“เด็กเลือกกินเป็นปัญหาการกินที่พบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะหลังอายุ 1-2 ปี
แต่ไม่ว่าปัญหาการกินจะเป็นอย่างไร พบว่าจะดีขึ้นได้เมื่อมีการปรับสิ่งแวดล้อม
มื้ออาหาร บรรยากาศบนโต๊ะอาหาร และการได้เห็นหรือสัมผัสอาหารชนิดนั้นบ่อย ๆ
จนเริ่มคุ้นเคยและกล้าที่จะลองชิม”
–ผศ. นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ–
(กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก)
เด็กเล็กวัยเตาะแตะ (1 – 3 ปี) เริ่มมีพัฒนาการในการหยิบจับ กินอาหารด้วยตนเองได้ดีขึ้น
แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองที่มีลูกน้อยอยู่ในช่วงวัยนี้ คือ เด็กเลือกกิน (Picky Eaters)
ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงวัยเตาะแตะ จนกลายเป็นปัญหาการกินยาก อีกทั้งในวัยนี้ลูกน้อยกำลังเริ่ม
หัดเดิน อยากสำรวจ สนใจสิ่งรอบข้างมากขึ้น การให้นั่งนิ่ง ๆ ที่โต๊ะอาหารอาจเป็นไปได้ยาก
เด็กบางคนปีนออกจากเก้าอี้ บางคนต้องให้เดินคอยตามป้อนอาหาร หรือบางครอบครัวต้องแยก
มื้ออาหารให้ลูก ๆ กินก่อน
การฝึกวินัยในการกินเป็นเวลาให้เป็นกิจวัตร และการพาเด็ก ๆ เปลี่ยนบรรยากาศออกไป
รับประทานอาหารนอกบ้าน อาจช่วยให้ลูกน้อยเจริญอาหารได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย
คุณพ่อคุณแม่ในการฝึกเด็กนั่งร่วมโต๊ะอาหาร การฝึกให้สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้
พ่อแม่อาจจะเหนื่อยมากขึ้น แต่มีผลดีคือจะช่วยเสริมพัฒนาการ กระตุ้นการเรียนรู้ให้ลูกน้อย
อีกทั้งได้เก็บภาพความประทับใจ และสร้างความสุขให้กับทุกคนในครอบครัวได้อย่างแน่นอน
สิ่งที่พ่อแม่ควรเตรียมเมื่อต้องพาลูกออกนอกบ้าน หรือเดินทางไปในทุก ๆ ที่ คือ
1) คาร์ซีท อุปกรณ์สำคัญที่สุดในการเดินทางโดยรถยนต์ ควรฝึกให้ลูกนั่งในคาร์ซีทตลอดเวลา
ในการเดินทาง
2) รถเข็น หากไปสถานที่ที่ต้องเดินไกล ๆ
3) อุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหาร เก้าอี้พับ ผ้ากันเปื้อน
4) ผ้าเปียกผสมแอลกอฮอล์ Food grade(ปลอดภัยต่อสุขภาพ) หรือสเปรย์แอลกอฮอล์
Food grade (ปลอดภัยต่อสุขภาพ) 5)หน้ากากอนามัย
6) ผ้าอ้อมสำเร็จรูป และชุดสำรอง
7) สเปรย์หรือโลชั่นกันยุงสำหรับเด็ก หากต้องนั่งรับประทานอาหารในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะ
มื้อเย็น
การเลือกร้านอาหารที่พ่อแม่สามารถพาเด็กเล็กนั่งร่วมโต๊ะได้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีหลักดังนี้
ร้านอาหารสำหรับครอบครัว ควรมีพื้นที่กว้าง ไม่แออัดพลุกพล่านหรือเสียงดังจนเกินไป ร้านอาหารบางแห่งจัดมุมของเล่น สนามเด็กเล่นหรือพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก พ่อแม่ควรสำรวจถึง
ความปลอดภัยของพื้นที่ก่อนปล่อยให้เด็กลงเล่นในพื้นที่ที่จัดไว้อีกทั้งร้านอาหารควรมีเมนูสำหรับ
เด็กเล็ก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และไม่ปรุงรสจัดจนเกินไป
ผู้ปกครองอาจเลือกพาเด็ก ๆ ทำกิจกรรมก่อน-หลังมื้ออาหารตามความเหมาะสม ควรเลือกเป็นช่วงเวลาเดิม ๆ หรือเป็นช่วงที่เด็กเริ่มหิวและไม่เหนื่อยมากเกินไป กิจกรรมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ
อย่างหนึ่งก็คือการให้อาหารสัตว์ ปัจจุบันมีร้านอาหารจำนวนมากที่จัดพื้นที่เลี้ยงสัตว์และให้เด็ก
ได้เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว ได้ใกล้ชิดกับสัตว์หลากหลายชนิด บางร้านจัดเป็นกิจกรรมวิ่งเล่น
สนามหญ้า ปีนป่ายเครื่องเล่น เดินชมต้นไม้ดอกไม้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การเข้าสังคม การรอคอย
และแบ่งปัน เป็นต้น
จึงกล่าวได้ว่า การพาลูก “กินไปเที่ยวไป” ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้าน สร้างบรรยากาศในการรับประทานอาหารร่วมกัน ฝึกเด็กให้ทำกิจกรรมในที่สาธารณะ และได้สานสัมพันธ์ในครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน