“มรดกของเมือง ไม่ใช่สถาปัตยกรรมใหญ่โตอลังการ แต่คือสนามเด็กเล่น”
ต้องเป็นสังคมหรือประเทศแบบใดกันนะ จึงจะกล่าวปรัชญาแห่งความเป็นเมืองได้แบบนี้ ?
ใน ‘ความทรงจำกับการเล่น’ เป็นสารคดีหนึ่งใน เรื่อง “When We Play” ซึ่งพาเราไปสำรวจความคิดที่น่าสนใจเบื้องหลังพื้นที่เล็ก ๆ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘สนามเด็กเล่น’ ในเมืองใหญ่ของ 4 ประเทศเศรษฐกิจแห่งเอเชีย คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ผ่านเรื่องราวของเครื่องเล่นและผู้คนหลากหลายกลุ่ม เพื่อบอกว่าในระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมของพวกเขาเหล่านี้ให้ความหมายของเด็ก การเล่น การพัฒนา การออกแบบ และอนาคตอย่างไรบ้าง ?
เราได้เห็นเรื่องของ อี้ชิวหลิง บล็อกเกอร์หญิงชาวไต้หวันที่ผูกพันกับ ‘กระดานลื่นช้าง’ เครื่องเล่นสุดคลาสสิกจากยุค 1960 ที่เธอและสามีคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยอนุบาล จนเกิดแรงบันดาลใจออกเดินทางตามหาว่ามันยังหลงเหลืออยู่ที่ใดอีกบ้าง ฟังเผิน ๆ เหมือนเป็นอาการโหยหาวัยเยาว์ที่เคยหอมหวาน แต่การเดินทางของเธอค่อย ๆ อธิบายให้เราเข้าใจว่าการมีอยู่ของช้างตัวนี้ บนสนามเด็กเล่นของโรงเรียนทั้งหลายมีความหมายมากกว่านั้น เพราะนอกจากความสวยงามและมีกลิ่นอายย้อนยุคจะทำให้มันมีเอกลักษณ์และมีชีวิตชีวาแตกต่างจากเครื่องเล่นสำเร็จรูป ในปัจจุบันแล้ว การตั้งอยู่อย่างโดดเด่นคงทนผ่านกาลเวลายังทำให้มันเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงความรู้สึกจากผู้คนต่างรุ่นสู่กันและกันได้อย่างอบอุ่นน่ารัก
“แต่ละโรงเรียนควรออกแบบสนามเด็กเล่นให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง” อี้ชิวหลิงพูดถึงเจ้าช้างตัวนี้ “เพราะมันคือวิธีส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาความงามอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการศึกษาความงามที่เป็นจริงจากของธรรมดา ๆ จับต้องได้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในตำรา มันจะนำความสมบูรณ์และความตื่นเต้นเข้ามาในชีวิตของเด็ก ๆ และเติมสีสันให้แก่ความทรงจำของพวกเขา”
ในสิงคโปร์ – ซึ่งเป็นตอนที่ผู้เขียนตื่นเต้นเป็นพิเศษ – เราได้เห็นสนามเด็กเล่นระดับตำนานจากยุคทศวรรษ 1970 ที่ Khor Ean Ghee (ศิลปินสีน้ำผู้โด่งดังและนักออกแบบของ Housing & Development Board หรือ HDB คณะกรรมการพัฒนาและที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์) จำลอง ‘มังกร’ มาเป็นเครื่องเล่นปีนป่ายไหลลื่น ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีสดใสที่ดูแลรักษาง่ายและทนทานต่อแดดฝน ความสวยน่าตะลึงของมังกรตัวนี้ทำให้เราเข้าใจได้ชัดทันทีว่าเพราะอะไรสนามเด็กเล่นจึงไม่ใช่แค่ที่สำหรับเล่น แต่มันยังสามารถเป็นพื้นที่ติดตั้งงานประติมากรรมที่ ‘ทำงาน’ กับทั้งสายตาและจินตนาการของเด็กและผู้ใหญ่ เครื่องเล่นที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีตด้วยวัสดุของยุคสมัยทำให้มันมีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์พร้อม ๆ กับดึงดูดผู้คนให้ทั้งอยากใช้งานและดูแลอนุรักษ์มันไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหนึ่งนับจากปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เครื่องเล่นเหล่านี้จำนวนมากถูกรื้อทิ้งทำลายหรือไม่ก็ถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากเกิดความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของเด็กและมีการกำหนดมาตรฐานการออกแบบสนามเด็กเล่นขึ้น วัสดุที่ทำให้เกิดอันตราย เช่น พื้นปูน กระเบื้อง โลหะ ถูกแทนที่ด้วยวัสดุปลอดภัยชนิดใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นการพัฒนาที่ควรจะเป็น แต่ในอีกด้านมันก็ทำให้เกิดการนำเข้าเครื่องเล่นพลาสติกสำเร็จรูปขนาดใหญ่ที่นอกจากจะ ‘หน้าตาเหมือน ๆ กันไปหมด’ แล้ว ยังออกแบบด้วยแนวคิดในการ ‘กำหนดวิธีเล่น’ ให้เด็ก ๆ ต้องวิ่ง ปีน ลื่น เป็นลำดับขั้นตอนซ้ำ ๆ โดยแทบไม่เปิดช่องว่างให้แก่การใช้จินตนาการค้นหาความสนุกในการเล่นด้วยตัวเองมากนัก
“ปัญหาที่ตามมาคือ การที่มีเครื่องเล่นเด็กผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย
ผุดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ …แต่กลับไม่มีใครอยากเล่น”
นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบสนามเด็กเล่นยุคใหม่ในสิงคโปร์ ที่หันกลับมาสนใจการสร้างธีมเฉพาะสำหรับแต่ละท้องถิ่นอีกครั้ง หนึ่งในบริษัทเอกชนที่พัฒนางานด้านนี้จริงจังต่อเนื่องคือ บริษัท Playpoint ที่เน้นการออกแบบเพื่อกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของเด็ก ๆ ด้วยเครื่องเล่นที่สวยงาม ท้าทายจินตนาการ และที่สำคัญคือมีเรื่องราวรองรับแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่นที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพนิยาย หรือการนำวัสดุและธรรมชาติในพื้นที่มาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดีย เช่น เรือ แมงกะพรุน สาหร่ายทะเล
จึงกล่าวได้ว่า การออกแบบสนามเด็กเล่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสามารถดึงดูดเด็กกับครอบครัวให้เข้าไปใช้งานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยี่ยมชมกันอย่างหนาแน่นได้ด้วย เช่นนี้จึงอาจกลายเป็นธุรกิจใหญ่มูลค่ามหาศาลของสิงคโปร์ในปัจจุบัน และทำให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนสนามเด็กเล่นหนาแน่นที่สุดในโลก หากสนใจเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/now/content/454