รับมืออย่างไร เมื่อลูกเกิด “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” (Learning Loss)

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้สร้างบาดแผลให้กับทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่มีความจำเป็นต้องปรับการเรียนการสอนทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบ
ของออนไลน์ ทำให้เด็กต้องเรียนรู้ผ่านหน้าจอ ส่งผลให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ที่จำเป็น
มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสียไป ซึ่งวิธีการเรียนรู้
ดังกล่าวจะนำมาสู่วิกฤต “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” หรือ Learning Loss ได้ในที่สุด

เด็กปฐมวัยต้องสูญเสียทักษะใดบ้างใน “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย”

สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัยของไทยนั้น  “ภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่
ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เด็กปฐมวัยที่ควรได้รับการพัฒนาในทักษะด้านต่าง ๆ ต้องเผชิญกับปัญหา
อย่างรุนแรง เด็กต้องสูญเสียทักษะในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านปฏิสัมพันธ์และการเข้าสังคม เมื่อเด็กต้องเรียนรู้เพียงลำพังที่บ้าน ทำให้เด็กไม่ได้
มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครูเท่าที่ควร เมื่อถึงวันที่ต้องไปโรงเรียนเด็กอาจเกิดภาวะกลัวการไปโรงเรียนขึ้นมาได้

2. ด้านภาษาและการสื่อสาร เมื่อเด็กต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านมักจะไม่ได้คุยกับใคร
ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครูหรือกับเพื่อน เมื่อต้องกลับเข้าสู่โรงเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้
และศักยภาพในการใช้ภาษาของเด็กก็จะลดลงตามไปด้วย

3. ด้านระเบียบวินัย เนื่องจากตอนที่ยังไปโรงเรียนนั้น เด็กจะถูกฝึกระเบียบวินัยจากที่โรงเรียน
และเมื่อเด็กมีวินัยทำตามกฎของห้องเรียนเด็กก็จะได้รับคำชม ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ
แต่เมื่ออยู่ที่บ้านเด็กจะขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติตามระเบียบวินัย เพราะไม่มีแรงจูงใจจากเพื่อน ๆ
หรือจากครู และหากไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย   เมื่อโตไปเด็กก็จะเป็นคนไร้ระเบียบ
ทำอะไรตามใจตนเอง ไม่ทำตามกฎของสังคม

4. ด้านการเรียนรู้ เมื่อต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านเป็นเวลานาน จะทำให้ความกระตือรือร้น
ในการอยากเรียนรู้ของเด็กลดลง เพราะเด็กไม่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ส่งผลให้เด็ก
อาจมีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ช้าลงตามไปด้วย

ผู้ปกครองต้องรับมืออย่างไร เมื่อลูกเกิด “ภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอย”

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองตามวัย เสียโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อทักษะ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง อาจจำเป็นต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเด็ก ด้วยการชวนเด็กทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
ผ่านการเล่นหรือทำกิจกรรมที่เด็กสนใจ เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ และเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ
ที่เด็กขาดหายไปในช่วงที่เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน โดยกิจกรรมที่ผู้ปกครองสามารถทำเพื่อช่วยเสริมทักษะให้แก่เด็กๆ นั้น มีดังนี้

1. พาเด็กออกไปเล่นนอกบ้าน โดยธรรมชาติของเด็กจะชื่นชอบการได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านหรือที่สนาม เป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ปกครองควรหาโอกาสพาเด็ก ๆ ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน หรือที่
สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้บ้าน จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด การเล่นนอกบ้านของเด็กนั้น ควรเป็นการเล่นแบบอิสระ คือให้เด็กได้วิ่งเล่นในพื้นที่ที่มีความกว้างขวางและปลอดภัย ซึ่งการเล่นแบบอิสระนี้ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กล้าตัดสินใจ และฝึกการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ได้

2. อ่านหนังสือร่วมกันกับเด็ก หนังสือคือประตูสู่โลกกว้างสำหรับเด็ก เพราะเรื่องราวที่เด็ก
ได้ฟัง ได้อ่านจากหนังสือจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นความคิด จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
ของเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองควรหาเวลาว่างระหว่างวัน หรือช่วงเวลาก่อนเข้านอน อ่านหนังสือร่วมกับเด็ก ๆ โดยหนังสือที่แนะนำคือหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาสนใจ เช่น หนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูน หนังสือภาพความรู้ต่าง ๆ ฯลฯ และในขณะที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
ควรชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือที่อ่านไป เพื่อเป็นการเสริมสร้างจินตนาการแก่เด็ก
และเป็นการฝึกให้เด็กจับใจความสำคัญของเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ได้อ่านไปด้วย

3. พาเด็กออกไปพบปะเพื่อนหรือผู้คนในที่สาธารณะ การเข้าสังคมเป็นทักษะจำเป็นที่เด็กควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนา เมื่อเด็กได้เข้าร่วมสังคม ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องการควบคุมตนเอง และการทำหน้าที่ตามบรรทัดฐานของสังคม เรียนรู้เรื่องกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน ทั้งยัง
ฝึกทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ดังนั้นผู้ปกครองควรหาโอกาสพาเด็ก ๆ ให้มาพบกันแล้วปล่อยให้พวกเขาเลือกทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอิสระ เพราะเป้าหมายของกิจกรรมนี้ ก็เพื่อให้เด็ก ๆ
ได้เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันได้ด้วยตัวเอง

4. สร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันกับเด็ก ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ที่ผ่านมา ประกอบกับภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้ปกครองและเด็กไม่มีโอกาสได้ออกไปทำกิจกรรมร่วมกันมากนัก ดังนั้นหากมีโอกาส ลองชวนเด็ก ๆ ออกไปทำกิจกรรมนอก เช่น แคมป์ปิ้ง กางเต็นท์ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือสมัครเรียนทำกิจกรรมที่ได้ลงมือทำจากของจริง เช่น ปั้นดิน วาดรูป ประดิษฐ์ ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์อันล้ำค่าระหว่างตัวเด็กกับผู้ปกครอง นอกจากนั้น
การที่ได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวพัฒนาไปในทิศทางที่ดีอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร. (2564). ภาวะความรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ CEO Starfish Education. สืบค้น 3 มกราคม 2566, จาก : https://shorturl.asia/4tDPg

รักลูก. (2565). Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกเกิด Learning Loss. “. สืบค้น 3 มกราคม 2566, จาก : https://www.rakluke.com/child-development-all/kid-development/item/learning-loss.html

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2565). สุขภาพคนไทย 2565 : ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

OBEC Channel. (2564). ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss).  สืบค้น 3 มกราคม 2566, จาก :  https://youtu.be/zvM1h2CyfIE