6 เรื่องที่ต้องคำนึง เมื่อเปลี่ยนการเล่นของเด็กเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้

การวิจัยด้านพัฒนาการทางสมองนานหลายปีได้เผยความรู้มากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องใช้ในการเติบโตอย่างมีสุขภาวะ และมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่สมวัย นั่นคือการเล่น และการนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้งานในโลกจริงก็สำคัญเช่นกัน

งานวิจัยใหม่ชิ้นหนึ่ง นำทีมโดยบัณฑิตมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท เบรนน่า แฮสซิงเจอร์-แดส
ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเพซ นครนิวยอร์ก
และเจนนิเฟอร์ ซอช ศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการมนุษย์และครอบครัวศึกษาที่มหาวิทยาลัย
เพนน์สเตท แบรนดีไวน์ ได้สำรวจถึงแนวคิดหลักของการเรียนรู้ผ่านพื้นที่การเล่นของเด็กโดยใช้
ความรู้วิทยาศาสตร์หนุนหลัง พบว่า การเปลี่ยนพื้นที่ในชีวิตประจำวันของเด็กนอกจากในบ้านแล้ว
พื้นที่เช่นทางเท้า ป้ายรถเมล์  ศาลาที่พักริมทาง สวนสาธารณะ  ตลาดนัด หรือแม้แต่บนโทรศัพท์
ล้วนสามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการเล่น และกระตุ้นการสนทนา
ระหว่างพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูกับเด็กได้แบบเดียวกับพื้นที่ในโรงเรียน

แนวคิดหลักแห่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ทุกด้านให้เด็ก
อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในสวนสาธารณะ ระหว่างเดินจ่ายตลาด หรือใช้แอปพลิเคชัน
ในสมาร์ทโฟน  แนวคิดหลักในการออกแบบพื้นที่การเล่นในชุมชนของเด็ก มีตั้งแต่การเล่น
ที่เป็นเชิงรุก น่าติดตาม มีความหมาย มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีการทบทวน ไม่ใช่แค่ทำซ้ำ และสนุก

ด้านที่ 1 สร้างความกระตือรือร้น การเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ต้องสร้าง
“ความกระฉับกระเฉง”  ตลอดเวลาโดยพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ใช้วิธีผสมผสานเนื้อหาการอ่านและองค์ประกอบแนวทางการศึกษาแบบบูรณาการความรู้ 4 สหวิทยาการ คือ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ (STEM) เข้าไปในการพูดคุย ตัวอย่างการเล่นบนแนวคิดนี้
เช่น การนับลูกแอปเปิลดังๆ ขณะหยิบใส่ตะกร้าเวลาไปตลาด การถามเด็กว่าลูกบาศก์ไม้แต่ละลูก
เริ่มด้วยตัวอักษรอะไรขณะวางเรียงขึ้นไป หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราวางไม้สี่เหลี่ยมสีแดงลงไป
บนไม้สามเหลี่ยมสีเหลือง

ด้านที่ 2  จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กมีสมาธิ  เมื่อถึงเวลาเล่น พยายามจำกัดสิ่งรบกวน สิ่งเร้าออกไปจากตัวเด็กให้มากที่สุด ตั้งแต่ทีวีที่เปิดทิ้งไว้รวมทั้งการใช้โทรศัพท์ของพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กด้วย เพราะนักวิจัยพบว่าสิ่งรบกวนมีแนวโน้มจะดึงเวลาคุณภาพสูงที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะมีกับลูก
ออกไป เมื่อถึงเวลาเล่น ต้องให้เด็กมีสมาธิและจดจ่อระหว่างการเล่น เพื่อทำให้คุณและเด็ก
ได้ประโยชน์จากปฏิสัมพันธ์นี้มากที่สุด

ด้านที่ 3  เชื่อมโยงเรื่องให้ใกล้ตัวเด็ก  เริ่มจากชวนเด็กเล่นในหัวข้อที่เด็กสนใจอยู่แล้ว ถ้าเด็กชอบไดโนเสาร์ พ่อแม่ ผู้ปกครองลองเสนอการเล่นขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สนามเด็กเล่น แล้วก็ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับไดโนเสาร์เข้าไป เช่น ให้เด็กนับว่าไดโนเสาร์มีกระดูกกี่ชิ้น แต่ละประเภทกินอะไร หรือถ้าคุณกำลังอ่านหนังสือที่ใช้ฉากของประเทศอื่น ๆ ลองชวนเด็กใช้ลูกโลกหรือเปิดแอปพลิเคชันแผนที่สำรวจว่าประเทศนั้นอยู่ที่ไหน และอากาศต่างจากที่เด็กอยู่อย่างไร นี่เป็นการเล่นที่เชื่อมเด็ก
ให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น และสนุกด้วย

ด้านที่ 4  อย่าปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว  ให้ปล่อยเด็กเป็นฝ่ายนำในเวลาเล่น ส่วนพ่อแม่
ผู้ปกครองมีหน้าที่ให้การสนับสนุนอยู่ข้าง ๆ เช่น ให้เด็กตัดสินใจว่าจะใช้ลูกบาศก์ไม้สร้างอะไร
โดยผู้ใหญ่ทำหน้าที่ถามคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหนูวางลูกบาศก์ชิ้นนั้นไปอีกทาง” หรือ
“หนูว่าต้องใช้ลูกบาศก์ไม้กี่ชิ้นถึงจะสร้างหอคอยสูงเท่าหนูได้”

ด้านที่ 5  ให้ทำซ้ำ ไม่ต้องกลัวพลาด เด็กๆ มีธรรมชาติเป็นนักคิดแบบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว
พวกเขาชอบทดลองดูว่าเกิดอะไรขึ้น และพยายามทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้ผล นักวิจัยแนะนำว่า
ควรปล่อยให้เด็กมีโอกาสคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นทำ “การทดลอง” คิดคำใหม่ให้เพลงโปรด
ไม่ต้องห่วงเมื่อเด็กทำผิดพลาด เพราะทุกกความผิดพลาดนำไปสู่การเรียนรู้

ด้านที่ 6  เด็กได้สนุกอย่างคาดไม่ถึง พ่อแม่ ผู้ใหญ่สามารถทำให้เวลาเล่นของเด็ก
เกิดความสนุกได้หลายวิธี รวมถึงการใส่เรื่องคาดไม่ถึงเข้าไปด้วย เช่น การเล่นกับเงา
ระหว่างเล่น ให้ถามว่าเงาของใคร อันไหนใหญ่กว่า หรือจะทำให้เงาใหญ่หรือเล็กลง
ได้อย่างไร เป็นวิธีสร้างความสนุกและคาดไม่ถึงได้ หรือลองคิดถึงสิ่งที่จะช่วยให้เด็ก
เชื่อมต่อกับอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาสนุก ตั้งแต่ใช้ลังกระดาษมาก่อสร้างไปจนถึง
เล่นเป็นสัตวแพทย์กับตุ๊กตาสัตว์

Urban Thinkscape ตัวอย่างแนวคิดการออกแบบพื้นที่เพื่อให้เด็กได้เล่น

Urban Thinkscape คือตัวอย่างของการเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ป้ายรถเมล์ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้น่าสนุกที่กระตุ้นให้เกิดการเล่นและพูดคุย โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “เรื่องราว” ซึ่งเป็นเครื่องหมายอยู่บนพื้น มีรูปภาพต่าง ๆ ใช้เล่าเรื่องราวได้ ตามคำกล่าวของนักวิจัย เมื่อเด็ก ๆ เดินจากเครื่องหมายหนึ่งไปอีกเครื่องหมายหนึ่ง และแต่งเรื่องราวขึ้นมาพวกเขาจะสร้างเสริมทักษะ
การเล่าเรื่องขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการอ่านออกเขียนได้ แม้ว่างานวิจัยนี้จะเน้นที่พื้นที่สาธารณะ
ที่ผสานองค์ประกอบพวกนี้เข้าไป แต่นักวิจัยเห็นว่าทุกคนสามารถใช้แนวคิดหลักเหล่านี้เสริมสร้าง
พื้นที่เล่นและประสบการณ์ของเด็กได้รวมถึงพ่อแม่ที่บ้านด้วย

หนึ่งในตัวอย่างของโครงการ Urban Thinkscape  คือ การเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ผ่านการเล่นสำหรับเด็ก ในเมืองเบลมอนต์ รัฐฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ การเปลี่ยนรั้ว
ให้กลายเป็นจิ๊กซอว์ เพื่อช่วยเสริมสร้างกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก

เอกสารอ้างอิง

koolmonday. (2565). 6 เรื่องที่ต้องคำนึง เมื่อเปลี่ยนการเล่นของเด็กเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566, จาก https://happychild.thaihealth.or.th/?p=148865