การเรียนรู้ของเด็กผ่านการละเล่นวิถีชุมชน

การเล่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เด็กทุกคนล้วนต้องการ “เล่น”  การเล่นเป็นการแสดงออกทางกายภาพของเด็ก ซึ่งสามารถแสดงถึงตัวตนของเด็กที่มีความแตกต่างกัน นำไปสู่การเรียนรู้การปรับพฤติกรรม และการควบคุมตนเอง เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น เด็กได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมขณะเล่นด้วยกันกับผู้อื่น อีกทั้งการเล่นเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะ และ ส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การเล่นจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

            การเล่นกับเด็กเป็นสิ่งที่มาคู่กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการละเล่นซึ่งเป็นการเล่นดั้งเดิมของไทย มีความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งสามารถสะท้อนวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม และความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อนได้ การละเล่นไทยมีประโยชน์ต่อเด็กมากมาย นอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้วยังได้ฝึกการใช้ทักษะต่าง ๆ ของร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระตุ้นประสาทสัมผัส ฝึกความสังเกต ความอดทน ความสามัคคี และความมีวินัยการเคารพต่อกติกา โดยการละเล่นไทยจะมีการเล่นที่ละเอียดอ่อน และสวยงามตามแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละภาค เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันทำให้การละเล่นของเด็กแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน การละเล่นไทยแบ่งออกเป็น 4 ภาคดังนี้

การละเล่นภาคกลาง  การละเล่น “หม้อข้าวหม้อแกง” เป็นการละเล่นที่เลียนแบบกิจกรรมของผู้ใหญ่ เด็กจะได้ฝึกจินตนาการ การแสดงออกด้านอารมณ์ที่เหมาะสมในการเล่นบทบาทสมมติ โดยการเล่นจะไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น อุปกรณ์การเล่น คือ เครื่องใช้ในครัวแบบจำลอง วิธีเล่นนำเครื่องครัวมาใช้ทำอาหารแบบผู้ใหญ่ โดยใช้การสมมุติ เช่น ใช้ใบไม้ เปลือกผลไม้ นำมาหั่น ทำเป็นกับข้าว การละเล่น “รีรีข้าวสาร” เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ฝึกให้เด็กมีไหวพริบ ฝึกการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยการเล่นผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันโน้มตัวประสานมือกันเป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้อื่นเกาะเอวต่อ ๆ กันตามลำดับหัวแถวจะพาลอดใต้ซุ้มมือพร้อมกับร้องบทร้องประกอบการเล่น ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันคนสุดท้ายไว้ ซึ่งคนสุดท้ายจะถูกคัดออกไปจากแถวแล้วจึงเริ่มต้นเล่นใหม่ทำเช่นนั้นจนหมดคน

การละเล่นภาคเหนือ การละเล่น “ซิกโก๋งเก๋ง” เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อขา ฝึกความเข็งแรงระบบประสาทกับระบบกล้ามเนื้อ และความเชื่อมั่นในตนเอง โดยการเล่นใช้มือถือไม้โก๋งเก๋งตั้งขึ้นให้ตรง แล้วค่อยก้าวเท้าใดเท้าหนึ่ง ขึ้นเหยียบบนไม้โก๋งเก๋ง แล้วก้าวเท้าขวาตามตั้งตัวให้สมดุลแล้วค่อย ๆ ก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งออกไป ถ้าล้มก็ขึ้นใหม่เดินใหม่จนคล่อง การละเล่น “ม้าจกคอก” เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะในการใช้สายตา การสังเกต และทักษะในการเคลื่อนไหว โดยการเล่นแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกมี 2 คน สำหรับถือท่อนไม้ที่วางขนานบนขอนไม้แล้วกระทบกันเป็นจังหวะ ส่วนฝ่ายที่ 2 มี 2คนขึ้นไปสำหรับเป็นผู้เต้นโดยจะต้องแยกขาออกให้พ้นไม้ ถ้าถูกหนีบเรียกว่า ม้าขำคอก หรือม้าติดคอก คู่ที่ถูกไม้หนีบจะต้องออกไปเปลี่ยนให้ผู้ที่ถือคานอยู่เดิมนั้นเข้ามาเต้นในระหว่างคานนั้น

การละเล่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) การละเล่น “ตีนเลี่ยน (ล้อเลื่อน)” เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนแขน ขา ลำตัว การควบคุมการเคลื่อนไหวขณะดันล้อ ฝึกความเร็วความแม่นยำ ฝึกการใช้ความคิดปฏิภาณไหวพริบในขณะเล่น ฝึกการควบคุมอารมณ์ และการยอมรับความสามารถของผู้อื่น โดยการเล่นผู้เล่นแต่ละคนจับตีนเลียน โดยให้ปลายไม้วางพลาดไว้ที่บ่า ส่วนล้อวางไว้ที่พื้น เตรียมพร้อมที่จะกลิ้งล้อ จากนั้นให้ผู้เล่นดันตีนเลียนให้ล้อกลิ้งไปกับพื้น ผู้เล่นสามารถเดินหรือวิ่งตามพื้นได้อย่างอิสระ อาจมีการแลกเปลี่ยนผลัดกันเล่นตามแต่จะตกลง ใครถึงเส้นชัยก่อนจะถือว่าเป็นผู้ชนะ การละเล่น “เดินกะโป๋ (กะลา)”เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อขา และการทรงตัว โดยการเล่นผู้เล่นจะยืนบนกะลา ใช้นิ้วเท้าคีบเชือกเหมือนกับใส่รองเท้าทั้งสองข้าง ดึงเชือกให้ตึง เมื่อได้สัญญาณ ทุกคนจะรีบเดินไปถึงเส้นชัย ใครถึงก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ คนที่ถึงทีหลัง หรือตกจากกะลา ถือว่าแพ้

การละเล่นภาคใต้ การละเล่น “ขว้างราว” เป็นการละเล่นที่ช่วยเป็นการฝึกสมาธิ ความแม่นยำและความสัมพันธ์กันระหว่างสายตากับมือ โดยการเล่นไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น นำราวมาตั้งโดยมีหินรองปลายราวทั้ง 2 ข้างให้สูงจากพื้นดินประมาณ 3 นิ้ว แล้วขีดเส้นเป็นเขตสำหรับยืนขว้างให้ห่างจากราวประมาณ 5 เมตร หลังจากนั้นก็นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปวางบนราวตามที่ได้ตกลงกันว่าวางคนละกี่เมล็ด จากนั้นก็เริ่มขว้าง ถ้าคนแรกขว้างถูกและคว่ำหมดถือว่าจบเกมคนขว้างจะได้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมด การละเล่น “เป่ากบ” เป็นการละเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้สายตา ความคิด และการอยู่ร่วมเล่นกับผู้อื่น รู้จักแพ้รู้จักชนะ โดยการเล่นเริ่มโดยการเป่ายิงฉุบใครชนะเริ่มเป่าก่อน ผู้เล่นจะเอายางมาวางคนละเส้นอยู่ห่างกันประมาณ 1ฟุต ผลัดกันเป่ายางของตนไปข้างหน้าทีละนิดจนยางเส้นทั้งสองมาอยู่ใกล้กัน มาถึงจุดนี้ต่างฝ่ายต่างต้องเป่ายางของตนให้ขึ้นทับของอีกฝ่ายถึงจะเป็นผู้ชนะและยังได้ยางเส้นของผู้แพ้ไปครอบครอง

การเล่นหรือการละเล่นเป็นกิจกรรมทางกายที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก วิธีการเล่น ความสนุกในเวลาที่ได้เล่นร่วมกับกลุ่มเพื่อน เด็กจะได้ฝึกทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การใช้ปฏิภาณไหวพริบ และการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้รู้จักเรียนรู้กฎเกณฑ์ และกติกาการเล่น การปรับตัวเมื่ออยู่กับผู้อื่น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่น และมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาเหมาะสมตามวัย

เอกสารอ้างอิง

กิดานัล กังแฮ. (2561). เล่นแบบไทยๆ ก็เสริมพัฒนาการลูกได้. สืบค้น 12 กันยายน 2567, จาก https://www.hfocus.org/content/2018/02/15354

กุสุมาลี โพธิปัสสา. (2562). การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น. สืบค้น 26 มิถุนายน 2566, จาก file:///C:/Users/Acer/Downloads/8569-Article%20Text-12036-1-10-20200305%20(5).pdf

ณัฐนิชา ศรีละมัย. (2560). การเล่นส่งเสริมพัฒนาการในเด็กปฐมวัย. สืบค้น 26 มิถุนายน 2566, จาก http://164.115.41.60/excellencecenter/?p=193

ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์. (2558). ประเภทของการละเล่นไทย: พัฒนาเด็กปฐมวัย. สืบค้น 27 มิถุนายน 2566, จาก http://daratim54.blogspot.com/2015/03/blog-post.html

เมืองโบราณฉบับพิเศษ. (มปป). การละเล่นของเด็กไทย. สืบค้น 13 กันยายน 2567, จาก https://www.tungsong.com/thaiplay/ThaiGames.asp

เริงฤดี กมลคร. (2560). การละเล่นพื้นบ้านเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย. สืบค้น 27 มิถุนายน 2566, จาก http://www.thaischool1.in.th/_files_school/46102206/workteacher/46102206_1_20190715-114118.pdf

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. (2532).การละเล่นของเด็ก. สืบค้น 13 กันยายน 2567, จาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=13&chap=7&page=t13-7-infodetail06.html

hathairat0895. (2566). กิจกรรมการละเล่นของเล่นพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย. สืบค้น 27 มิถุนายน 2566, จาก https://anyflip.com/zntsu/upje/basic