เพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนสำหรับการมีบุตร คุณแม่และครอบครัวควรรู้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้
1) สิทธิค่าฝากครรภ์
สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประกันสังคมจะจ่ายค่าฝากครรภ์ให้คุณแม่โดยปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท (จากเดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท) ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
สำหรับคุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ สามารถรับสิทธิ์จากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองซึ่งสามารถฝากครรภ์ และรับบริการในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้ฟรี และเสียค่าใช้จ่าย 30 บาท สำหรับการตรวจครรภ์และการคลอดบุตร (ไม่เกิน 2 ครั้ง) แต่ถ้าคุณแม่ประกอบอาชีพอิสระ และสมัครใจเข้าจ่ายประกันสังคม คุณแม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรได้
2) สิทธิการลาคลอดบุตร
ปัจจุบันคุณแม่สามารถลาคลอดได้นานถึง 98 วัน ซึ่งนับรวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยแบ่งเป็นลาคลอดบุตร 90 วัน และลาเพื่อไปตรวจครรภ์อีก 8 วัน รวมเป็น 98 วัน
โดยสิทธิประกันสังคมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 7) ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย และให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอดบุตรจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน ส่วนอีก 8 วันที่เหลือไม่ได้มีการระบุว่าใครจะต้องเป็นคนจ่าย ดังนั้น นายจ้างและประกันสังคมมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างในอีก 8 วันที่เพิ่มมาโดยไม่มีความผิด จึงเห็นได้ว่าจำนวนวันลา 8 วันที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมเสนอปรับแก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน ซึ่งจะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้นจากสิทธิเดิม ทั้งนี้ ในกรณีใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
ในขณะที่ สิทธิข้าราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 สามารถลาคลอดบุตรครั้งหนึ่งได้ 90 วัน จะลาในวันที่คลอด ก่อนหรือหลังคลอดก็ได้ แต่รวมแล้วไม่เกินระยะเวลา 90 วัน (นับต่อเนื่องรวมวันหยุดราชการ) โดยมีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาไม่เกิน 90 วัน รวมทั้งพนักงานราชการสามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ โดย 45 วันรับจากส่วนราชการ และอีก 45 วันรับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่รับเงินเดือน
สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจหญิงมีสิทธิลาคลอดบุตรจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ หากประสงค์จะลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำงาน โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5)
นอกจากนี้ สามีที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานราชการยังสามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ซึ่งลาได้ครั้งหนึ่งติดต่อกันไม่เกิน 15 วันทำการ การลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลาไม่เกิน 15 วันทำการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้น 30 วันนับแต่ภรรยาคลอดบุตร จะไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลา ส่วนสามีที่เป็นพนักงานเอกชน กฎหมายลาคลอดยังไม่มีการบังคับใช้กับภาคเอกชน ดังนั้น สวัสดิการลาคลอดของผู้ชายจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร ว่าองค์กรใดมีสวัสดิการในส่วนนี้สำหรับพนักงานชายที่ประสงค์จะลาคลอดเพื่อดูแลภรรยาและบุตรหรือไม่
3) สิทธิค่าคลอดบุตร
การเบิกสิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร คุณแม่ที่มีสิทธิ์ในการเบิกจะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือน ก่อนการคลอดบุตร โดยประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายในกรณีคลอดบุตร ในอัตรา 15,000 บาท จากเดิม 13,000 บาท หากคุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิการเบิกค่าคลอดบุตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และจำนวนครั้ง
สิทธิข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจครรภ์ ค่าคลอดบุตรและการดูแลหลังคลอดบุตร ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
4) สิทธิค่าสงเคราะห์บุตร
นอกจากคุณแม่จะสามารถเบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้แล้ว คุณแม่ยังสามารถเบิกค่าสงเคราะห์บุตรได้อีกด้วย โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เป็นผู้ประกันสังคม ตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39
2. ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
3. ประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น และผู้ประกันตน ตามมาตรา 40ทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 200 บาท
4. บุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับค่าช่วยเหลือบุตรเป็นรายเดือน โดยปรับจากเดือนละ 50 บาท เป็นเดือนละ 200 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับบุตรคนที่ 1 ถึงคนที่ 3 จนกว่าบุตรจะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
5) สิทธิในการลดหย่อนภาษี
สิทธิในการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายใช้สิทธิได้เท่าจำนวนบุตรจริงคนละ 30,000 บาท กรณีบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียวได้สูงสุด 3 คน ๆ ละ 30,000 บาท และค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนเพิ่มคนละ 60,000 บาท รวมถึงมารดาที่กำลังตั้งครรภ์สามารถนำค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท ต่อปี แต่สำหรับการตั้งครรภ์ลูกแฝดจะยังนับเพียงท้องเดียว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตร ได้แก่
1. เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด (แรกเกิด – 6 ปี)
เป็นโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะช่วยเหลือเงินให้กับผู้ปกครองจำนวน 600 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพียงการลงทะเบียนครั้งเดียว (ยกเว้นมีลูกเพิ่ม) โดยให้ผู้ปกครองลงทะเบียนเพื่อยื่นขอรับเงินและจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงผู้ลงทะเบียนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
ผู้ปกครอง : มีสัญชาติไทย เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
เด็กแรกเกิด : มีสัญชาติไทย เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐและเอกชนโดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้จากทางเว็บไซต์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน (แรกเกิด – 18 ปี, 20 ปี)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือเงินให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและเดือดร้อนด้านการเงินจนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารายครั้งแก่เด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ หรืออยู่ระหว่างการศึกษาอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ที่อยู่ในครอบครัวยากจน ประสบปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก เช่น กำพร้า ยากจน พิการทางร่างกาย สมองและปัญญา หรือจิตใจ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองถูกจำคุก กักขัง พิการ และทุพพลภาพ ป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้
โดยการช่วยเหลือจะแบ่งได้ดังนี้
- เงิน ได้รับเงินช่วยเหลือครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กหนึ่งคน และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่าหนึ่งคน
- สิ่งของ (เครื่องอุปโภคบริโภค) วงเงินไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กหนึ่งคน และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่าหนึ่งคน
- ทั้งเงินและสิ่งของ วงเงินไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กหนึ่งคน และไม่เกิน 3,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกินกว่าหนึ่งคน
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน ในอัตราและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด