ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง (ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก)

สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพเท่านั้นยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อทุกคนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบุคคลและครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากจนหรือเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยจากไวรัส เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ คนไร้บ้าน ฯลฯ จะได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงกว่ากลุ่มคนทั่วไปในสังคม นอกจากนี้กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่สามารถที่จะรับมือและจัดการกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ด้วยลำพังตนเอง

ในสภาวะเช่นนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้โดยเร่งด่วน เพียงพอ และครอบคลุมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีเด็กเล็กในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยสาเหตุหลัก เกิดจากรายได้ของครอบครัวลดลง เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพปกติได้ เพราะสถานประกอบการปิดหรือหยุดดำเนินการ บางครอบครัวที่เด็กยังเล็กมาก และไม่สามารถหาผู้ดูแลที่สามารถไว้ใจได้ คนในครอบครัวจำเป็นต้องออกจากงาน เพื่อมาดูแลเด็กเล็กเอง ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ไปอีกหนึ่งช่องทาง ที่สำคัญพบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่สูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีเด็กเล็ก

แม้ว่าเราจะมีโครงการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินอุดหนุนแก่เด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่อยู่ในครอบครัว ที่มีรายได้เฉลี่ยของสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี รายละ 600 บาทต่อเดือน แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่ายังมีเด็กตกหล่นไม่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งปัญหาการตกหล่นนี้เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ความสับสนในขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ความซับซ้อนของกระบวนการรับรองสถานะความยากจน ครอบครัวยากจนบางครอบครัวไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่มีเงินในการเปิดบัญชี บางครอบครัวอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเดินทางไม่สะดวก เป็นต้น

นอกจากนี้ครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ไม่จัดว่ามีฐานะยากจนเนื่องจากมีเกณฑ์รายได้สูงกว่าที่โครงการฯ กำหนดไว้ แต่ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างรายได้ลดลง และกลายเป็นครอบครัวยากจน คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวจะมีเงินเพียงพอในการจัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กได้ ดังนั้น ความครอบคลุมในด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอในการรองรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการที่เกือบทุกครอบครัวมีรายได้ลดลงจากที่กล่าวมาแล้ว แสดงว่ามี ‘คนจนกลุ่มใหม่’ เกิดขึ้น กล่าวคือเป็นครอบครัวที่เดิมมีรายได้เกินกว่าเกณฑ์เส้นความยากจนหรือเกณฑ์รายได้ 100,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ผลจากโควิดทำให้รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ครอบครัวกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนมาก่อน (เพราะรายได้เกินเกณฑ์) จึงอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของการตกหล่นที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงปัญหาการตกหล่นของผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือมีความรุนแรงขึ้นกว่าในภาวะปกติ

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ : https://shorturl.asia/9QIqd

เอกสารอ้างอิง