สุขภาวะเด็กแรกเกิดในไทยน่าเป็นห่วง
4 สัปดาห์แรกของชีวิตคือช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของเด็กแรกเกิด อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน (Neonatal Mortality Rate – NMR) เป็นเครื่องติดตามสถานการณ์สาธารณสุขด้านแม่และเด็กที่ถูกใช้ทั่วโลก แม้ NMR ของไทยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และบรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (น้อยว่า 12 ต่อทารก 1,000 คน) แต่แทนที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 8 ปีมานี้ NMR ของเด็กไทยกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราทารกแรกเกิดไร้ชีพ
(still birth) และเด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย กล่าวคือท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงอยู่แล้ว สุขภาวะของสตรีตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิดก็ยังถดถอยลงด้วย
ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ลืมตาดูโลก
ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลดลงอย่างมาก จากราว 11 รายต่อทารก 1,000 คนใน พ.ศ. 2545 เหลือเพียงราว
4 รายต่อทารก 1,000 คนในปัจจุบัน กระนั้นความเหลื่อมล้ำภายใต้ตัวเลขนี้ก็นับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นฐานที่จะมีชีวิตรอดปลอดภัยนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก กระทั่ง
ในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงพบว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำภายในไม่ลดลงหรือกระทั่งถ่างกว้างออก ทารกที่เกิดในครอบครัวผิวดำในอังกฤษมีโอกาสรอดชีวิตถึงวันเกิด 1 ขวบเพียงครึ่งเดียวของทารกผิวขาว ทารกในครอบครัวชนพื้นเมืองออสเตรเลียเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลันหรือไหลตายมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นมากกว่า 3 เท่า งานวิจัยในสหราชอาณาจักรพบว่า เมื่ออัตราการเสียชีวิตของทารก (Infant Mortality Rate) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง พ.ศ. 2556-2560 ความสูญเสียเพิ่มขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ยากจนซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้นอีก
ในประเทศไทย นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในนาม “30 บาทรักษา
ทุกโรค” มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นฐานที่สุดนี้ มีงานวิจัยที่เสนอว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงทันทีร้อยละ 13-30 ในปีแรกของการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม การศึกษา
ผลการดำเนินงานระยะยาวใน พ.ศ. 2557 พบว่าความเหลื่อมล้ำลดลงในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
แต่กลับยิ่งถ่างกว้างออกมากที่สุดในเด็กเล็กวัย 0-4 ขวบ กล่าวคือเด็กเล็กได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้น้อยที่สุด แม้ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจะลดลงอย่างต่อเนื่องในภาพรวม แต่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ความเศร้าตรมนี้ยังคงได้รับการบรรเทาลงอย่างเชื่องช้า
ตัวเลขอย่างเป็นทางการของไทยมีค่าต่ำกว่าการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บข้อมูลสถิติไม่ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล เช่น เด็กบางรายอาจเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการแจ้งเกิด แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งจึงอาจเป็นผลของการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) ที่ครอบคลุมและสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นด้วย การมีข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้นทำให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนนี้ อย่างไรก็ดี มาตรการที่ได้ประกาศออกมา เช่น การเพิ่มจำนวนครั้งฝากครรภ์ฟรีจาก 5 เป็น 8 ครั้ง อาจยังไม่เพียงพอต่อการพลิกสถานการณ์ที่น่ากังวลนี้
ช่องว่างของสวัสดิการเด็กเล็ก
หากพิจารณานโยบายสวัสดิการและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กของไทย จะพบว่าเต็มไปด้วยโครงการแนะนำวิธีการเลี้ยงดู ส่งเสริมภาวะโภชนาการ และติดตามพัฒนาการเด็กโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากวัยแรกเกิดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่เด็กจะมีพัฒนาการสมบูรณ์
แข็งแรงในระยะยาว ทว่าสวัสดิการที่จะสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กวัย 0-2 ปีให้เป็นไปได้จริงตามคำแนะนำเหล่านั้นมีน้อยมาก และหากมีก็ครอบคลุมประชากรจำนวนน้อยมากเช่นกัน นโยบายส่งเสริมการตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการของกระทรวงแรงงานซึ่งร่วมกับมาตรการลดหย่อนภาษีให้นายจ้างของกระทรวงการคลัง นำมาสู่การจัดให้มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการได้เพียง 96 แห่งใน พ.ศ. 2565
การเลี้ยงดูเด็กอ่อนวัยก่อนอนุบาลหรือก่อนถึงเกณฑ์เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเป็นห้วงเวลาที่ครอบครัวไทยต้องดิ้นรนและช่วยเหลือกันเอง การอุดช่องโหว่นี้อาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ ขยายสิทธิลาคลอดและวันลาเลี้ยงลูกให้ครอบคลุมช่วงวัยดังกล่าว เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้เพียงพอและถ้วนหน้า ไปจนถึงจัดสวัสดิการในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น อุดหนุนเป็นของใช้จำเป็นให้กับแม่แรกคลอด
ตัวเลขการเสียชีวิตของทารกเพียง 1 คน หรือช่วงเวลาในการสร้างพัฒนาการที่เด็กคนหนึ่งพลาดโอกาสไป เป็นความสูญเสียที่ประเมินไม่ได้ ชดเชยให้ไม่ได้ไม่ว่าด้วยวิธีใด ปัญหาข้างต้นนี้จึงควรถูกผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน ต้องมีการยื่นมือเข้าช่วยเหลือทุกครอบครัวอย่างทันท่วงทีและทั่วถึง