พัฒนาการด้านภาษาเป็นขั้นตอนสำคัญที่สามารถส่งผลต่อการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสื่อสาร การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนอาจต้องเจอปัญหาความล่าช้าในพัฒนาการด้านภาษา จากการศึกษาและสำรวจปัญหาด้านพัฒนาการเด็กพบว่า พัฒนาการด้านภาษาที่ล่าช้าในเด็กปฐมวัย หรือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 – 7 ปี ถือเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในด้านพัฒนาการทั้งหมด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งด้านสภาพร่างกาย จิตใจ หรือสภาพแวดล้อม ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขอาจส่งผลต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อที่เด็กจะได้รับการตรวจวินิจฉัย และได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพื่อช่วยแก้ไข และพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ
สัญญาณของปัญหาพัฒนาการด้านภาษา
เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาล่าช้าสามารถสังเกตได้จากหลาย ๆ ด้าน เช่น
- ด้านการพูด สามารถสังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด – 4 เดือน เด็กไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วงที่เด็กตื่นดี อายุ 5 –7 เดือน เด็กส่งเสียงน้อยหรือไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ตอบโต้กับผู้เลี้ยงดู อายุ 9 – 12 เดือน เด็กไม่หันหาเสียง ไม่ทำเสียงเลียนเสียงพยัญชนะอื่นนอกจาก “อ” อายุ 15 เดือน เด็กไม่พูดคำที่มีความหมาย อายุ 2 ปี พูดคำศัพท์ได้น้อยกว่า 50 คำ เด็กไม่พูดคำที่มีความหมายติดกันสองคำ และไม่สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ อายุ 3 ปี เด็กยังไม่พูดเป็นประโยค และอายุ 4 ปี ไม่เล่าเรื่อง หรือไม่สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้เกินร้อยละ 25
- ด้านความเข้าใจภาษา โดยปกติเด็กตั้งแต่เกิดจะเริ่มมีพัฒนาทางภาษา เริ่มจาก 6 เดือน เด็กจะเริ่มได้ยินเสียง เริ่มแสดงออกด้วยการร้องไห้ วัยนี้ยังไม่พูดแต่จะเริ่มสื่อสารด้วยการส่งยิ้ม เล่นน้ำลาย อายุ 9 เดือน เด็กเริ่มตอบสนองต่อการเรียกชื่อ เริ่มมีเสียงง่าย ๆ ที่ไม่มีความหมาย เลียนเสียงที่ได้ยินมา อาจจะเป็น “ปาปา” “มามา” ได้ อายุหลัง 1 ปี เป็นช่วงเก็บสะสมคำ เด็กอาจมีคำพูดออกมาไม่เยอะ เช่น 3 – 5 คำ แต่เริ่มมีคำที่มีความหมายปนมา อายุ 2 ปี จะมีคำที่มีความหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ และอายุ 4 ปี สามารถเล่าเรื่องได้ และควรพูดเข้าใจได้ 100%
- ด้านการออกเสียง เริ่มสังเกตจากการออกเสียงที่ไม่ชัดเจนหรือการออกเสียงผิดรูปแบบ เช่น คำว่า “น้ำ” เด็กออกเสียงเป็น “นั้ม” หรือการที่ไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะบางตัวได้ โดยปกติแล้วเด็กจะเริ่มพูดได้เป็นคำที่มีความหมายในช่วงอายุ 1 ปี เช่น แม่ หม่ำ ไป มา และจะเริ่มพูดได้เป็นประโยคในช่วงอายุ 2 ปี พอเริ่มเข้าสู่อายุ 3 – 4 ปี ลิ้นจะทำงานได้ดีขึ้น เด็กก็จะเริ่มออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ได้ โดยเด็กจะเริ่มออกเสียงชัดเจนในพยัญชนะต่าง ๆ ตามช่วงวัย ได้แก่ ช่วงอายุ 2.1 – 2.6 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดคือ ม, น, ห, ย, ค, อ ช่วงอายุ 2.7 – 3 ปี เสียงพยัญชนะที่พูดได้ชัดจะเพิ่มเสียง ว, บ, ก, ป เข้าไป ช่วงอายุ 3.1 – 3.6 ปี เพิ่มเสียง ท, ต, ล, จ, ผ ช่วงอายุ 3.7 – 4 ปี เพิ่มเสียง ง, ค ช่วงอายุ 4.1 – 4.6 ปี เพิ่มเสียง “ฟ” ช่วงอายุ 4.7 – 5 ปี เพิ่มเสียง “ช” ช่วงอายุ 5.1 – 5.6 เพิ่มเสียง “ส” และอายุ 7 ปีขึ้นไป เพิ่มเสียง “ร” ได้
- ด้านการเรียบเรียงรูปประโยค ช่วงอายุ 4 ปี เด็กจะสามารถพูดสื่อสารได้ แต่ในเด็กบางคนอาจสื่อสารออกมาเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์ ใช้คำไม่ถูกบริบทหรือไม่สอดคล้องกับความหมาย ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นคำพูดได้ มีปัญหาในการจัดเรียงประโยค ลำดับคำหรือการสร้างประโยคที่สื่อความหมายชัดเจน
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดปัญหาพัฒนาการด้านภาษา
เมื่อพบพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้าควรได้รับการตรวจ และประเมินหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสาเหตุของพัฒนาการที่ล่าช้าเกิดจากปัจจัยที่ซับซ้อน เช่น
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม อาทิ เด็กที่มีปัญหาทางการได้ยิน เช่น หูตึงหรือการได้ยินเสียงไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาทักษะการพูด และการเข้าใจภาษา เนื่องจากไม่สามารถฟังและเรียนรู้การออกเสียง และคำศัพท์ได้ชัดเจน เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เช่น สมองพิการ กลุ่มอาการออทิซึม หรือภาวะดาวน์ซินโดรม อาจมีปัญหาในการสื่อสารและการเรียนรู้ภาษา
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ผู้ปกครองไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ และการใช้สื่อที่มากเกินไปโดยการให้ดูทีวี เล่นแท็บเล็ตก่อนวัย 2 ปี ยิ่งถ้าเด็กเริ่มดูจอตั้งแต่อายุน้อย และผู้ปกครองปล่อยให้เด็กดูตามลำพังสามารถส่งผลให้เด็กมีทักษะทางภาษาที่ล่าช้า
แนวทางการช่วยเหลือและพัฒนา
เมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษา ควรให้ความสำคัญและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมโดยแนวทางในการช่วยเหลือและพัฒนา เช่นการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เด็กบางคนปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านภาษาอาจเกิดจากภาวะบกพร่องทางร่างกาย เช่น การได้ยิน จึงควรพาเด็กไปตรวจสุขภาพหูและการได้ยินเพื่อเช็คว่ามีปัญหาด้านการได้ยิน หรือไม่
- การประเมินพัฒนาการของเด็ก เมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาควรได้รับการประเมินเพื่อรักษาโดยทันที ซึ่งการประเมินสามารถทำได้โดยกุมารแพทย์ พยาบาล หรือครูปฐมวัย
- การบำบัดด้านการพูด นักแก้ไขการพูดสามารถให้การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านภาษา โดยการฝึกฝนและพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กออกเสียงชัดเจนขึ้น และเข้าใจไวยากรณ์และประโยคมากขึ้น
- การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้ปกครองสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาภาษา ได้เริ่มจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กมากขึ้น พูดคุยกับเด็กมากขึ้น พยายามออกเสียงพูดให้ชัดเจนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด พูดในสิ่งที่เด็กกำลังสนใจ และฝึกทำตามคำสั่ง ส่งเสริมให้เด็กได้พูดในสถานการณ์ต่าง ๆ ใช้คำถามปลายเปิด พร้อมขยายความในคำตอบของเด็ก รวบรวมคำตอบของเด็กให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ให้รางวัลเมื่อเด็กทำได้ดี อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นบทบาทสมมติเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษา เพิ่มคลังคำศัพท์มากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ เล่นปั้นดินน้ำมัน วาดภาพระบายสีเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การเล่นกับผู้ใหญ่หรือเพื่อนในวัยเดียวกันจะช่วยในการพัฒนาทักษะด้านภาษา และการเข้าสังคม
- จำกัดการใช้หน้าจอทุกชนิด ลดระยะเวลาที่เด็กจะได้รับการสื่อสารทางเดียว ใช้หน้าจอทุกชนิดตามช่วงอายุที่เหมาะสม โดย อายุ 0 – 2 ปี งดจอทุกชนิด อายุ 2 – 5 ปี ดูจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ต้องเป็นรายการที่มีคุณภาพ และมีผู้ปกครองร่วมดูด้วย และอายุ 6 ปี ขึ้นไป ควรตั้งกฎกติกา ช่วงเวลาในการดูจอ โดยทั่วไป ไม่ควรเกิน 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน และมีผู้ปกครองคอยสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด
การพัฒนาภาษาเป็นกระบวนการสำคัญในช่วงปฐมวัยของเด็ก การสังเกตพฤติกรรม และสัญญาณของปัญหาด้านพัฒนาการภาษาอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา เมื่อผู้ปกครองพบว่าเด็กมีพัฒนาการภาษาล่าช้า ควรเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินเพื่อแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต