พาลูกไปตรวจภาวะซีด ตรวจคัดกรองการได้ยิน หนูจะได้โตอย่างแข็งแรงและฉลาด

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจกังวลกับปัญหาด้านพัฒนาการในเด็ก และเกิดความสงสัยว่า
“ทำไมลูกน้อยของตนถึงมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าลูกของคนอื่น” หรือในบางครั้งลูกน้อยนั้นมีท่าทางซึม ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ผู้ปกครองหลายท่านอาจเป็นกังวล และคาดเดา
ถึงสาเหตุไว้ต่าง ๆ มากมาย แต่ข้อกังวลเหล่านี้จะหมดไปหากผู้ปกครองพาลูกน้อยไปรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย

ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่เด็กนั้นควรจะได้รับการเยียวยาแต่เนิ่น ๆ เมื่อตรวจพบอาการ เช่น ปัญหาเรื่องการได้ยิน ซึ่งเด็กทุกคนจะได้ยินเสียงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา เมื่อคลอดออกมา
การได้ยินจึงเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญต่อการพูดและพัฒนาการทางภาษา อันจะส่งผลต่อ
ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ พฤติกรรม การพัฒนาทางอารมณ์และสังคมของเด็กไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ปัจจุบันในประเทศไทย เด็กแรกเกิดทุก ๆ หนึ่งพันคน จะมีเด็กที่ถูกตรวจพบว่าเป็นเด็กที่มีการได้ยินบกพร่อง ประมาณ 1 ถึง 3 คน แม้การตรวจคัดกรอง “การได้ยิน” นั้น สามารถที่จะตรวจ
ได้ทันทีภายใน 15 นาทีนับจากแรกเกิด และปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ทั่วโลกแล้วว่า
ควรดำเนินการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกคน เพื่อให้ได้รับการรักษาและฟื้นฟู
การได้ยินอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารและการพูดที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ และสังคมของเด็ก รวมทั้งการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
และมีความสุข

นอกจากนี้ยังมีโรคซีดที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของเด็กไทยมาตลอด กรมอนามัยเคยสำรวจภาวะโลหิตจาง โดยการตรวจเลือดเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศจำนวนกว่า 5,000 คน พบว่าเด็กไทยทุก 100 คน จะมีผู้ที่โลหิตจางสูงถึง 30 คน ซึ่งปัญหาโรคซีดเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ขาดธาตุเหล็ก คลอดก่อนกำหนด มีพยาธิ มีภาวะทางพันธุกรรมบางอย่าง ฯลฯ แต่ผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ในรายที่เป็นน้อย ๆ อาจจะแสดงอาการแค่เบื่ออาหาร ซึม เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ
สติปัญญาด้อยลง ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ในรายที่เป็นมากอาจพบเห็นได้จากอาการผิวหนังซีด
และร่างกายจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การป้องกันที่ง่ายกว่าการรักษา การพาลูก
ไปตรวจให้มั่นใจว่ามีค่าฮีโมโกลบินตามเกณฑ์หรือไม่  โดยเพศชายตรวจ 2 ครั้ง และเพศหญิง
ตรวจ 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 (ช่วงอายุ 6 – 9 เดือน)

ครั้งที่ 2 (ช่วงอายุ 3 – 6 ปี)

ครั้งที่ 3 เฉพาะเพศหญิง (ช่วงอายุ 11 – 21 ปี)

ทำการตรวจโดยการเจาะเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ทำให้สามารถตรวจคัดกรองภาวะซีดหรือโลหิตจางและรู้คำตอบได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กที่เป็นโรคซีด สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ มีระบบประสาท ความจำจะดีขึ้นในเวลาไม่นานหลังรับการรักษา

เอกสารอ้างอิง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2565). พาลูกไปตรวจภาวะซีด ตรวจคัดกรองการได้ยิน หนูจะได้โตอย่างแข็งแรงและฉลาด. สืบค้น 26 มกราคม 256, จาก https://www.healthcheckup.in.th/articles/27