อที่แขน ขา ลำตัวและระบบประสาทสัมพันธ์
หลากหลายรูปแบบ กระบวนการ และเป้าหมาย เพื่อให้เด็กมั่นใจในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหว
แบบต่างๆ มีการทรงตัวที่มั่นคง จนเด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง และเต็มใจที่จะพัฒนาในขั้นต่อไป ทำทุกวันใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะบูรณาการกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการบูรณาการการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ สาระพื้นฐาน ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์พบว่าเด็กมั่นใจขึ้น ร่าเริง สื่อสารดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อในการฟังมากขึ้น ทานอาหารมากขึ้น เริ่มเล่น
กับเพื่อนและคิดวิธีเล่นต่อยอดจากกิจกรรมที่ฝึก จดจำได้เร็วขึ้น มากขึ้น จำได้นานขึ้น ตื่นตัวรอคอยที่จะได้เล่นกิจกรรม สนุกและมุ่งมั่นกับการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบท้าทาย กำกับตัวเองได้ดีขึ้น ล้วนเป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงความพร้อมในการเรียนรู้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เป็นเวลาประมาณ
2 สัปดาห์ที่คุ้มค่ามาก”