สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว

สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

เด็กในวัยเรียนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอยหลังนโยบายการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด

รัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ตั้งแต่ปี 2020-2022 โดยเป็นการปิดสถานศึกษาทุกพื้นที่รวม 16 สัปดาห์และปิดบางพื้นที่รวม 53 สัปดาห์ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ – ทักษะอ่าน เขียนและคำนวณ ด้านพัฒนาการ – ทักษะทางร่างกายและความสามารถในการจดจำ รวมถึงด้านอารมณ์และสังคม ทำให้เด็กมีความเครียดและขาดทักษะการสื่อสาร

จากสถานการณ์ในข้างต้นจะเห็นได้ว่า เด็กทุกช่วงวัยมีแนวโน้มเรียนช้าลง โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยในช่วงอายุ 2-7 ปี ที่ได้พลาดช่วงโอกาสทองในการพัฒนาสมองส่วนหน้า (EF) อันจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว ทำให้สูญเสียความสามารถในการหารายได้ทั้งชีวิต คิดเป็นมูลค่าทั้งชีวิตราว 850,000 บาท รวมไปถึงนักเรียนจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบและอาจจะกลับเข้ามาได้ยาก โดยเฉพาะในครอบครัวเปราะบาง ในปี 2021 มีเด็กที่หลุดออกจากระบบ 2.3 แสนคน มีเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น และในจำนวนเด็กนักเรียนยากจนพิเศษดังกล่าว ร้อยละ 14.6 ตัดสินใจไม่กลับมาเรียนต่อ

จึงกล่าวได้ว่า การปิดโรงเรียนแม้เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็สร้างความสูญเสียทางการเรียนรู้มหาศาลให้กับเด็กและเยาวชนไทย หากเกิดโรคระบาดอีกครั้งในอนาคต รัฐบาลควรดำเนินมาตรการนี้เฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงเท่านั้น หรืออาจให้อำนาจท้องถิ่นประเมินและพิจารณาปิดโรงเรียนในพื้นที่ด้วยตนเอง แทนการออกคำสั่งปิดทุกพื้นที่โดยรัฐบาล ก็จะช่วยแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบของเด็กในบางพื้นที่ได้มากขึ้น

เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือ

ผลจากการวิกฤตโรคระบาด ทำให้ห้องเรียนในโลกจริงถูกโยกย้ายไปยังโลกออนไลน์ เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะใช้ในการเรียน ทำงาน และสื่อสาร เร็วและนานมากขึ้น  โดยผู้ปกครองเริ่มให้เด็กอายุเพียง 2-3 ปีใช้สื่อดิจิทัล และเยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลาผ่านหน้าจอเฉลี่ยสูงถึง 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชนไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลโดยขาด 2 ฐานสำคัญ ได้แก่

(1) ฐานทักษะ เยาวชนไทยขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล หรือที่เรียกว่า (MIDL) โดยให้คะแนนประเมินตนเองว่ามีทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ เครื่องมือดิจิทัลเฉลี่ยทั้งประเทศ 3.23 (คะแนนเต็ม 5) และทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล 3.27 (คะแนนเต็ม 5) ทั้งนี้ คะแนนมีแนวโน้มลดต่ำลงตามระดับรายได้ครอบครัว และปัญหาน่ากังวลคือ ครูและผู้ปกครอง โดยเฉพาะในครอบครัวข้ามรุ่นมีทักษะจำกัดในการเข้าไปช่วยสนับสนุนเด็กและเยาวชน

(2) ฐานอุปกรณ์ เด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีมีร้อยละ 2.1 เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 42.8 ของครัวเรือน ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงใช้ ส่วนใหญ่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตในมือถือเฉลี่ย 453 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างสูงคิดเป็นร้อยละ 13.8 ของรายได้ต่อหัวประชากร อีกทั้งครัวเรือนจำนวนมากเผชิญเรื่องจำนวนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเยาวชนในบ้าน

ดังนั้นการผลักเด็กและเยาวชนให้เข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือที่เพียงพออาจส่งผลร้ายในระยะยาวต่อตัวเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กถูกตัดขาดออกจากปฏิสัมพันธ์ในโลกจริง เพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและผลิตซ้ำข้อมูลเท็จ รวมไปถึงส่งผลให้เด็กต้องเผชิญปัญหาเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อสายตา สติปัญญา อารมณ์และบุคลิกภาพของตัวเด็กได้ในอนาคต

สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว

เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น

โรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องระดมสรรพกำลังในการแก้ปัญหา ดำเนินนโยบายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อชะลอความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นั่นส่งผลให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญ จำกัดการเข้าถึง และมีประสิทธิภาพในการบริการที่ต่ำลง

เด็กและครอบครัวเข้ารับบริการสุขภาพได้ยากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยปัจจัยด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ขาดแคลน ข้อจำกัดในการเดินทางมาเข้ารับบริการ รวมถึงความกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชน จากข้อมูลพบว่า เด็กอายุ 1 ปีในช่วงไตรมาส 4/2019 มีอัตราการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ราวร้อยละ 10.8 ขณะที่เด็กอายุ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ในอัตราที่ช้าลงในช่วงระลอกที่ 3 ของการแพร่ระบาดในปี 2021 นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ยังเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกลดลงในไตรมาส 3/2021 และอัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลสุขภาพก่อนกำหนดคลอดครบตามเกณฑ์จากร้อยละ 79.5 ในไตรมาส 4/2020 ลดลงเป็นร้อยละ 56.1 ในไตรมาส 3/2021

ไม่เพียงเท่านั้น การปิดบริการสาธารณะอย่างโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งอาหารกลางวันให้กับเด็กในครัวเรือนเปราะบางในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เผชิญภาวะทุพโภชนาการ โดยในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณเด็กสูงดีสมส่วนในช่วงอายุ 6-14 ปีลดลงราวร้อยละ 5

โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญความท้าทายทางด้านโครงสร้างประชากร ปรากฏการณ์ ‘เกิดน้อย อายุยืน’ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรก และเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (aged society) เร็วที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เมื่อสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ครอบครัวไทยตัดสินใจมีลูกน้อยลงจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไปนำไปสู่ขนาดครอบครัวไทยเล็กลงอย่างต่อเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวราว 5-6 คนในช่วงปี 1990 เหลือเพียง 2.4 คนในปี 2020 นอกจากนี้ เดิมทีสังคมไทยมีเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพังอายุต่ำกว่า 18 ปีมากถึง 5,594 คน และมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อีก 4,978 คน แต่จากวิกฤตโรคระบาดได้พรากชีวิตของผู้ปกครองหลายครัวเรือน ทำให้เกิดเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน 448 คนซึ่งในจำนวนนี้ 157 คนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป เด็กย่อมได้รับผลกระทบหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ถูกทอดทิ้งขาดการดูแลทั้งร่างกายและพัฒนาการอย่างเหมาะสม  ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการสูญเสีย ขณะที่เด็กไทยในครอบครัวข้ามรุ่นก็เผชิญความเปราะบางยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากับครัวเรือนแบบอื่น และมีความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ปกครองในครัวเรือนมากกว่า

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.the101.world/7-trends-youth-by-kid-for-kids/

เอกสารอ้างอิง

  • กองบรรณาธิการ. (2565). 7 แนวโน้มเด็กและเยาวชนไทยในวิกฤตเหลื่อมล้ำ โรคระบาดและการเมือง. สืบค้น 19 ตุลาคม 2565, จาก https://www.the101.world/7-trends-youth-by-kid-for-kids/