สิ่งที่พ่อแม่กังวลเมื่อต้องเลี้ยงลูกที่อยู่ในวัยเด็กทารก (แรกเกิด – 1 ปี) และวัยเตาะแตะ (1-3 ปี) คือ ตอนที่ลูกไม่สบาย ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะลูกเล็กยังสื่อสารอาการเจ็บป่วยได้ไม่มากนัก อีกทั้งอาการของลูกมักแตกต่างจากผู้ใหญ่ ร่างกายของลูกยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน
ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และมักมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ หากเจ็บป่วย และได้รับการดูแลรักษา
ที่ไม่ดี จะสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้ในอนาคต
ในปัจจุบันเกิดโรคติดต่อที่เป็นอันตรายหลายชนิด ประกอบกับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ
ที่ไม่ดี เชื้อโรคจึงสามารถแพร่กระจาย และกลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเด็กเล็ก พ่อแม่จึงต้องดูแลใส่ใจลูกมากเป็นพิเศษ พ่อแม่ควรรู้จักอาการต่าง ๆ ของโรคเพื่อดูแล และป้องกันลูกจากโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
โรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า
อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม ทางน้ำลาย น้ำมูก รวมทั้งจากมือของเด็กที่มีเชื้อโรคแล้วนำมือเข้าปาก หรือป้ายจมูก
อาการป่วย : จะเริ่มปรากฏหลังได้รับเชื้อ 1 – 4 วัน โดยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย โดยอาจพบอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการของระบบอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น
โรคปอดบวมได้
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเด็กที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงสถานที่ปิด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ล้างมือบ่อย ๆ แต่หากมีอาการป่วยควรพบแพทย์โดยเร็ว
เพื่อรับยาต้านไวรัสเพื่อลดการแพร่เชื้อ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปแม้จะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่ก็ลดโอกาส หรือบรรเทาความรุนแรง
ของโรคได้
โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า RSV ซึ่งโรคนี้มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งพบมากในเด็กเล็ก สามารถติดต่อผ่านทางน้ำลาย น้ำมูก หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส โรคนี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอด และทางเดินหายใจ
อาการป่วย : จะเริ่มปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 4 – 6 วัน ในเด็กเล็กจะมีอาการที่รุนแรง เพราะเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง และทำให้เกิดโรคปอดบวม โดยมีไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจเร็ว และติดขัด มีเสียงหวีด หอบ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก และผิวหนังของทารกจะบุ๋ม กินข้าว กินนมไม่ได้ มีอาการตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการ
หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ หรือหายใจล้มเหลว และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงให้คนแปลกหน้า หรือคนที่มีอาการป่วยสัมผัส
หรือหอมลูก ล้างมือให้สะอาดเมื่อสัมผัสลูก ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาด ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท แต่หากมีอาการควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งจะมีการเก็บเสมหะจากจมูกไปทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ พ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงคือ Coxsackie A และ Enterovirus 71 โรคนี้มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งพบมากในเด็กเล็ก สามารถติดต่อโดยการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วยโดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจจะติดมากับมือ ของเล่น การไอ จาม การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน
อาการป่วย : มีไข้สูง มีน้ำมูก เจ็บคอ อาเจียน ถ่ายเหลว มีตุ่มแผลในปาก ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และในคอมีผื่นแดง หรือตุ่มใสที่มือ เท้า ตามตัว หรือรอบทวารหนัก บางครั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเด็กที่มีอาการป่วย ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และอย่าให้ลูกเอามือเข้าปากเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
การรักษาจะรักษาตามอาการเช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ ใช้ยาชาบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก ฯลฯ จนกว่าอาการดีขึ้นเพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคมือเท้าปาก
โรคท้องเสีย เป็นโรคที่เกิดจากการนำเชื้อเข้าทางปากโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย โดยเกิดจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) หรือ โรต้าไวรัส (Rotavirus) ซึ่งโรคนี้มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว
อาการป่วย : มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียนรุนแรง ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ ซึ่งมีระยะฟักตัว 12 – 48 ชั่วโมง หากเด็กเล็กป่วยอาจมีอาการรุนแรงทำให้เกิดอาการขาดน้ำ จึงควรรีบนำไป
พบแพทย์ เพื่อให้สารละลายเกลือแร่หรือน้ำเกลือ
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเด็กที่มีอาการป่วย ล้างมือบ่อย ๆ ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างขวดนมให้สะอาด กำจัดขยะมูลฝอย และถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ การรักษาจะรักษาตามอาการ หากมีอาการรุนแรงถ่ายเหลวมาก ๆ จะเกิดการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ การรักษาจะให้สารน้ำทดแทนให้เพียงพอกับปริมาณที่ถ่ายเหลว
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสrota (Rotavirus) เพียงชนิดเดียว ซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะฉีดกระตุ้น 3 เข็ม คือ ช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการป่วย : มีไข้สูง โดยจะมีไข้อยู่ประมาณ 4 – 5 วัน จากนั้นไข้จะลง และมีผื่นขึ้น ปวดศีรษะ ซึม อาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในเด็กเล็ก หรือ ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกจากเกร็ดเลือดต่ำ หรือสูญเสียน้ำออกไปนอกหลอดเลือดทำให้เกิดอาการช็อกได้
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง ฉีดยากำจัดยุง และลดปริมาณยุงโดยกำจัดแหล่งน้ำที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง การรักษาจะรักษาตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัว และรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ถ้าลูกรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ได้แล้ว ซึ่งแนะนำให้ฉีดในคนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วเท่านั้น และสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป
โรคโควิด – 19 ( Covid-19) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์
2019 (SARS-CoV-2) สามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ การได้รับเชื้อจากละอองฝอยหรือ
สารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคโควิด-19 เช่น การไอหรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลายหรือ
เสมหะ การสัมผัสเชื้อที่อยู่บนพื้นผิวของสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงการได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ภายใน
อากาศด้วย
อาการป่วย : สำหรับอาการที่พบบ่อยในเด็กเล็ก คือ มีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีเสมหะ หรือ เจ็บคอ และยังมีอาการอื่น ๆ คือ หายใจติดขัด หรือ หายใจเร็ว จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมด้วย ผื่นขึ้นตามตัว เบื่ออาหาร และในเด็กทารกอาจจะกินนมได้น้อยลง
วิธีการดูแลรักษา : พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือเด็กที่มีอาการป่วย หลีกเลี่ยงการพาลูกไปที่แออัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่น หรืออุปกรณ์ร่วมกัน เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1 – 2 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
ล้างมือบ่อย ๆ ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้งทั้งก่อน และหลังทำกิจกรรม
เมื่อตรวจพบเชื้อแพทย์ผู้รักษาจะประเมินอาการ และพิจารณาให้ยา Favipiravia ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ โดยรักษาตามอาการของเด็กในแต่ละคน หากมีอาการรุนแรง ไม่ว่าจะไข้สูง อาเจียน
ถ่ายเหลว หรือมีอาการชัก จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการ
อย่างใกล้ชิด หากเด็กติดเชื้อ Covid-19 แต่ไม่มีอาการ แนะนำให้ดูแลรักษาตามดุลพินิจของแพทย์
ซึ่งจะให้กักตัวที่บ้าน โดยพ่อแม่จะต้องเฝ้าดูอาการของลูกตลอดเวลา และทำตามคำแนะนำ
ของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที และสำหรับเด็กเล็ก
ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) อุปกรณ์จำเป็น ได้แก่ ปรอทวัดไข้
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้
และยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่
โดยพ่อแม่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด พ่อแม่ควรให้ลูกที่มีช่วงอายุ
ตามเกณฑ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดให้ครบตามกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง
หากมีการติดเชื้อโควิดในเด็ก
เด็กเล็กเป็นวัยที่ร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และยังไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการต่อสู้
กับเชื้อโรคต่าง ๆ พ่อแม่จึงควรให้ลูกรับวัคซีนให้ครบตามช่วงวัยของลูก เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น ควรปลูกฝังเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดการล้างมือ การเข้าห้องน้ำ การใส่หน้ากากอนามัย ฯลฯ ให้ลูก เพื่อให้ลูกรู้จักการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค และที่สำคัญที่สุดพ่อแม่ ต้องมีความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของโรคมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยของลูก และต้องดูแลใส่ใจลูกอยู่เสมอ
เมื่อเวลาที่พบความผิดปกติจะได้รักษาได้ทันเวลา