วันที่ 28 มีนาคม 2566 รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง) เป็นประธาน
เปิดการประชุม “บทบาทใหม่ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในการแก้ปัญหา Learning Loss และฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัยหลังสถานการณ์ COVID-19” โดยมีประธานคณะอนุกรรมการด้านสื่อสาร
เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสุภาวดี หาญเมธี) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนา
เด็กปฐมวัย (นางพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง) ผู้ทรงคุณวุฒิ ครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากสถานพัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และถ่ายทอดสดทาง Facebook / Youtube Live
ภายใต้ชื่อ “พัฒนาทักษะสมอง EF”
การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายหลักในการนำเสนอสถานการณ์การดูแลเด็กปฐมวัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถึงปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย Learning Loss เป็นการสูญเสียช่วงเวลาทอง ช่วงเวลาสำคัญ (Critical Period) ที่สมองเด็กปฐมวัยควรต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการช้า ทั้งด้านร่างกาย พฤติกรรม ฯลฯ การฟื้นฟูภาวะ Learning Loss จึงไม่ได้เป็นเพียงการช่วยเด็กให้กลับมาทำกิจวัตรตามปกติ แต่หมายถึงการที่คุณครู ผู้ปกครองและผู้บริหาร เข้าใจถึงความสูญเสียและร่วมกันให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพราะเด็กปฐมวัย
เปรียบเหมือนต้นอ่อนที่ไวต่อปัจจัยภายนอก หากโดนแสงแดดแรงย่อมเฉา จึงต้องช่วยกันฟื้นฟู
ให้กลับมาเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง หากช้าไปต้นไม้เหล่านี้ก็ยากที่จะงอกงาม
จากนั้น ที่ประชุมร่วมกันเสนอนวัตกรรมการฟื้นฟูและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัว ผ่านกิจกรรมที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อฝึกปรับตัวในการพึ่งตนเอง การทำ Project ตามความสนใจของเด็ก การอ่านหนังสือที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นชุดหรือมีตอนต่อไป
ให้ติดตาม และการเล่นกับวัสดุหรือชิ้นส่วนที่มีอยู่แล้วในครัวเรือน (Loose Part Play) โดยทาง
คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สกศ. ได้มุ่งผลักดันให้นโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม กลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ
และเอกชน เวทีนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่แชร์ไอเดียร่วมกันเพื่อทำให้นโยบายฯกลายเป็นรูปธรรม ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง