‘โรคอ้วนในเด็ก’ อีกเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก แต่ใหญ่มากเมื่อเกิดโรคเพิ่ม

   โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว หากรับประทานอาหารที่เหมาะสมและการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เด็กในวันนี้.. ก็สามารถเติบโตแข็งแรงและมีความสุข 

ปัจจัยส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก

  • มารดาอ้วน ซึ่งอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • คลอดทารกน้ำหนักมาก
  • กลายเป็นเด็กอ้วนในช่วง 2 ปีแรก ซึ่งเซลล์จะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้อ้วนง่าย
  • มีไขมันสะสมมากกว่าปรกติที่อายุ 5 ปี ปรกติวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับวัยอื่นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว
  • เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นวัยรุ่นอ้วน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นอ้วนจะอ้วนจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • ผู้ใหญ่อ้วนมีโรคแทรกซ้อนมาก
  • ถ้ามีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือผิดปรกติอื่น เมื่อผ่านไป 10 ปีก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

คำแนะนำเพื่อป้องกันวงจรของโรคอ้วน   

  • สตรีที่มีน้ำหนักมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากในระหว่างตั้งครรภ์
  • ทารกควรได้รับนมมารดาจนถึงอายุ 6 เดือน เป็นอย่างน้อย ทารกที่ดื่มนมผสมก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูงกว่าทารกที่ดื่มนมแม่ถึง 2 เท่า
  • ทารกควรได้รับอาหารเสริมหลังอายุ 4-6 เดือน เพราะการเริ่มอาหารเสริมก่อน 4 เดือน มีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากกว่า
  • เมื่อพบว่าทารกเริ่มมีน้ำหนักขึ้นเร็ว ไม่เป็นสัดส่วนกับความสูง ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากทารกที่มีน้ำหนักเกินใน 2 ขวบปีแรกจะมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมมากทำให้อ้วนง่าย
  • ที่อายุ 5 ปี เด็กควรมีสัดส่วนที่พอดี เนื่องจากหลังจากนี้ร่างกายจะสะสมไขมันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หากมีไขมันเกินที่อายุ 5 ปีจะทำให้อ้วนง่าย
  • ถ้าภาวะน้ำหนักเกินล่วงเลยมาจนถึงวัยรุ่นแล้ว การลดน้ำหนักจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งครอบครัว และต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันให้มีความสมดุลย์ระหว่างพลังงานที่ได้รับจากอาหารและพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการป้องกันได้ผลดีกว่ามาก เพราะการลดน้ำหนักมักทำได้ชั่วคราว 80-90% ของผู้ที่ลดน้ำหนักได้ มักจะกลับไปมีน้ำหนักเท่าเดิมอีกในเวลาต่อมา

ข้อมูลเพิ่มเติม Source: https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/161
© โรงพยาบาลรามคำแหง – แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางครบทุกสาขา

เอกสารอ้างอิง

1.สุนทรี รัตนชูเอกและคณะ. (2567). แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในเด็ก (ฉบับแก้ไขครั้งที่ 2) : ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.

2. American Academy of Pediatrics. (2014). Chapter 34. In Pediatric Nutrition (7th ed.).

3. Ross, A. C., et al. (2014). Chapters 48, 58, 65. In Modern Nutrition in Health and Disease (11th ed.).