กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยว่า แนะผู้ปกครองดูแลสุขภาพของลูก ในช่วงหน้าฝน ป้องกันการเกิดโรคจากน้ำท่วมขัง เช่น โรคตาแดง โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ ฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้หลายจังหวัดในประเทศไทยประสบกับอุทกภัย คุณพ่อคุณแม่คงมีความกังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูก การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และสอนให้เด็กรับรู้ถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันทั้งโรคและภัยที่มากับน้ำได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจเพื่อให้ลูกยังคงมีสุขภาพที่ดีในช่วงเวลานี้ เมื่อเด็ก ๆ ไปโรงเรียน อาจเกิดการสัมผัสซึ่งกันและกัน ส่งผลติดต่อและแพร่กระจายกันได้ง่ายมากขึ้น ความชื้นในฤดูฝนหรือการเกิดน้ำท่วมขัง อาจเป็นบ่อเกิดของโรคต่าง ๆ เช่น โรคตาแดง โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู ควรหมั่นดูแลสุขอนามัยสม่ำเสมอ
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคตาแดง โรคมือเท้าปาก โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และ ฉี่หนู ทั้งหมดนี้ มีอาการแตกต่างกัน โรคตาแดง อาการ คือ ตาแดง คันตา ปวดตา มีขี้ตามากผิดปกติ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เยื่อบุตา ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำตาและขี้ตาของผู้ป่วย โรคมือเท้าปาก อาการ คือ มีไข้ มีตุ่มอักเสบที่ปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส หรือ ผื่นนูน มักพบในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มพองของผู้ป่วย โรคอุจจาระร่วงอาการ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ้าอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว โรคนี้เกิดจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการจับของเล่นสกปรกเข้าปากของลูกน้อย โรคไข้หวัดใหญ่อาการ คือ ไข้สูง หนาวสั่น ไอ จาม อ่อนเพลียและปวดกล้ามเนื้อ มักติดต่อกันได้ง่าย ผ่านลมหายใจ ไอ จาม และละอองน้ำมูก หรือติดต่อจากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อของผู้ป่วย โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนแออัดมาก โรคไข้เลือดออกอาการ คือ ไข้สูง พบผื่น จุดแดง ซึม อ่อนเพลีย ปวดท้องที่ชายโครง รวมถึงคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งโรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากมีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาและมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และโรคฉี่หนู พบมากในหน้าฝนและในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ การติดเชื้อในคนมีสาเหตุมาจากการสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่าต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ และผู้ติดเชื้อมีหลายลักษณะอาการดังนี้คือ อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดหน้าท้อง ปวดต้นขา ปวดน่องเจ็บคอ เจ็บหน้าอก ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง เยื่อบุตาบวม มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูก เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพิ่มเติม การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ เส้นใย ให้เพียงพอ ลดน้ำตาล ไขมัน อาหารต้องปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัยในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การสัมผัส และคลุกคลีกับผู้ป่วย มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงมีการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หากพบลูกมีอาการผิดปกติ แนะนำให้พามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป