ช่องว่างของสวัสดิการเด็กปฐมวัยผลักภาระให้การมีลูกเป็นเรื่อง ‘ความพร้อม’ ส่วนบุคคล มากกว่าที่จะเป็นความพร้อมของรัฐ ที่ผ่านมารัฐยังขาดความกระตือรือร้นในการปิดช่องว่างนี้และมาตรการที่ออกมาก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นโยบายส่งเสริมการตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการของกระทรวงแรงงาน ร่วมด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างของกระทรวงการคลัง นำมาสู่การจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการได้เพียง 96 แห่งหลังจากดำเนินงานมา 4 ปี เพื่อปิดช่องว่างนี้ รัฐต้องสร้างระบบนิเวศเลี้ยงดูเด็กที่ประกอบด้วย การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ขยายสิทธิลาคลอดและบริการของศูนย์เด็กเล็ก และลงทุนด้านความรู้เพื่อลดภาระพ่อแม่ นอกจากนี้ เพื่อลดความสูญเสียและความเหลื่อมล้ำในเด็กแรกเกิด รัฐควรพิจารณาจัดสวัสดิการ
ที่ไม่ใช่ตัวเงินเพิ่มเติม เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแก่กลุ่มเปราะบาง และเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่ารัฐก็มี ‘ความพร้อม’ ที่จะดูแลเด็กๆ ของประเทศนี้เช่นกัน
ต้นแบบ “กล่องแรกเกิด”
“กล่องแรกเกิด” (maternity package / baby box) ของฟินแลนด์เป็นกล่องกระดาษ บรรจุเสื้อผ้าเด็ก ผ้าห่ม ผ้าปูนอน ของใช้เด็ก เครื่องทำความสะอาด ของเล่น และหนังสือ รวมประมาณ
50 ชิ้น โดยเมื่อนำของทั้งหมดออกแล้วสามารถใช้กล่องเป็นที่นอนชั่วคราวให้ทารกได้ แม้พ่อแม่สามารถเลือกรับเป็นเงิน €170 (ประมาณ 6,400 บาท) แทนได้ แต่พ่อแม่ถึงร้อยละ 94 เลือกรับกล่อง เนื่องจากกล่องแรกเกิดนี้ได้กลายเป็นประสบการณ์ที่คนหลายรุ่นมีร่วมกัน ให้ความรู้สึกเหมือนได้รับของขวัญแม้จะทราบดีว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ ซึ่งความสำเร็จของฟินแลนด์มีที่มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ การจัดให้มีสวัสดิการครอบครัวอย่างครอบคลุมและถ้วนหน้า และกลไกการจูงใจให้มาฝากครรภ์
งบประมาณในการจัดทำกล่องแรกเกิดของฟินแลนด์คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.4 ของงบประมาณสวัสดิการครอบครัวทั้งหมด 2.9 พันล้านยูโร (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ในปี 2021 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การลาเลี้ยงลูกที่พ่อแม่สามารถแบ่งกันใช้สิทธิ์ได้ 158 วันทำงาน หลังจากนั้นหากไม่เข้าศูนย์เด็กเล็ก สามารถขอรับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กที่บ้านต่อได้จนถึงอายุ 3 ขวบ และมีเงินอุดหนุนเป็นสวัสดิการเด็กต่างหากจนถึงอายุ 17 ปี สวัสดิการเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเด็กกำพร้า
และ “ครอบครัวสีรุ้ง” กล่องแรกเกิดจึงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จในการจัดสวัสดิการทั้งระบบ เป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมที่จับต้องได้ง่ายและหนุนเสริมนโยบายอื่น ๆ แต่ไม่ใช่นโยบายที่ครบถ้วนในตัวเอง
กลไกเชิงนโยบายของกล่องแรกเกิดในฟินแลนด์คือการส่งเสริมการฝากครรภ์ (antenatal care) โดยแม่จะต้องลงทะเบียนกับพยาบาลผดุงครรภ์ภายในสัปดาห์ที่ 18 ของการตั้งครรภ์ และจะได้รับกล่องประมาณ 2 เดือนก่อนกำหนดคลอด นโยบายนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปรับปรุงสวัสดิการครอบครัวด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้การฝากครรภ์เข้าถึงง่ายและฟรีด้วย ในปัจจุบันอัตราการฝากครรภ์ของฟินแลนด์สูงถึงร้อยละ 99.7 ในขณะที่สัดส่วนของไทยในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 74.6
“กล่องแรกเกิด” ในประเทศไทย
ผู้คนในแถบอุษาคเนย์มีความเชื่อเรื่องการ “รับขวัญ” เด็กแรกเกิดมาตั้งแต่โบราณ ประเพณีรับขวัญทารกเข้าสู่ครอบครัวปรากฏอยู่ในแทบทุกท้องถิ่นและผสานเข้ากับความเชื่อทางศาสนา
เมื่อมีการดำเนินนโยบายแจกของให้กับเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 จึงเลือกใช้ชื่อโครงการว่า “ถุงรับขวัญ” แม้โครงการจะหยุดชะงักไปภายหลังการรัฐประหาร แต่นโยบายนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท้องถิ่นทั่วประเทศดำเนินรอยตาม ก่อนจะเกิดเป็นกระแสในต่างประเทศนานหลายปี
จุดเริ่มต้นของนโยบายในประเทศไทยคล้ายคลึงกับฟินแลนด์ เริ่มต้นจากการดำเนินงานโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร แล้วจึงผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ริเริ่มโครงการ “หนังสือเล่มแรก” (Bookstart) จัดชุดหนังสือและของเล่นแจกให้แก่เด็กในชุมชนแออัดและสถานสงเคราะห์ในปี พ.ศ.2546 มูลนิธินี้ยังมีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการ “ถุงรับขวัญ” ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นแจกเด็กทุกคนที่เกิดระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 900,000 ชุดมุ่งหมายให้เป็นของที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้แก่เด็กไทย ในถุงประกอบด้วยของ 8 ชิ้น ได้แก่ โมบายเด็กซึ่งมีของเล่นเขย่ากัดแขวนอยู่ สามารถถอดออกมาใช้งานต่างหากได้ หนังสือลอยน้ำ ซีดีและเทปเพลงกล่อมเด็ก หนังสือนมแม่ หนังสือเล่มแรก คู่มือการใช้ของเพื่อเสริมพัฒนาการ และผ้าพัฒนาการซึ่งสามารถใช้เป็นผ้าห่มและเป็นถุงที่ห่อของทั้งหมดเอาไว้
แม้โครงการถุงรับขวัญจะชะงักไปภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 แต่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กยังคงดำเนินงานต่อมา มีการร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พิมพ์หนังสือจำนวน 3 ล้านเล่มในปี พ.ศ.2552 และร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ จัดหนังสือให้ท้องถิ่นนำไปบรรจุลงถุงรับขวัญเด็กแรกเกิด หลายแห่งยังคงดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน
โครงการถุงรับขวัญของรัฐบาลได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้อปท.ทั่วประเทศหยิบมาสานต่อในแบบของตัวเองเป็นเวลานานหลายปีก่อนที่จะเกิดเป็นกระแสในระดับโลก ในขณะที่ถุงของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แต่การดำเนินงานในท้องถิ่นมักมีการบรรจุของใช้เด็กลงไปด้วย ทั้งยังผสานกับความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” อย่างเป็นธรรมชาติ ในทางปฏิบัติ “ถุงรับขวัญ” อาจมีเป้าประสงค์ในเชิงนโยบาย เช่น ส่งเสริมให้มาฝากครรภ์ ให้นมแม่ หรือช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน ทว่าเอกสารโครงการมักระบุว่า “เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเด็กแรกเกิด”
โครงการเหล่านี้เริ่มต้นดำเนินการในราว พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา มีรูปแบบของที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งภาชนะ อาทิ ตะกร้า กล่อง อ่างอาบน้ำเด็ก และของที่บรรจุภายในซึ่งมีตั้งแต่ของใช้เด็กอ่อน เอกสารรณรงค์การให้นมแม่ ไปจนถึงหนังสือเด็ก นอกจากนี้แต่ละที่ยังกำหนดเงื่อนไข และกลไกในการดำเนินโครงการต่างกันออกไปด้วย เช่น มีการนำของไปเยี่ยมบ้าน กำหนดให้ต้องเข้าอบรม หรือนำสมุดฝากครรภ์มาแสดงเพื่อรับของ
ในกล่องแรกเกิดควรมีอะไรบ้าง
- ของใช้เอนกประสงค์ เพื่อให้ครอบครัวที่มีเงื่อนไขแตกต่างหลากหลายได้รับประโยชน์จากกล่องแรกเกิดมากที่สุด ของภายในกล่องควรมุ่งเน้นไปที่ของใช้ซึ่งสามารถใช้งานได้เอนกประสงค์ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขชีวิตของผู้มีรายได้น้อยเป็นลำดับแรก เติมเต็มความต้องการพื้นฐานในการดูแลทารก 1 เดือนแรกด้วยของใช้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถนำรายได้และเงินอุดหนุนไปซื้อของใช้ตามเงื่อนไขของครอบครัวและทารกแต่ละคน ของที่ควรมีในกล่องเช่น ผ้าอ้อม ซึ่งสามารถใช้สวมใส่ เช็ดทำความสะอาด หรือห่อตัว เช่นเดียวกับครีมเพิ่มความชุ่มชื้นซึ่งสามารถใช้ได้กับก้นของทารก และหัวนมแม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้รับกล่องไม่ว่าจะใช้ผ้าอ้อมแบบใด หรือสามารถให้นมแม่ได้มากน้อยเพียงใด
- อุปกรณ์สุขอนามัย ทารกแรกเกิดจะยังคงมีสายสะดือติดอยู่กับตัวจนถึงอายุราว 3-4 สัปดาห์ ซึ่งจะต้องการการทำความสะอาดอย่างพิถีพิถันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่นเดียวกับผิวกายส่วนใหญ่ที่ยังคงบอบบาง ชุดสำลีทำความสะอาดควรประกอบด้วย สำลีก้านเล็ก สำลีก้านใหญ่ สำลีแผ่นใหญ่สำหรับทำความสะอาดก้น และแอลกอฮอลล์ อุปกรณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน แต่ยังเป็นเครื่องป้องกันวิถีปฏิบัติตามความเชื่อโบราณที่อาจเป็นอันตรายกับทารกได้ด้วย
- คู่มือดูแลทารก พร้อมคำอธิบายวิธีการใช้ของชิ้นต่าง ๆ ภายในกล่องจะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ดูแลทารกได้เป็นอย่างดี หากออกแบบเนื้อหาให้สอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้ใช้ เช่น จัดเรียงเนื้อหาตามข้อสงสัยในแต่ละช่วงวัย เพราะผู้ดูแลมักต้องการคำตอบคราวละ 1 เรื่อง ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เนื้อหายูทูบตอบโจทย์มากกว่าหนังสือที่เรียบเรียงข้อมูลตามประเด็นซึ่งผู้ดูแลไม่ได้ต้องการใช้ในคราวเดียว คู่มือนี้ควรลดทอนเนื้อหาให้ง่าย กระชับ เน้นประเด็นความปลอดภัยพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกของชีวิต
- ของใช้เสริมพัฒนาการ การมีของเล่นอยู่ในบ้านช่วยเพิ่มโอกาสที่ทารกจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลอันเป็นการสร้างสายสัมพันธ์และช่วยให้มีพัฒนาการสมวัย หนังสือผ้า โมบายแขวน ของเล่นเขย่ากัดที่มีคุณภาพดีพออาจไม่ได้มีราคาสูงนัก แต่สำหรับครอบครัวยากจน ของเหล่านี้ถือเป็นของฟุ่มเฟือยซึ่งมีลำดับความสำคัญรองลงไปจากผ้าอ้อมหรือนมผง ของใช้เสริมพัฒนาการสามารถใช้ได้กับเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีเงื่อนไขในการเลี้ยงดูแบบใด และสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลานาน จึงเป็นของที่มีความคุ้มค่ามากดังที่มีตัวอย่างมาแล้วในไทย การติดตามผลการดำเนินงานที่จังหวัดพิษณุโลกใน พ.ศ.2549 พบว่าครอบครัวที่ได้รับ “ถุงรับขวัญ” ร้อยละ 78.8 ได้นำของไปใช้ครบทุกชิ้น
- การรักษาความเป็นแม่ให้คนเป็นแม่ กล่องแรกเกิดไม่ควรถูกจำกัดให้ส่งเสริมการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวและปิดกั้นทางเลือกในการให้นมผง สองข้อนี้ควรเป็นทางเลือกบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นแม่ของแม่ทุกคน การให้นมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในเงื่อนไขที่รัฐไม่ได้จัดให้มีสวัสดิการวันลาและเงินอุดหนุนอย่างเพียงพอ งานวิจัยในไทยพบว่าทัศนคติและความเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่ ไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จในการให้นมแม่ของคนที่ต้องทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้ความตั้งใจที่จะให้นมแม่ก็ยังอาจถูกเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยแทรกซ้อนหลายประการ อาทิ ภาวะตัวเหลืองของทารก อาการบาดเจ็บของหัวนม การรณรงค์ในเชิงส่งเสริมทัศนคติและให้ข้อมูลว่า “นมแม่ดีที่สุด” จึงไม่เพียงพอและยังเสี่ยงต่อการตีตราแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูก
หากบรรจุของใช้เพื่อส่งเสริมการให้นมแม่ลงในกล่อง จะต้องทำควบคู่ไปกับระบบสนับสนุนภายนอกกล่อง ตั้งแต่ในด้านโภชนาการแม่ อุปกรณ์รักษาความสะอาด เครื่องปั๊มนม ไปจนถึงระบบเก็บรักษาและขนส่งน้ำนม โดยมุ่งสนับสนุนการตัดสินใจของแม่เป็นสำคัญ ถึงที่สุดแล้วหากทำไม่ได้ ก็ควรมีนมผงเป็นทางเลือกที่ไม่ถูกทำให้ด้อยค่าไปกว่ากัน