ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ: เพื่อเด็กทุกคนในประเทศไทยได้เติบโตอย่างเท่าเทียม

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (Multiple Indicator Cluster Survey – MICS) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ ได้ทำการสำรวจครัวเรือนถึง 34,000 ครัวเรือนในปี พ.ศ. 2565 โดยเป็นการสำรวจสถานการณ์ของเด็กและสตรีในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เข้าใจโครงสร้างทางสังคมที่หลากหลายของไทยผ่านการสำรวจประเด็นที่สำคัญ เช่น สาธารณสุข พัฒนาการของเด็ก การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก อีกทั้งยังเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการใช้ข้อมูลหลักฐานเพื่อวางแผนกำหนดนโยบายและการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยั่งยืนได้

โดยรายงานเล่มนี้ได้แสดงการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะใน 12 ด้าน ประกอบไปด้วย โภชนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การรับวัคซีน พัฒนาการของเด็กปฐมวัย การดูแลและการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ การเข้าเรียนในโรงเรียน การเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ระเบียบวินัยสำหรับเด็ก การคลอดในวัยรุ่น การแต่งงานของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และการคุ้มครองทางสังคมของเด็กไทยในแง่มุมต่าง ๆ