การใช้เทคโนโลยี AI ในการสร้างนิทานสำหรับครูปฐมวัย

AI คืออะไร 

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือ เทคโนโลยีที่สามารถประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ สามารถเรียนรู้ และประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ ออกแบบ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน และสามารถคำนวณวิเคราะห์ข้อมูล แก้ปัญหา และตัดสินใจได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการเขียนโปรแกรมแบบดั้งเดิม 

AI ทำงานโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องมือ (Machine Learning) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักดังนี้ 1) การรวบรวมข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ กล้อง วิดีโอ เอกสาร และอื่นๆ 2) การประมวลผลข้อมูลนำข้อมูลที่รวบรวมมาประมวลผลทางคณิตศาสตร์ และสถิติเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล และสร้างรูปแบบ 3) การเรียนรู้จากข้อมูลที่ประมวลผล และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถือได้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ และกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน 

บทบาทของเทคโนโลยี AI กับการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนของครู

ในปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีกันอย่างแพร่หลาย ไม่เว้นแม้ในการใช้ AI ในการจัดการศึกษา เนื่องจากระบบ AI มาพร้อมกับกลไกการพัฒนาการศึกษาที่มาช่วยพัฒนา และส่งเสริมทักษะการศึกษาให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการเรียนรู้ จึงสามารถปรับแต่งหลักสูตร รวมไปถึงเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกับผู้เรียนในแต่ละระดับได้ จึงช่วยเพิ่มทักษะของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพได้ เรียกได้ว่าระบบ AI เป็นระบบที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้อย่างโดดเด่น และสามารถนำมาปรับคุณภาพการเรียนการสอนให้เข้ากับนักเรียนได้ดีที่สุด

และเป็นที่ทราบกันดีว่า งานของครูไม่ได้มีแค่งานสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาตนเอง การผลิตสื่อประกอบการสอน ดังนั้น เทคโนโลยี AI จึงมีบทบาทสำคัญกับการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนของครู สามารถเป็นผู้ช่วยจัดการงานต่าง ๆ ของผู้สอนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแผนการสอน การออกแบบสื่อการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

ในห้องเรียนปฐมวัย ครูก็สามารถนำเทคโนโลยี AI มาเป็นเครื่องมือหรือตัวช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กได้เช่นกัน  อย่างเช่น ในประเทศจีน ก็มีการใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชื่อว่า Keekoมาใช้ในห้องเรียนเพื่อช่วยคุณครูสอนเด็กอนุบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็กในนครดูไบมีการใช้ AI ช่วยในการเรียนรู้และพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับการเรียนรู้สำหรับเด็กแบบดั้งเดิม  สื่อสำหรับครูปฐมวัยที่หยิบใช้ได้บ่อยและกระตุ้นความสนใจของเด็กได้ดี คือ นิทาน  โดยครูสามารถประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ดังนี้ 

เทคโนโลยี AI ใช้สร้างนิทานสำหรับครูปฐมวัย

1. ChatGPT

รูปภาพประกอบด้วย สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, ตัวอักษร, กราฟิก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ChatGPT เป็น AI ที่ถูกฝึกฝนมาด้วยข้อมูลและข้อความจำนวนมาก สามารถตอบคำถามในภาษามนุษย์และแปลภาษาได้มากกว่า 100 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยด้วย แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าภาษาอังกฤษ ครูสามารถป้อนคำถามให้ช่วยแต่งนิทาน โดยใส่ข้อมูล เช่น อายุของเด็ก ตัวละคร เนื้อเรื่อง เนื้อหาสั้นหรือยาว จำนวนกี่บรรทัด แต่ข้อจำกัดคือ จะแสดงผลการตอบคำถามได้เฉพาะรูปแบบข้อความเท่านั้น ครูอาจต้องใช้เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์นิทานของตนเองต่อไป

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ Android และ ios

2. ImagineArt : AI Image Generator

รูปภาพประกอบด้วย มีสีสรร, ศิลปะ, กราฟิก, ออกแบบ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

เมื่อมีเนื้อเรื่องนิทานที่น่าสนุกแล้ว ลำดับต่อไป ก็ต้องสร้างภาพประกอบนิทานเพิ่มความสนใจ ความเพลิดเพลินใจ และความแปลกใหม่ให้กับเด็ก แนะนำแอปพลิเคชัน ImagineArt ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพวาด ภาพเหมือนจริง ภาพ 3 มิติ เหมาะที่จะใช้เพื่อสร้างภาพประกอบนิทาน เพียงป้อนคำสั่งด้วยคำพูดอธิบายเนื้อเรื่อง หรือตัวละครที่ต้องการ เช่น ลูกแมวกำลังเดินบนทางเท้า AI ก็จะสร้างภาพที่สวยงามให้ได้ในทันที 

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ Android และ ios

3. BOOK CREATOR

 BOOK CREATOR เป็นเว็บไซต์สร้างหนังสือนิทานออนไลน์ ที่รวมข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่สามารถจินตนาการได้ มีฟอนต์ให้เลือกถึง 50 แบบ สามารถเพิ่มรูปภาพ เพลงหรือวิดีโอลงในหนังสือได้ มีเครื่องมือปากกาช่วยให้ครูหรือเด็กวาดแต่งเติมนิทานให้สร้างสรรค์แสนสนุกได้และที่ยอดเยี่ยมมากคือ ครูสามารถบันทึกเสียงการเล่านิทานของตนเองลงไปได้อีกด้วย 

เว็บไซต์ https://bookcreator.com

 4. Canva

โปรแกรม canva คืออะไร พร้อมแนะนำฟีเจอร์และคู่มือการใช้ canva

Canva เว็บไซต์ผลิตสื่อยอดนิยมที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ครูสามารถค้นพบพลังของ AI ได้ในที่เดียว การใช้ Canva ในการสร้างนิทานนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิทานเป็นเล่ม โดยใช้เครื่องมือ Canva Docs ให้ AI ช่วยแต่งเนื้อเรื่องของนิทานให้เพียงแค่พิมพ์ข้อความบอกสิ่งที่ต้องการลงไป และจะเพิ่มรูปภาพให้น่าสนใจก็สามารถค้นหาและนำมาใช้ได้อย่างมากมาย หรือจากนิทานสร้างเป็นวิดีโอ เพิ่มการเคลื่อนไหวให้ตัวละคร เพิ่มเสียงเอฟเฟกต์ให้การฟังนิทานไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ก็ทำได้ง่าย ๆ 

แนะนำให้ครูสมัคร Canva pro สําหรับครู เพื่อให้ใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ครูสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ คลิป การสร้างนิทานโดย Canva ที่ https://www.youtube.com/watch?v=-rADhk6tW4A   และ https://www.youtube.com/watch?v=K4jFYqS9vkg&t=4s

ในยุค AI ครูปฐมวัยจะเตรียมพร้อมเด็กสำหรับอนาคตอย่างไร

เด็กในยุค AI พวกเขาเกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้พร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ครูปฐมวัยจึงต้องเตรียมพร้อมและสอนให้เด็กรู้จักใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมสำหรับโลกอนาคต ครูถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมกับสิ่งที่ต้องเจอในอนาคต เด็กต้องมีสมองไว มีกรอบแนวคิดแบบเติบโต (Growth mindset) เพื่อพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และที่สำคัญเป็นคนใจดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยมีแนวทางการส่งเสริมเด็ก ดังนี้ 

            1) ตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อโลกใบนี้ เพราะรู้สึกปลอดภัย และมั่นคงในใจ เด็กก็พร้อมที่จะออกไปเรียนรู้สิ่งรอบตัว และฝึกให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 

            2) เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย ในช่วง 6 ปีแรก เป็นช่วงวัยที่เด็กต้องฝึกใช้ร่างกายของตนเองให้เพียงพอในทุกด้าน ทั้งเดิน วิ่ง ปีนป่าย กระโดดโลดเต้น ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน ฝึกการใช้นิ้วมือผ่านการเล่น เช่น การปั้นแป้ง ขยำ ฉีก สัมผัส ระบายสีอิสระ ซึ่งจะช่วยให้สมองเด็กพัฒนาได้เต็มที่ นอกจากนี้ เด็กที่ได้ใช้ร่างกายเต็มที่ จะรู้จักตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ตามศักยภาพของตนเอง รู้จักประเมินตัวเองตามสถานการณ์ ได้ฝึกการควบคุม การยับยั้ง 

            3) ส่งเสริมให้เด็กได้คิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค เพราะสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการยืดหยุ่น และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในอนาคต 

            4) ส่งเสริมให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล ข้อความ หรือสถานการณ์ต่างๆ ผ่านการอ่านหนังสือ การเล่นเกมที่ต้องวางแผน หรือจำลองสถานการณ์ต่างๆ แล้วช่วยกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหา เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ถูก AI ครอบงำ หรือเชื่อข้อมูลจาก AI ทั้งหมดนั่นเอง

            5) ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้ความเป็นอิสระกับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้สงสัย ตั้งคำถาม และลองทำสิ่งใหม่ๆ รวมถึง ทำกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เช่น วาดรูป ประดิษฐ์สิ่งของ การแต่งนิทานสั้นๆ เด็กจะมีทักษะการดัดแปลงและผสมผสาน เพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาไม่ใช่แค่นำข้อมูลที่ได้จาก AI มาใช้เพียงอย่างเดียว

เทคโนโลยี AI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยปรับปรุงประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาความสามารถของเด็กให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบ AI ไม่ได้มาแย่งงานครู แต่เป็นระบบที่เข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยลดเวลาที่เสียไปกับการทำงานที่ต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล หรือการทำงานเอกสาร ระบบ AI เปลี่ยนการใช้เวลาในการทำงานกับข้อมูลจำนวนมาก ให้ทำได้สำเร็จโดยใช้เวลาอันน้อยนิดได้อย่างง่ายดาย

เอกสารอ้างอิง

Dynamic Intelligence Asia. (ม.ป.ป.). AI กับการศึกษา ตัวช่วยสุดอัจฉริยะ เพื่อมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ที่ดีกว่า. สืบค้น 26 กันยายน 2567 จาก https://www.dia.co.th/articles/ai-in-education/

Shero. (2024). 7 Free Storybook Creator Websites to Make Your Own Children’s Book Online. สืบค้น 26 กันยายน 2567 จาก https://fliphtml5.com/learning-center/th/7-free-storybook-creator-websites-to-make-your-own-childrens-book-online/