วิกฤตสถานการณ์ครอบครัวปัจจุบันมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

สังคมอ่อนแอและเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงสถาบันพื้นฐาน “ครอบครัว” 
ที่ความสัมพันธ์ไม่เหนียวแน่น ไม่อบอุ่นเช่นกาลก่อน ด้วยภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ
การเมือง สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีทำให้ทุกคนห่างจากความเป็นครอบครัว
พูดกันน้อยลง โลกส่วนตัวสูง

อีกสาเหตุหนึ่งคืออัตราการเกิดลดลง ทำให้ขนาดของครอบครัวเล็กลงเรื่อย ๆ จากที่สังคมไทยเป็นลักษณะครอบครัวขยายมีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ฯ ปัจจุบันกลับกลายเป็นสังคมของครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

เมื่อครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญของสังคม แต่ถ้ามีครอบครัวด้วยความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจ อยู่ในสภาวะยากลำบาก เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัว
แม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีลูกพิการ ครอบครัวผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นหลาน ฯลฯ สภาพของครอบครัวหรือคนที่เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร

โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ ดำเนินการโดย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการพัฒนากระบวนการสร้างเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ 3 กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีลูกพิการ ให้มีระบบการดูแลที่ส่งเสริมให้เข้าถึงระบบสวัสดิการและกองทุนที่มีอยู่ในชุมชนและสังคม และจัดการความรู้ให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะ เพื่อการขยายผลและผลักดันให้เกิดนโยบายสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันปัญหามีจำนวนมากและทวีความรุนแรงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการดูแลช่วยเหลือครอบครัวลักษณะเฉพาะให้มีสุขภาวะ
และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

ด้วยครอบครัวลักษณะเฉพาะเหล่านี้ มีปัจจัยที่ทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวน้อยกว่าครอบครัวทั่วไปทั้งการมีสัมพันธภาพ ทักษะการจัดการปัญหา การจัดการในภาวะวิกฤติ เช่น
ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ขาดทักษะการเป็นพ่อแม่ ใช้เวลาเลี้ยงดูลูกมากกว่าเด็กปกติ ภาวะความเครียดและการจัดการอารมณ์ ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเปราะบางต่อการดำรงอยู่ของครอบครัว ดังนั้น การเสริมพลังให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะมีความ
เข้มแข็ง สามารถดูแลและจัดการกับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ความเข้าใจ การยอมรับ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และส่งเสริมบทบาทและการทำหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม 

จากสภาพปัญหาครอบครัวดังกล่าวมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและเครือข่ายคนทำงานด้านครอบครัว ได้พัฒนาเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ 20 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดนำร่องและ 2 พื้นที่
ในกรุงเทพมหานคร โดยการกำกับดูแล ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่น ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มาจากหน่วยงาน/ภาคียุทธศาสตร์ด้านครอบครัวที่สำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสถิติ ฯลฯ ที่มีภารกิจคือการขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่นถูกนำไปใช้ในองค์กรต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและเข้มแข็งเพิ่มขึ้น รวมถึงครอบครัว
ลักษณะเฉพาะด้วย

             นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่น กล่าวว่า การเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่น เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเป้าหมายสำคัญของ สสส. และเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมียุทธศาสตร์สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวให้มีความอบอุ่นมากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะของครอบครัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับครอบครัวที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ซึ่งสาเหตุที่เลือกพื้นที่ทำงานระดับจังหวัด เพราะจะได้มีความใกล้ชิดสามารถกระตุ้นให้เกิดการทำงานจริงในพื้นที่ อีกทั้งจังหวัดก็มี
นโยบายและกลไกที่พร้อมจะให้การสนับสนุนงานครอบครัวให้ลงไปถึงประชาชน

           โดยทางมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้จัดพื้นที่เรียนรู้ให้กับครอบครัวลักษณะเฉพาะที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวได้แก้ปัญหาร่วมกัน เกิดงาน เกิดความร่วมมือ
มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมร้อยคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นศูนย์ประสานงาน เกิดกิจกรรมในพื้นที่
มีปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือยามฉุกเฉิน เช่น ให้คำปรึกษา มีหลักสูตรการเรียนรู้ของครอบครัว ที่เหมาะสมตามแต่ละประเด็นและยังมีเครือข่ายในการหนุนเสริม มีแนวคิดกระบวนการส่งเสริม
จิตอาสาที่สามารถลงไปให้การช่วยเหลือในพื้นที่ได้

เอกสารอ้างอิง

ThaiHealth Official. (2566). ครอบครัวไม่เหนียวแน่น ฐานชีวิตไม่มั่นคง. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=231489