โรคสมาธิสั้นในเด็กปฐมวัย

โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) เกิดจากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยทางชีวภาพ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สำหรับปัจจัยทางชีวภาพ พบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ถึงร้อยละ 75 โดยเกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่มี
ความผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การวางแผน และการควบคุมตนเอง
ยังรวมถึงพฤติกรรมระหว่างตั้งครรภ์ การที่แม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้น สำหรับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เกิดจากการเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบวินัย ตามใจมากเกินไป ไม่มีกฎระเบียบภายในบ้าน และการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงการดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการควบคุมจากผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เป็นโรคสมาธิสั้น อีกทั้งยังมีพัฒนาการล่าช้าโดยเฉพาะด้านการพูด และการสื่อสารอีกด้วย

โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยตั้งแต่ช่วงอายุ 3-7 ปี  หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เด็กปฐมวัยที่มีภาวะสมาธิสั้นจะมีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่น เติบโตจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของเด็กและดูแลให้ถูกวิธี

อาการของโรคสมาธิสั้น

เด็กที่มีความผิดปกติสามารถสังเกตอาการพบดังนี้ คือ  

พฤติกรรมซุกซนอยู่ไม่นิ่ง เด็กจเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องหาอะไรทำตลอด หยุกหยิก
อยู่ไม่สุข ขยับมือและเท้าตลอด นั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้  พูดมาก พูดเก่ง หรือทำเสียงดัง ๆ และชอบเล่น
กับเพื่อนแรง ๆ

พฤติกรรมขาดสมาธิ เด็กจะเบื่อง่าย วอกแวก  ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา
ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน

พฤติกรรมขาดการยับยั้งชั่งใจตนเอง เด็กจะใจร้อน หุนหัน วู่วาม ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ชอบเข้าคิว รอคอยไม่เป็น ชอบขัดจังหวะ และพูดแทรกผู้อื่นระหว่างการสนทนา

เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีทั้ง 3 อย่างร่วมกันก็ได้ ซึ่งพฤติกรรม
ดังกล่าวจะทำให้เด็กมีการแสดงออกที่ไม่สอดคล้องกับระดับพัฒนาการ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม การเรียน และการทำงานที่ไม่เต็มศักยภาพ

การรับมือกับโรคสมาธิสั้น

เมื่อสังเกตอาการเด็กแล้วพบว่า มีอาการเข้าข่ายสมาธิสั้น ผู้ปกครองควรพาเด็กเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เด็ก เพื่อการวินิจฉัย และทำการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งแนวทางการดูแลรักษาโรคสมาธิสั้นต้องอาศัยการรักษาทั้งการปรับพฤติกรรม และการใช้ยาสำหรับบางราย

การปรับพฤติกรรม  ผู้ปกครองต้องช่วยกันในการแก้ไขพฤติกรรม โดยเริ่มจากการสื่อสาร
ที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา เวลาที่ต้องการพูด หรือออกคำสั่ง ควรให้เด็กหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่
มองหน้าสบตาพ่อแม่ และให้ทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือสั่ง เพื่อเช็คว่าเด็กรับฟังได้ครบ และเข้าใจถูกต้อง จัดทำตารางเวลาที่ชัดเจน ให้กับเด็กรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไรบ้าง เป็นการฝึกให้เห็นความสำคัญ
ของเวลา และรู้จักวางแผนแบ่งเวลา โดยผู้ปกครองจะต้องคอยกำกับดูแลในช่วงแรกจนเด็กคุ้นเคย และปฏิบัติจนเป็นนิสัย การปรับบรรยากาศภายในบ้าน จัดมุมสำหรับการทำการบ้านซึ่งจะต้องเงียบสงบ ไม่มีเสียงโทรทัศน์ ไม่มีอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน พ่อแม่ควรนั่งประกบเด็กเวลาทำ
การบ้านเพื่อคอยกระตุ้นไม่ให้เด็กเหม่อหรือวอกแวก จำกัดเวลาในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
รวมถึงโทรทัศน์ กำหนดเวลาให้ชัดเจน และพ่อแม่ควรอยู่กับเด็ก  ในขณะที่เด็กเล่นเพื่อดู
ความเหมาะสมของสิ่งที่เด็กเล่น หรือดู สำหรับในเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง ควรหากิจกรรมที่สร้างสรรค์  
และเหมาะสมให้เด็กได้ทำในแต่ละวัน เช่น เล่นกีฬา เมื่อเด็กสามารถปฏิบัติตามที่กำหนดได้ควรชื่นชมด้วยคำพูด หรืออาจ มีการใช้ตารางสะสมดาวเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี หากมีการลงโทษ
ควรใช้การจำกัดสิทธิ เช่น ลดค่าขนม ลดเวลาในการเล่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น

การใช้ยาในการรักษา เด็กบางรายอาจจะต้องมีการใช้ยาในการรักษาควบคู่กับการปรับพฤติกรรม ซึ่งแพทย์จะเลือกชนิดยาที่เหมาะกับอาการ และวัยของเด็ก ยาที่สามารถใช้ในการรักษาสมาธิสั้นมีหลายกลุ่ม เช่น ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ยาในกลุ่มไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ยากลุ่ม Alpha 2 agonist และ ยาต้านเศร้า ซึ่งยาทุกชนิดควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เป็นผู้พิจารณาในการสั่ง และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง 

การสังเกตสมาธิสั้นแท้ และสมาธิสั้นเทียม

สำหรับสมาธิสั้นแท้ หรือโรคสมาธิสั้น เกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ ที่ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติ ส่งผลต่อพฤติกรรม อาการของเด็กสมาธิสั้นมักจะทำอะไรไม่ได้นาน ไม่สามารถ
อยู่นิ่งได้ ขาดสมาธิ เบื่อง่าย ไม่สามารถยับยั้ง ชั่งใจได้ ใจร้อน บางรายพฤติกรรมอาจรุนแรงจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงต้องเข้ารับการรักษาโดยการใช้ยาและประเมินโดยแพทย์

ส่วนสมาธิสั้นเทียม เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งในยุคปัจจุบันทุกอย่างพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หลายครอบครัวใช้ชีวิตด้วยความรีบเร่ง และเด็กต้องแข่งกับเวลาตลอด โดยที่พัฒนาการ
ของเด็กยังไม่พร้อม ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดบ่อย ๆ เกิดเป็นปัญหาทางพฤติกรรม เด็กจะหงุดหงิดง่าย เบื่อ กลัวความผิดพลาดจนเกิดความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้การเลี้ยงดูของผู้ปกครองในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตเด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ตั้งแต่ปฐมวัย อีกทั้ง
ผู้ปกครองบางครอบครัวต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ปล่อยปละละเลยให้ลูกเข้าถึงเทคโนโลยีมากเกินพอดี ส่งผลให้สมองถูกกระตุ้นให้เคยชินต่อสิ่งเร้า ด้วยแสงสีบนหน้าจอที่ดู
น่าตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา การเข้าถึงข้อมูลและสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถรอคอย หรือมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ เด็กจำนวนมากจึงมีอาการของโรคสมาธิสั้นเทียมจำนวนมาก

สมาธิสั้นเทียมนั้นแตกต่างกับสมาธิสั้นแท้ เพราะสมาธิสั้นเทียมเกิดจากปัจจัยภายนอก
สามารถแก้ไขได้ โดยปรับสภาพแวดล้อม และวิธีการเลี้ยงดูลูกให้มีความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละ
ช่วงวัย เริ่มจากผู้ปกครองให้เวลากับลูกมากขึ้น ลดเวลาในการเล่นหน้าจอลง สังเกตพฤติกรรมลูก
ว่ามีความสนใจในเรื่องใด และสนับสนุนไปในทิศทางที่เหมาะสม พร้อมกับการหากิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ ให้ลูกได้ลองทำเพื่อให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตนชอบ จัดตารางเวลาให้ลูกอย่างเหมาะสม
นำกิจวัตรประจำวันของลูกมาทำเป็นขั้นตอน ให้เขารู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เด็กจะรู้จักคิด
เป็นขั้นตอน และรับผิดชอบต่อตนเองได้ และสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีควรงดหน้าจอทุกชนิด

การช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้น สำคัญที่สุด คือ ผู้ปกครอง ซึ่งหมายรวมถึง พ่อ และแม่ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการช่วยเหลือเด็ก พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจในสาเหตุของอาการ อดทน ให้เวลา ให้ความรักความอบอุ่น ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มองเห็นคุณค่าในสิ่งเล็ก ๆ ที่เด็กทำ จะช่วยทำให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่าง
เหมาะสม และส่งผลให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้น พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ชลภัฎ จาตุรงคกุล. (2565). สมาธิสั้นใกล้ตัวเด็กกว่าที่คิด. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/6qDYo

เบญจพร อนุสนธิ์พรเพิ่ม. (2563). 8 วิธีรับมือเด็กสมาธิสั้น. สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/B490b

เปรมวดี เด่นศิริอักษร และคณะ. (2559). โรคสมาธิสั้น (ADHD , Attention Deficit HyperactivityDisorder). สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/7S2aX

โรงพยาบาลมนารมย์. (2565). โรคสมาธิสั้น. สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/xNhDi

สถาบันราชานุกูล.  (2557).  เด็กสมาธิสั้นคู่มือสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง. (พิมพ์ครั้งที่ 3) กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์เกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด

BrainFit Studio. (2561). สมาธิสั้นแท้ VS สมาธิสั้นเทียม. สืบค้น 17 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/04V6o