แม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด‑19

ภาพ: http://phichit.go.th/phichit/index.php/phichit-today-all/10651-64081303

จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2565 กล่าวว่า สถิติของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ทำให้คนในกลุ่มอายุอื่นไม่ค่อยวิตกเท่าใดนัก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น หรือแม้แต่หญิงตั้งครรภ์เองในช่วงต้นของการระบาดก็ไม่ถูกนับว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แม้ในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดในวงกว้างในระลอกแรกก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก และมีรายงานว่าความรุนแรงไม่เท่ากับซาร์ส และเมอร์ส จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2564 กรมอนามัยได้เปิดเผยตัวเลขหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด 2,327 คน และเสียชีวิต 53 คน ซึ่งต่อมาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้แถลงว่าพบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และมีรายงานการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 ใน 3 ไม่แสดงอาการ ดังนั้นอาจทำให้รู้ตัวช้า คนที่อาการรุนแรงมักจะน้ำหนักเกิน อายุมาก หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ส่วนโอกาสที่จะส่งเชื้อไปถึงลูกมีเพียงร้อยละ 2-5 หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 15.13 อาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มักปรากฏในกลุ่มที่ติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยอาจจะต้องนอนห้อง ICU ใช้เครื่องช่วยหายใจ และส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 16 ตุลาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4,778 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 95 คน และพบว่ามีทารกติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 226 คน และเสียชีวิตในครรภ์ 46 คนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปพบว่าติดเชื้อมากที่สุด

จากข้อมูลในกระดานสนทนาของพันทิปพบว่า มีหญิงตั้งครรภ์เข้าไปสอบถามและแสดงความกังวลต่อการรับวัคซีนโควิด-19 และพบว่ามีข้อแนะนำจากผู้มาตอบกระทู้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว บอกว่าฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ไม่มีผลข้างเคียงเด็กในครรภ์ปกติและแข็งแรงดี แนะนำให้รีบไปฉีด ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มคนทั่วไปซึ่งมีทั้งที่แนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีน เพราะไม่มีผลกระทบใด ๆ และมีบางคนที่อ้างว่า ให้หญิงตั้งครรภ์เลี่ยงการฉีดวัคซีน เพราะไม่มีผลการวิจัยรองรับว่าปลอดภัยจริงหรือไม่ ยิ่งทำให้ทั้งหญิงตั้งครรภ์ และทุกคนในครอบครัวสับสนคลางแคลงใจ และวิตกกังวลเนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 234 รายในเดือนมิถุนายน เป็น 819 ราย และเป็น 1,506 รายในเดือนสิงหาคม ขณะที่มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมจำนวน 14 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 47 รายในเดือนสิงหาคม

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดแนวทางดูแลหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทันท่วงที ได้แก่

  1. ให้ทุกโรงพยาบาลที่รับดูแลหญิงตั้งครรภ์เกิน 10 สัปดาห์ ติดตามให้มารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์
  2. กรณีคลอดบุตรและกลับบ้าน ให้โรงพยาบาลติดตามมารับวัคซีนในระยะให้นมบุตร
  3. ให้สถานพยาบาลรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะคลอดฉุกเฉินมารักษาและส่งต่อเช่นเดียวกับระบบการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อื่น ๆ
  4. หากเกิดการคลอดฉุกเฉิน ให้ส่งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่ใกล้ที่สุด

นอกจากนี้ กรมอนามัย ได้เสนอที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) พิจารณาออกข้อบังคับให้หญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่หญิงตั้งครรภ์ในการสัมผัสโควิด-19 อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). สุขภาพคนไทย 2565 : ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19. สืบค้น 2 มกราคม 2566, จาก : https://shorturl.asia/whU6e
  • สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). สุขภาพคนไทย 2565 : ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).