“เตรียมตัวให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์
สามารถลดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้”
ความสุขที่สุดในชีวิตของผู้หญิงหลาย ๆ คน คือ การมีลูก แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะสามารถ
มีลูกได้ดั่งใจหวัง บางคนพบความสุขสมหวัง บางคนพบความผิดหวัง จึงต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์หลากหลายวิธี สามารถทำได้ ดังนี้
การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
เริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวของคุณแม่ คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นรับประทานวิตามิน แร่ธาตุให้หลากหลาย โดยเฉพาะกรดโฟลิคตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 1 เดือน ไปจนถึงระยะ
ตั้งครรภ์ 3 เดือน ในปริมาณวันละ 400 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด
โรคความพิการทางสมองของทารก การงดพฤติกรรมเสี่ยงของตัวคุณแม่ อาทิเช่น การสูบบุหรี่
การดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมาก และการใช้สารเสพติด นอกจากนี้
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ การนับรอบประจำเดือนเพื่อช่วยในการคำนวณการตกไข่ และการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็นการเตรียมตัวที่สำคัญเช่นกัน
การตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
ในช่วง 3 เดือนแรก คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างชัดเจน คือ ประจำเดือน
ไม่มาตามกำหนด เต้านมคัดและมีขนาดใหญ่ขึ้น รู้สึกเหนื่อย เพลีย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ท้องผูก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ มีตกขาวเพิ่มขึ้น บางรายอาจจะมีอาการเลือดออกเล็กน้อยเนื่องจากตัวอ่อน
ฝังตัว และจะมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจจะเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ได้
ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์ครบ
3 เดือน และในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก มีอวัยวะครบถ้วน เริ่มมีการเคลื่อนไหวขยับแขน ขา ศีรษะ อ้าปาก และหุบปากได้ แต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึก เนื่องจากลูก
ยังมีขนาดเล็กอยู่
การปฏิบัติตัวเมื่อตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ การดูแลทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะในช่วงของการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ คุณแม่ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการไปฝากครรภ์ คุณแม่และลูก จะได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกัน
และช่วยวินิจฉัยโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เน้นอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง ซึ่งจะพบในไข่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม บรอกโคลี
และหน่อไม้ฝรั่ง พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลูกไก่ ถั่วเขียว ผลไม้ เช่น อะโวคาโด มะละกอ และมะม่วง
โฟลิคมีความจำเป็นกับทารกเพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ และสร้างเซลล์สมอง คุณแม่ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และดูแลสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ เพราะสามารถส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
การเริ่มต้นของการเป็นแม่ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ปลายทางคือ ความสุขที่ไม่มีสิ่งใด
จะเปรียบได้ วินาทีที่คุณแม่ได้ยินเสียงลูกน้อยและได้อุ้มเขาครั้งแรก คุณแม่จะลืมอุปสรรคต่าง ๆ หมดสิ้น ขอเป็นกำลังใจให้ว่าที่คุณแม่และคุณแม่ทุกคนด้วยนะคะ