การจัดการเรียนรู้ “Project Approach” สำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ  ( Project Approach)  

Project Approach คือ วิธีการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนามาจากการจัดการเรียนรู้แบบ
Regio Emilia ในประเทศอิตาลี ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบนี้ เด็กจะเรียนรู้ลุ่มลึกในเรื่องที่เด็กสนใจ
อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งนั้น รูปแบบในการเรียนรู้ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของเด็กอย่างเป็น
ขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งคำถามจากความสนใจของเด็ก กระบวนการในการค้นหาคำตอบของเด็ก
ในหัวข้อหรือเรื่องที่สนใจ อีกทั้งในกระบวนการเรียนรู้ยังได้สอดแทรกทักษะและกระบวนการ
ทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กได้เรียนรู้ ผ่านการสำรวจ สืบค้น จดบันทึก และคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้มา
ซึ่งข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเรื่องที่เด็กสนใจ ผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลาย
ตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ เพื่อเป็นการสรุปผลออกมาเป็นชิ้นงานอีกด้วย

แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นต้องมีความหลากหลาย
เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมกับวัยอย่างรอบด้าน โดย Project Approach มีกระบวนการ
การจัดการเรียนรู้ 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 – ขั้นเริ่มต้น เด็กเลือกว่าจะศึกษาเรื่องอะไร โดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ จากนั้นอภิปรายร่วมกันเพื่อดูว่าเด็กแต่ละคนมีความรู้เดิมเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจอย่างไร เพื่อค้นหาประสบการณ์ที่เด็กมี สิ่งที่เด็กรู้แล้ว และสิ่งที่เด็กอยากรู้ โดยครูจะคอยช่วยบันทึกความคิดของเด็ก และให้เด็กร่วมกันเสนอข้อสงสัยในเรื่องที่จะเรียนรู้ ในส่วนนี้ครูจะคอยช่วยสนับสนุนให้เด็กฝึก
ตั้งคำถามจากเรื่องที่สนใจ และบันทึกคำถามเหล่านั้นไว้ พร้อมกับคำตอบที่เด็ก ๆ ตอบ เพื่อใช้
เปรียบเทียบข้อมูลในภายหลัง ซึ่งขั้นตอนนี้เทียบได้กับการตั้งสมมติฐาน

ภาพ : โครงการแตงโม จาก โรงเรียนประภัสสรวิทยา แผนกอนุบาล

ระยะที่ 2 – ขั้นพัฒนา (การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้) ในขั้นนี้จะเป็นการจัดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้ออกไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กสนใจ ครูช่วยเด็ก
ในการวางแผนการสืบค้นเพื่อเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งจากในห้องเรียน โรงเรียน หรือ ชุมชน เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีส่วนร่วมในการสืบค้น โดยให้เด็กได้ใช้ของจริง เช่น ภาพ หนังสือ สื่อ
สิ่งพิมพ์ และคอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล โดยมีครูเป็น   ผู้ช่วยเหลือ ให้เด็กสามารถประชุมร่วมกัน และนำเสนอรายงานสิ่งที่เด็กได้ค้นพบในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะ ครูส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กถามคำถาม และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กแต่ละคนได้ค้นพบคำตอบหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง
ผ่านการวาดภาพ ถ่ายภาพ เขียนคำ สร้างกราฟ หรือแผนภูมิ ในขั้นนี้ครูจะคอยสนับสนุนให้เด็กสามารถทำงานตามความสามารถของตัวเองได้ เช่น บางคนมีทักษะพื้นฐานด้านงานประดิษฐ์
การวาดภาพ การนำเสนอ และการเล่นละคร ครูจะช่วยให้เด็กได้ทำงานตามความถนัดของแต่ละคนผ่านการอภิปรายในห้องเรียน ซึ่งหัวข้อของ Mind Map ที่ออกแบบไว้ก่อนหน้า จะบันทึกข้อมูลสั้น ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ

ภาพ : โครงการแตงโม จาก โรงเรียนประภัสสรวิทยา แผนกอนุบาล

ระยะที่ 3 : การสรุปโครงการ ในขั้นนี้เด็กและครูจะได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ โดยให้เด็ก
แบ่งปันและอภิปรายสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่ได้สืบและค้นพบที่ช่วยให้เด็ก ๆ ตอบคำถาม
ที่ตั้งไว้ได้ และเด็กจะได้เปรียบเทียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปกับความรู้เดิมที่มีอยู่ว่าตรงกันหรือไม่ รวมถึงเปรียบเทียบกับการคาดคะเนของเด็ก ๆ ที่ทำไว้ตั้งแต่ระยะแรกด้วย โดยจุดเด่นของขั้นนี้คือ การที่ให้เด็ก ๆ ช่วยกันวางแผนจัดแสดงนิทรรศการให้ผู้ปกครองและเพื่อน ๆ หรือบุคคลอื่น ๆ ได้เห็นวิธีการเรียนรู้ กิจกรรม ผลงาน และสิ่งที่เด็กค้นพบเรียนรู้ เด็กได้ลงมือจัดแสดงเพื่อแบ่งปันความรู้
และเรื่องราวเกี่ยวกับ “Project Approach” ของเด็กๆ พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กทำ
และค้นพบ ทั้งนี้ครูควรบันทึกความคิดและความสนใจของเด็กในระหว่างการทำโครงการ เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงทางความสนใจ ความรู้ และความคิดของเด็กว่าก่อนเริ่มโครงการ
และหลังจากสรุปโครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการหาหัวข้อ
ของโครงการในครั้งต่อไป

ภาพ : โครงการกล้วย จาก โรงเรียนประภัสสรวิทยา แผนกอนุบาล

จากข้างต้นการสอนแบบ Project Approach หรือการสอนแบบโครงการ ถือเป็นกิจกรรม
ที่มุ่งเน้นกระบวนการในการลงมือปฏิบัติ และเกิดจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากความสนใจ
ของตัวเด็กเองอย่างลึกซึ้งในรายละเอียดของหัวเรื่องที่เด็กเลือก อย่างมีความสุข สนุกสนาน และยังส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักการทำงานอย่างมีแบบแผน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง เนื่องจากการสอนแบบ
Project Approach ผู้ปกครองและชุมชนจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างมาก

ตัวอย่างโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach

การจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach เป็นอีกหนึ่งในแนวการสอนทางเลือกที่ได้รับ
ความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในโลกยุคปัจจุบัน และในประเทศไทยได้มีหลายโรงเรียนที่นำแนวการสอนแบบ  Project Approach มาใช้ในการจัดเป็นการเรียนรู้ เช่น โรงเรียนเกษมพิทยา โรงเรียนประภัสสรวิทยา แผนกอนุบาลโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ โรงเรียนอนุบาลสามเสน โรงเรียน ณ​ ดรุณ และ Kidz Village International Kindergarten เป็นต้น หากผู้ปกครอง
หรือท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาและอ่านรายละเอียดการจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนได้ที่

โรงเรียนเกษมพิทยา https://www.kasempit.ac.th/kids_kps.php

โรงเรียนประภัสสรวิทยา แผนกอนุบาล https://www.pbs.ac.th/th/main/course/22

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ https://kukai.ac.th/

โรงเรียนอนุบาลสามเสน https://shorturl.asia/nqegM

โรงเรียน ณ​ ดรุณ https://www.nadaroon.ac.th/

Kidz Village International Kindergarten https://www.kidz-village.ac.th/learning-goal-and-teaching-approach/

สแกนเพื่ออ่านเอกสาร :แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย
ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทไทย : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach).

สแกนเพื่ออ่านเอกสาร

เอกสารอ้างอิง

นรรัชต์  ฝันเชียร. (2562). การจัดการเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach). สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.srisuvit.ac.th/blog/project-approach

วิวรรณ สารกิจปรีชา. (มมป.).Project Approach. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก

https://preschool.or.th/knowledge/project-approach

สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยตามบริบทไทย : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการ (Project Approach). สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/1967-file.pdf

อนุบาลกุ๊กไก่. (มมป.). การเรียนรู้ Project Approach. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก

https://kukai.ac.th/project-approach.php

Krumam. (2562). การจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach สำหรับเด็กปฐมวัย. สืบค้น 10 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.youngciety.com/article/journal/project-approach.html

OBEC News สภาการศึกษา. (2565). แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย Ep.4  Project Approach. สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/XKx0j