“เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” เปิดแนวคิดชุมชนนำ เรียบง่ายแต่ได้ผลจริง
ท่ามกลางวิกฤตเด็กเกิดน้อยทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการเกิดใหม่เหลือเพียงปีละ 500,000 คน ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงโครงสร้างประชากร แรงงาน และกองทุนสวัสดิการต่างๆ ของประเทศ นอกจากนั้น การเกิดน้อยและด้อยคุณภาพ เนื่องจากความไม่พร้อมของครอบครัว หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาสังคม ดังนั้น หนึ่งในทางออกที่สำคัญอย่างการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการเติบโต จึงเป็นโจทย์สำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่พร้อมต่อการเลี้ยงดูเด็กที่จะกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศต่อไป
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เล่าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ “มหกรรมครอบครัวยิ้ม” ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า งานนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. และภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากเล็งเห็นว่าการทำงานด้านเด็กและเยาวชนต้องใช้ความร่วมมือทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของแนวคิดแรก คือ “เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ระบบนิเวศของการเลี้ยงดูเด็กต้องเชื่อมโยงกัน และแนวคิดถัดมา ให้ “ชุมชนนำ” ที่ผ่านมาเมื่อมีโครงการต่างๆ มีคณะทำงานระดับจังหวัดลงไปทำร่วมกับชุมชน แต่เมื่อโครงการจบจะไม่มีการสานต่อ เพราะไม่ใช่วิถีของชุมชน ฉะนั้น การให้ชุมชนนำจะมาแก้ปัญหาได้ โดยเราต้องเชื่อมั่นว่าผู้ใหญ่ในชุมชนต่างมีภูมิปัญญาในการเลี้ยงดูเด็ก ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 210 ตำบลใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ โดย สสส. ได้วางกรอบการทำงานอย่างง่ายให้กับชุมชน คือ 1) ต้องรู้จักเด็กทุกคน เกิดเป็นกิจกรรมเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ ในชุมชน ทำให้มีข้อมูลเชิงลึก 2) จัดกลุ่มเด็กเป็นระดับสีตามความเสี่ยง 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว ไม่มีความน่ากังวล สีเหลือง เริ่มเห็นสัญญาณน่ากังวล เช่น ผู้ปกครองติดยาเสพติด ติดการพนัน ติดแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่มีผลกระทบกับเด็ก ฉะนั้น ผู้ใหญ่ในชุมชนจะต้องสังเกตไม่ใช่จับตา ซึ่งอาจใช้วิธีไปถามไถ่เด็ก เพื่อให้ได้ข้อมูล และ สีแดง ที่ส่วนใหญ่พบว่าผู้ปกครองมีปัญหาทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กได้ จะมีสัญญาณชัดเจน เช่น เด็กมีรอยฟกช้ำ มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
จากนั้นก็จะเชื่อมมาถึง แนวทางที่ 3) การทำงาน ให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มสีแดง ที่จำเป็นจะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทางทีมสหวิชาชีพที่เป็นเครือข่ายของ สสส. ในระดับจังหวัดก็จะลงไปช่วยเหลือ ส่วนกลุ่มสีเขียวและสีเหลืองจะเป็นการใช้ทรัพยากรชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน ด้าน สสส. เข้าไปแก้ไข สนับสนุน ทำให้เราพบว่ามีหลายครั้งที่ชุมชนช่วยกันได้โดยไม่ต้องให้หน่วยงานระดับจังหวัดลงมาช่วย นอกจากนั้น ความหลากหลายของคนในชุมชน ทำให้เด็กได้เรียนรู้มุมมองชีวิตที่เป็นพหุวัฒนธรรม รู้จักยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเราพบว่าวัยรุ่นที่มีความคิดเปิดกว้าง มีทัศนคติที่เติบโต (Growth Mindset) มักจะเป็นกลุ่มที่ได้แลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ทำให้เด็กสามารถอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ด้วยวิธีการและแนวคิดที่เรียบง่าย จึงเป็นเป้าหมายการทำงานของ สสส. ในระยะถัดไป ที่จะเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นในวงกว้างแบบแนวราบ โดยการเริ่มจากชุมชนต้นแบบ และกระจายออกไปให้มากขึ้น ส่วนการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายนั้น ยังคงต้องใช้เวลา ซึ่ง สสส. ก็จะเป็นหนึ่งในความพยายามขับเคลื่อนให้สำเร็จ
“งานนี้ สสส. เป็นพี่เลี้ยงอยู่ห่างๆ เป็นการให้ชุมชนนำ ผ่านการใช้วิถีของชุมชนเอง และเห็นผลลัพธ์ของการทำงานที่ดีมาก เกิดเป็นผลกระทบเชิงบวกในทันทีที่ชุมชนลงมือทำ เกิดผลขึ้นกับเด็กทันที ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดของ สสส.” น.ส.ณัฐยา กล่าว
คำบอกเล่าจากคนในพื้นที่ ลงมือทำงานจริง และเปลี่ยนแปลงได้จริง นายประทีป ภาชนนท์ หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา กล่าวว่า พื้นที่ ต.ศรีถ้อย มีเด็กราว 600 คน ที่ผ่านมาหลายชุมชนได้เข้าร่วมในโครงการเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน ที่ทาง สสส. ให้การสนับสนุน โดยข้อดีที่เห็นชัดของโครงการคือการให้ชุมชนนำ ผ่านการทำงาน 3 แนวทางง่ายๆ นอกจากนั้น ยังช่วยให้เกิดความร่วมมือ สร้างความสามัคคีของคนในตำบลจากทุกหมู่บ้าน เพราะทุกคนต่างเป็นจิตอาสาที่มีจิตใจอยากทำงานเพื่อเด็กในชุมชนจริงๆ ปัจจุบันมีสมาชิกหลักอยู่ 20 คน โดยการแบ่งกลุ่มสีของเด็ก พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว รองลงมาเป็นสีเหลือง ประมาณ 20 ครอบครัว และสีแดง 2 ครอบครัว
“ทีมงานของตำบลได้ถอดแบบแนวคิดของ สสส. คือ การให้ชุมชนนำ เรามองว่าการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งในครอบครัวให้มีความสุข มีอนาคตที่ดียังไม่เพียงพอ แต่ต้องดูแลเด็กคนอื่นในชุมชน ครอบครัวที่ประสบปัญหา เพื่อป้องกันเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมาไม่ให้กลายเป็นปัญหาของชุมชน ดังนั้น การดูแลทั้งชุมชนจึงเป็นแนวคิดที่ทำให้งานเกิดผลสำเร็จได้ นอกจากนั้น การทำงานของ สสส. ยังทำให้ชุมชนได้เรียนรู้การแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐเพียงอย่างเดียว ทำให้ชุมชนยืนได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง” นายประทีป กล่าว
อย่างไรก็ตามภาพฉายการทำงานด้านเด็ก ทำให้เห็นชัดว่า “ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง” แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะร่วมกันสร้างประชากรที่มีคุณภาพเพื่อตัดห่วงโซ่ของปัญหาสังคมในอนาคต