10 โรคฮิตของเด็กขวบปีแรก… ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือ

เรารู้ว่าเรื่องสุขภาพของลูกน้อย เป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลเป็นที่สุด ยิ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ด้วยแล้ว เจอลูกมีอาการผิดปกติที ยิ่งทำอะไรไม่ถูก เราเลยลิสต์ 10 โรคท็อปฮิตสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงขวบปีแรกมาให้ทำความรู้จักกันไว้ก่อน

1. ไข้หวัด
โรคสุดฮิตของเด็กทุกคน คือภาวะที่เด็กมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส และถ้าเมื่อไหร่ปล่อยให้ไข้ขึ้นเกินกว่า 38.5 เด็กก็มีโอกาสชักได้ ทางที่ดีเมื่อรู้ว่าเด็กเริ่มตัวรุมๆ ควรรีบเช็ดตัว เช็ดหน้า ลำคอ ขา แขน เน้นไปตามข้อพับ และขาหนีบ ที่เป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูง เพื่อระบายความร้อน การเช็ดแบบย้อนรูขุมขน ก็จะยิ่งช่วยระบายความร้อนได้ดี เช็ดเสร็จแล้วก็ใส่เสื้อให้เรียบร้อย และอาจหาผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาวางบนหน้าผาก ก็จะช่วยลดอุณหภูมิได้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง

2. ท้องเสีย
เมื่อไหร่ที่เจ้าตัวน้อยเริ่มจะถ่ายเกิน 3 ครั้งต่อวัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าอาจจะท้องเสีย และก็อย่าปล่อยจนเด็กเกิดภาวะขาดน้ำ เพราะนั่นอาจจะทำให้เกิดอาการช็อคได้ ความจริงแล้ว โรคท้องเสียสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่มากับอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปะปน การอักเสบของทางเดินอาหาร ที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทานทางเดินอาหารอักเสบ แพ้โปรตีนในนม มีผื่นผิวหนัง มีน้ำมูก หรือท้องเสียจากเชื้อไวรัสโรต้า ที่ติดมาจากมือหรือพื้นผิวทั่วไปและปะปนมาในอาหาร

3. ท้องอืด
ลูกร้องไห้ งอแง อึดอัด พะอืดพะอม หรือเมื่อไหร่สงสัยว่ามีลมในท้องมากเกินไป ให้ลองอุ้มเจ้าตัวน้อยมาแนบอก ให้คางเกยไหล่ แล้วลูบหลังเบาๆ เพื่อไล่ลม หรือนวดบริเวณจุดกึ่งกลางของช่องท้องแล้วหมุนตามเข็มนาฬิกา 2 – 3 ครั้งก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของลำไส้ ได้ดีเลยล่ะ

4. ผดผื่น
แน่นอนว่าเจ้าตัวน้อยที่พึ่งคลอดนั้นต่อมเหงื่อยังคงทำงานไม่สมบูรณ์ การขับเหงื่อยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดผดผื่น ตุ่มแดงๆ น้ำใสๆ หรือเกิดเป็นตุ่มหนองเล็กๆ การห่อหุ้มลูกน้อยมากเกินไปจะทำให้ร้อน อบชื้น ไม่สบายตัวได้ หากคันแล้วด้วยล่ะก็ควรทาแป้งเด็กหรือคาลาไมน์ เพื่อช่วยลดอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบและก้น ทางที่ดีควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม

5. แหวะนม
คุ้นๆไหมกับอาการ “แหวะนม” ของเจ้าตัวน้อย อาการนี้จะเกิดขึ้นจากการที่เด็กดื่มนมในปริมาณที่มากหรือเร็วเกินไป ทำให้ลมเข้าไปในท้องมาก จนมีอาการสำลักหลังกินนมเสร็จ ทำให้เมื่อเรอหรือน้ำลายไหล ก็มักจะมีน้ำนมไหลย้อนจากหลอดอาหารกลับออกมาด้วย ทำให้มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เพราะฉะนั้นหลังจากที่ให้นมเสร็จ แนะนำให้อุ้มเด็กในท่านั่งหลังตรง ยกหัวให้สูงอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรให้นอนทันที

6. ฝ้าขาวในปากหรือลิ้น
สำหรับเด็กแรกเกิดนั้นมักจะพบคราบขาว ฝ้าบนลิ้น ช่องปาก กระพุ้งแก้ม อาการเหล่านี้มักเกิดจากเชื้อราในช่องปากหรือการล้างจุกนมไม่สะอาดนั่นเอง เมื่อเจ้าตัวน้อยรับประทานเสร็จ แนะนำว่าให้ดื่มน้ำตาม หรือถ้ายังไม่หาย แนะนำให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็คทำความสะอาดบริเวณช่องปากหลังทานเสร็จ

7. โคลิก
“เด็กเห็นผี”
 หรือโรคโคลิก เป็นโรคที่มักจะเจอในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ที่ชอบร้องไห้ โยแยแบบไม่มีสาเหตุ บางครั้งร้องไห้จนหน้าแดง เกร็ง บิดแขน บิดขา หรือมักร้องเป็นช่วงๆ ช่วงเวลาเย็น กลางคืนหรือกลางดึก ร้องติดต่อกัน 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดจากการที่ลำไส้ถูกกระตุ้น พบได้ในเด็กที่กินนมผสมหรือแพ้โปรตีนนม แนะนำให้ลองอุ้มเจ้าตัวน้อยเดินวนรอบบ้านพร้อมลูบหลังเบาๆ หรือจับนอนหงายและจับเข่าลูกงอจนสุดเพื่อไล่ลม

8. ท้องผูก
ในเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่ที่กินนมแม่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอาการท้องผูก โดยปกติจะถ่ายวันละ 6 – 7 ครั้ง จะถ่ายออกสีเหลืองๆ และเหลวๆ แต่ถ้าเด็กกินนมผงก็อาจจะมีอาการถ่ายแข็ง ถ่ายไม่ออก อึดอัดบ้าง แน่นท้องบ้าง ทางที่ดี คุณแม่ลองให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นหรือกินน้ำลูกพรุนผสมน้ำต้มสุกเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่ายก็จะดี

9. หืดหอบ
มักจะเกิดจากการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ ไอมากในช่วงเวลากลางคืน สังเกตได้จากมีการหายใจที่เร็วขึ้นผิดปกติ หายใจลำบาก ปีกจมูกบานเข้าออก หากเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว เล็บเขียว ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้และครอบครัวที่มีประวัติโรคภูมิแพ้นั่นเอง หากลูกน้อยมีอาการหืดหอบ ควรรีบพาไปปรึกษากุมารแพทย์ทันที

10. อาการตัวเหลือง
มักจะแสดงอาการในช่วง 3 – 4 วันหลังคลอด เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงหลังคลอด ร่วมกับการทำงานของตับในเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ดีพอ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด กรุ๊ปเลือดแม่และลูกที่ไม่เข้ากัน ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้ดี เพราะหากมีอาการตัวเหลืองนานเกินไป อาจเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการโดยด่วน

***************************************

ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท