PM 2.5 ภัยร้าย ต่อเด็กและแม่ตั้งครรภ์

PM 2.5 มาจากคำว่า Particulate Matter 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน
2.5 ไมครอน โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง และกำหนดคุณภาพของอากาศความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม

ปัจจุบันค่าฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้ตรวจพบปริมาณเกินระดับอันตราย
ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เนื่องจากขนาด
ที่เล็กมากจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และสามารถทะลุผนังถุงลมของปอดเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเด็กเล็ก และแม่ตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

ภัยร้ายจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อเด็กเล็ก

เด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน
ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งผิวหนังของเด็กนั้นมีความบอบบางเมื่อสัมผัสกับฝุ่นเป็นเวลานาน
อาจส่งผลเสียในระยะยาว และด้วยพฤติกรรมของเด็กมักใช้เวลาในการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น
การเล่น หรือการออกกำลังกาย ทำให้เด็กสัมผัสกับฝุ่นและหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย
ในปริมาณมาก ประกอบกับเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่
จึงสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปจำนวนมากกว่า จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

อาการที่พบในเด็กเล็กเมื่อมีการสัมผัสกับฝุ่นเป็นเวลานาน เด็กที่หายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไป
จะมีอาการแสบจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก ไอ มีเสมหะ และเจ็บคอ ส่วนผลระยะยาวอาจส่งผลกับปอด ซึ่งอาจเป็นโรคปอดอักเสบ หอบหืด และโรคมะเร็งระบบทางเดินหายใจ เด็กที่สัมผัสกับฝุ่น จะมีอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง มีผื่นคันหรือลมพิษ ถ้าในระยะยาวจะส่งผลให้มีความผิดปกติในด้านสติปัญญาและพัฒนาการ ทำให้มีพัฒนาการช้าลง มีปัญหาด้านการพูดและฟัง มีภาวะสมาธิสั้น และมีภาวะออทิซึม

ในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 ผู้ปกครองจึงควรดูแลเด็กโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน
หรือกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในเขตที่มีค่าฝุ่นสูง ทุกครั้งที่ออกจากบ้านควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 หลังจากกลับเข้าบ้านควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
เป็นประจำ จะช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น  หากพบว่าลูกมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือมีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย ให้รีบนำไปพบแพทย์ทันที

ภัยร้ายจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อแม่ตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ต้องระวัง
เป็นอย่างมากเนื่องจากทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโต และอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ
เช่น ปอด และสมอง การได้รับมลพิษ  อาจส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อีกทั้ง
ในช่วงนี้จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์มีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น มีโอกาสหายใจเอาฝุ่นพิษเข้าไปได้มากกว่าคนทั่วไป ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรก ทะลุผนังถุงลมของปอดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ฝุ่นเหล่านี้แพร่กระจายไปตามอวัยวะ
ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มีภาวะเสี่ยง   คลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ อีกทั้งทารกหลังคลอดต้องเจอกับภาวะผิดปกติ
ต่าง ๆ อัตราการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหอบหืด และมีโอกาสที่เป็นออทิสติก

คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศจากสื่อต่าง ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน เช่น การทำอาหารโดยไม่มี
เครื่องดูดควัน การจุดธูปภายในบ้าน และการสูบบุหรี่ ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในบ้าน
ปิดหน้าต่าง และประตูให้สนิท ทำความสะอาดบ้านโดยใช้ ผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นควรใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ หน้ากากอนามัย N95 หรือหน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ทุกครั้ง และหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือความผิดปกติในขณะตั้งครรภ์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ท้องปั้นแข็งถี่ ๆ
น้ำเดิน หรือลูกดิ้นลดลง ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

ฝุ่น PM2.5 ส่งผลร้ายมากกว่าที่คิด แม้ในปัจจุบันจะมีการออกมาตรการการป้องกัน แต่ก็ยังคง
พบปัญหาอยู่เพราะยังมีการสร้างมลพิษทางอากาศอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแก้ไขได้ยาก และเหมือนว่า
จะไม่มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ ป้องกันตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมา
ในข้างต้น เพื่อให้ร่างกายของเรารับมลพิษจากฝุ่นให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวต่อร่างกายของเรา

เอกสารอ้างอิง

เจ้าของร้าน Shopper’s Café. (2563). ฝุ่น PM 2.5 อันตรายที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรมองข้าม. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/sM7xL

พญ. พัชนี แสงถวัลย์. (2565). ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง กระทบสุขภาพสะสมระยะยาว. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/rBcVI

รุ่งรัศมี  ศรีวงศ์พันธ์. (2563). การตอบโต้ความเสี่ยงเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (RRHL). สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/5yLhZ

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์. (2564). PM2.5 ตัวร้ายจ้องทำลายลูกน้อย. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/gG3VN

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี. (2562). ฝุ่น PM2.5 ตัวการทำเด็กป่วย. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/IUwvj

Jurairat N. (2563). อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อหญิงตั้งครรภ์. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/5yLhZ