สถานการณ์ปัญหาเด็กและความเปราะบาง – เรารู้อะไรและยังไม่รู้อะไร?

เด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นประชากรที่จะกำหนดทิศทาง
ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ตามภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยสัดส่วนของเด็กมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากอัตรา
การเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2557 พบว่าประเทศไทยมีประชากรเด็กประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของประชากรเด็กในปัจจุบันที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพและการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย มีสวัสดิภาพความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมเป็นภาระหน้าที่สำคัญของทุกภาคส่วน

สถานการณ์ปัญหาเด็กและความเปราะบาง

จากโครงการวิจัย “การสังเคราะห์องค์ความรู้การคุ้มครองทางสังคมในกลุ่มเด็ก” พบว่า
เด็กไทยในปัจจุบันมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต มีสุขภาวะที่ดีขึ้น เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การตายของประชากรเด็กและทารกลดลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสวัสดิภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาส่งผลประโยชน์มาสู่เด็กในมุมที่จำกัด เศรษฐกิจที่ขยายตัวยังไม่สามารถลดทอนปัญหาที่เกิดจากความขัดสนทางการเงินได้ เด็กไทยยังไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานอย่างเพียงพอ การขยายการศึกษายังไม่สามารถลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เด็กบางกลุ่มต้องเผชิญได้ ปัญหาด้านเด็กยังคงเป็นปัญหาหลักของสังคม สถานการณ์เด็กมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงขึ้น

ปัญหาเกี่ยวกับเด็ก

จากการศึกษาพบประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่มีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น
จากเดิมที่ปัญหามีเพียง 5-6 ประเด็น กระจุกตัวอยู่บนสาเหตุที่เชื่อมโยงกับความยากจน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เด็กกลายเป็นเด็กเร่ร่อน เด็กยากจน เด็กนอกระบบโรงเรียน เด็กขาดสารอาหาร ต้องรับภาระในการหาเลี้ยงชีพครอบครัว เกิดปัญหาการใช้แรงงานเด็กและโสเภณีเด็ก แต่ภายหลังประเด็นปัญหามีความหลากหลายมากขึ้น ความยากจนยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เช่น ความเจริญทางเทคโนโลยีและความเป็นเมือง ส่งผลให้พ่อแม่มีเวลาเอาใจใส่ลูกน้อยลง สร้างความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กติดยาเสพติด ติดเกมส์ ทารกถูกทอดทิ้ง ปัญหาความรุนแรง ปัจจุบันเด็กเข้าสู่วงจรของปัญหามักหาทางออกจากวงจรปัญหาได้ยาก เกิดปัญหาเด็กกระทำผิดซ้ำ และเติบโตไปพร้อมกับการกระทำรุนแรง เด็กที่เข้าสู่วงจรปัญหาไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อของการกระทำผิดเท่านั้น แต่ในหลายปัญหาพบว่ามีเด็กเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปัญหาด้านสวัสดิภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เด็กไทยต้องเผชิญ
เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ขาดการคุ้มครองสิทธิ ยังมีเด็กด้อยโอกาสและเด็กในภาวะยากลำบากอีกจำนวนมาก เช่น เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กพิการ เด็กเร่ร่อน เด็กยากจน เด็กชนกลุ่มน้อย และเด็กที่ถูกนำไปขายบริการทางเพศ สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและความซับซ้อนของปัญหา ซึ่งในสังคมมักมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาส่วนตัว เป็นเรื่องภายในครอบครัว คนนอกไม่ควรเข้าไปยุ่ง ทำให้เด็กจำนวนมากถูกกระทำรุนแรงซ้ำซากและเป็นเวลายาวนาน

นอกจากนั้นยังพบปัญหาด้านบุคลิกภาพและจริยธรรม เช่น เด็กมีบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ บริโภควัตถุนิยม รักสนุก มีความหย่อนยานทางคุณธรรม จริยธรรม ปัญหาที่เด็กต้องเผชิญและเกี่ยวข้องมีความผันแปรไปตามช่วงวัย ในวัยทารกมักเกี่ยวกับการเลี้ยงดู ความเจ็บป่วย บาดเจ็บ และพัฒนาการ ส่วนปัญหาในวัยรุ่นมักเกี่ยวข้องกับความประพฤติ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาของเด็ก

ครอบครัวและสภาวะแวดล้อมมีอิทธิพลต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว การขาดการดูแลเอาใจใส่ เด็กปฐมวัยจำนวนมากประสบปัญหาอันเนื่องมาจากการอบรมเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัวในหลายด้าน ได้แก่ การขาดความรู้ในการดูแลเด็กของพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูเด็ก พบการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ไม่ตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก การห้ามหรือการขู่ให้เด็กกลัว การใช้อารมณ์กับเด็ก ความไม่คงเส้นคงวา รวมทั้งครอบครัวมีการหย่าร้างสูงขึ้น ทำให้เด็กขาดความอบอุ่นและเด็กถูกทอดทิ้ง ในขณะที่โรงเรียนก็ไม่สามารถรับเด็กเข้าในระบบได้ทั้งหมด เด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนจะขาดเพื่อน ขาดผู้ชี้นำที่ดี ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเด็กจึงไม่สามารถจำกัดเป้าหมายการทำงานเฉพาะกลุ่มเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องขยายขอบเขตการทำงานไปยังต้นตอของปัญหา เช่น ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน 

เด็กกลุ่มเสี่ยงและมีความเปราะบาง

ปัจจุบันเด็กจำนวนมากที่มีความเปราะบาง อยู่ในภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีปัญหาพฤติกรรม ปัญหาครอบครัว ซึ่งส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรือก่อปัญหาสังคมอื่น ๆ ดัชนีชี้วัดความเปราะบาง (The Child Vulnerability Index – CVI) ซึ่งวัดโอกาสของเด็กที่จะกลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 42.2 ซึ่งความเปราะบางของเด็กมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยรอบตัวเด็ก โดยปัจจัยหลักที่ส่งอิทธิพลประกอบด้วย 1) ความยากจน
2) ปัญหาสุขภาพร่างกาย ทั้งของผู้ดูแลเด็ก และตัวเด็กเอง 3) ปัจจัยทางเศรษฐสังคม เช่น
การย้ายถิ่น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว การหย่าร้าง ความแตกแยกครอบครัว การตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่น
ความเหลื่อมล้ำทั้งทางเพศและเชื้อชาติ 4) ปัจจัยด้านความรุนแรง ทั้งที่กระทบต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ และ 5) เศรษฐกิจและการเมือง เช่น สงคราม ภัยธรรมชาติ

จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาทำให้ทราบว่ารัฐมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่มีลักษณะรุกเข้าถึงชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาหรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบาง เป็นการสงเคราะห์เฉพาะรายแก่เด็กและครอบครัว โดยมีมุมมองว่ากลุ่มผู้ใช้บริการเป็นผู้ด้อยสิทธิโอกาสและไม่มีศักยภาพเพียงพอ ทำให้การดำเนินงานแบบเดิมยังไม่เพียงพอและครอบคลุมกับสภาพปัญหาและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม ในส่วนของภาคเอกชน พบว่าวัตถุประสงค์และภารกิจขององค์กรยังขาดมิติด้านการพัฒนาสังคมในระยะยาว เพราะส่วนใหญ่ทำงานด้านการสงเคราะห์เด็กยากไร้
เด็กที่ประสบภัยพิบัติให้เข้าถึงสิทธิ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่พบว่ายังมีปัญหาในหลาย ๆ ด้าน

ประเด็นวิจัยสถานการณ์เด็กในอนาคต

  • ควรเน้นแนวทางพัฒนาการรับรู้และความตระหนักด้านการคุ้มครองทางสังคมในกลุ่มเด็กในภาคประชาสังคม จะทำให้ทราบถึงระดับการรับรู้ ทัศนคติ ความรู้สึกเห็นด้วยและสนับสนุน หรือการคุ้มครองเด็กในมิติต่าง ๆ ในแต่ละหน่วยสังคม เพื่อนำไปสร้างกระบวนการพัฒนาการรับรู้และความตระหนักได้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงฐานคิดในด้านการคุ้มครองเด็กจากภาคนโยบายสู่ภาคประชาสังคม
  • ควรมีการศึกษาวิจัยที่มุ่งเน้นการคุ้มครองทางสังคมของเด็ก งานวิจัยด้านระบบการคุ้มครองเด็กมีจำนวนมาก แต่งานวิจัยที่มองการคุ้มครองทางสังคมด้านเด็กเป็นเป้าหมายหลักของระบบยังมีอยู่อย่างจำกัด และควรมีงานวิจัยที่มุ่งศึกษาหรือค้นหาต้นแบบการดำเนินงานคุ้มครองเด็กระดับพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยส่งเสริมแนวทางการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังคุ้มครองเด็กระดับรากหญ้าที่มีการกระจายตัวทั่วทุกพื้นที่
  • ควรมีการศึกษาวิจัยที่เสริมสร้างความครอบคลุมด้านนโยบายและกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก ทั้งในส่วนของปัญหาเด็กรายประเด็นและนโยบายในภาพรวม จากงานวิจัยด้านการคุ้มครองเด็กที่ผ่านมาชี้ให้เห็นช่องว่างของนโยบายและมาตรการทางกฎหมาย ตลอดจนการบังคับใช้ที่สร้างความยากลำบากในการคุ้มครองดูแลและควบคุมลงโทษผู้ละเมิดสิทธิเด็ก ยากต่อการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและการฟื้นฟูบำบัด
  • ควรมีการศึกษาอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงบทบาทและศักยภาพในการให้ความคุ้มครองทางสังคมของสื่อเหล่านี้ เนื่องจากปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กมีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี ควรศึกษากลไกในการคุ้มครองดูแลเด็กหรือการสร้างระบบเฝ้าระวังที่ครอบคลุมในทุกรูปแบบความเสี่ยง เช่น สื่ออนาจาร สินค้าที่ผิดกฎหมาย การตกเป็นเหยื่อออนไลน์ การละเมิดและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ
  • ควรหาแนวทางหรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบการคุ้มครองเด็ก และระบบการคุ้มครองทางสังคมด้านเด็ก โดยเฉพาะในส่วนของความตระหนักและความรู้ถึงสิทธิที่เด็กและเยาวชนควรรับรู้

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การสังเคราะห์องค์ความรู้การคุ้มครองทางสังคมในกลุ่มเด็ก”

หัวหน้าโครงการ : เรณู สุขารมณ์
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เอกสารอ้างอิง

นพรดา คำชื่นวงศ์. (2563). สถานการณ์ปัญหาเด็กและความเปราะบาง – เรารู้อะไรและยังไม่รู้อะไร?. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2566 จาก https://researchcafe.tsri.or.th/synthesis-of-knowledge-on-social-protections-for-children/