การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยทารก

วัยทารก เป็นช่วงวัยเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ซึ่งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ในแต่ละเดือนลูกจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการเร็ว หรือช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ ผู้ปกครองจึงควรคอยสังเกตพัฒนาการลูกอย่างใกล้ชิด
หากพบความผิดปกติเราจะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขได้ทันเวลาดังนั้นผู้ปกครองจึงควรเรียนรู้พัฒนาการและวิธีส่งเสริมพัฒนาการของลูก ดังนี้

พัฒนาการวัยแรกเกิด – 1 เดือน :สามารถมองหน้า สบตา ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างอัตโนมัติ  พลิกคอซ้ายขวาได้ และสามารถขยับแขนขาทั้งสองข้างได้

วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ :มองสบตา และพูดคุย เล่นกับลูก อุ้มสัมผัสลูกบ่อย ๆ ให้ลูก
นอนหงายเพื่อให้ลูกสามารถขยับแขนขาได้อย่างอิสระ และไม่ควรใส่ถุงมือลูกตลอดเวลา สำหรับอุปกรณ์เสริมช่วงนี้จะเป็นของเล่นผ้านิ่ม ๆ ตุ๊กตาดนตรีตัวเล็ก ๆ สำหรับกล่อมนอน

พัฒนาการ 1 – 2 เดือน : สามารถยิ้มตอบ หรือยิ้มทักทายได้  ทำเสียง อือ อา เริ่มสนใจฟัง
และมองหาเสียงมองตามสิ่งเคลื่อนไหว และชันคอในท่าคว่ำได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : พูดคุย ทำเสียงต่าง ๆ อุ้ม และสัมผัสลูก พร้อมพูดคุยเอียงหน้าไปมาเพื่อให้ลูกได้มองตาม เขย่าของเล่นเพื่อให้ลูกมองตามสิ่งของ ในขณะลูกตื่นให้ลูกนอนเล่นในท่าคว่ำ สำหรับอุปกรณ์เสริมช่วงนี้ จะเป็นโมบายแขวนสีสดใสโดยวางห่างไม่เกิน 1 ฟุต และของเล่นที่มีเนื้อผ้าต่างกันเพื่อให้ลูกได้สัมผัส

พัฒนาการ 3 – 4 เดือน : สามารถส่งเสียงทักทายคนคุ้นเคย หัวเราะ หันหน้าตามเสียง
และส่งเสียงโต้ตอบได้ เอามือจับกัน สามารถชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : พูดคุย ทักทาย เล่น และสัมผัสกับลูกบ่อย ๆ เมื่อคุยโต้ตอบหยุดฟัง
เพื่อรอจังหวะลูกส่งเสียง ใช้นิ้วหัวแม่มือให้ลูกจับด้วยมือทั้งสองข้าง เขย่าของเล่นเหนือศีรษะเพื่อให้ลูกมองตาม สำหรับอุปกรณ์เสริมในช่วงนี้ จะเป็นของเล่นที่มีเสียง เพลยิม และของเล่นดนตรีจังหวะสนุกสนาน

พัฒนาการ 5 – 6 เดือน : สามารถแสดงอารมณ์ และท่าทางได้ เช่น ดีใจ ขัดใจ ช่วงนี้เริ่มจำหน้าพ่อกับแม่ได้ สามารถหันตามเสียงเรียกชื่อ ส่งเสียงสูง ต่ำ คว้าสิ่งของมือเดียว และสลับมือถือของได้ เริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย และคืบ โดยเอาส่วนท้องติดพื้น

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : ยิ้ม พูดคุยกับลูกในสิ่งที่กำลังทำ เช่น กินนม อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม และจัดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้พลิกคว่ำพลิกหงาย และเล่นได้อย่างอิสระ สำหรับอุปกรณ์เสริมในช่วงนี้ ของเล่นที่ลูกสามารถหยิบจับได้โดยมีขนาดใหญ่กว่าปาก ของเล่นยางกัด

พัฒนาการ 7 – 8 เดือน : สามารถหันหาเสียงเรียกได้ถูกต้อง ทำเสียงพยางค์เดียว เช่น ปะ มะ จะ สามารถมองตามของที่ตก ถือของมือละชิ้น  นั่งหลังตรงได้ ทรงตัวได้เองโดยไม่ต้องใช้มือยัน และเริ่มกลัวคนแปลกหน้า รู้สึกผูกพันกับคนเลี้ยงดู ชูมือให้อุ้มได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : พูดคุยกับลูก อ่านหนังสือนิทาน ถือของเล่นสีสดใสในระดับสายตาลูก และปล่อยของตกเพื่อให้ลูกมองตาม อุ้มลูกในท่านั่ง ให้ลูกได้หัดนั่งเองโดยมีพ่อแม่ดูแลอยู่ใกล้ ๆ และอุ้มลูกให้รู้สึกอุ่นใจขณะพบเจอคนแปลกหน้า และให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย บอก หรือทำท่าจะอุ้มให้ลูกรู้ทุกครั้ง สำหรับอุปกรณ์เสริมช่วงนี้ ของเล่นที่มีขนาดใหญ่ ตุ๊กตาที่สามารถส่งเสียงได้ หนังสือผ้า หนังสือนิทาน

พัฒนาการ 9 – 10 เดือน : สามารถเล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองของที่ซ่อนอยู่ หยิบอาหารได้ด้วยตนเอง แสดงท่าทาง และบอกความต้องการ เริ่มรู้ภาษา เข้าใจสีหน้า ท่าทาง และตอบสนองได้
ส่งเสียงหลายพยางค์ ใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือหยิบของ  คลาน เกาะยืน และเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืน
จากท่านั่ง

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง และเล่นปรบมือกับลูกบ่อย ๆ ฝึกให้ลูกใช้นิ้ว
หยิบจับอาหารชิ้นเล็กกินเอง โดยสังเกตลูกตลอด หากเกิดอาการไอ สำลักรีบจับลูกนอนคว่ำ
และเคาะหลัง สอนให้ลูกแสดงท่าทางเวลาอยากได้ของ เช่น การชี้มือ จัดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกคลาน
เกาะยืน สำหรับอุปกรณ์เสริมในช่วงนี้ แผ่นรองคลานเพื่อเสริมพัฒนาการลูกและอุปกรณ์ดูแล
ความปลอดภัยเช่น หมวกกันกระแทก โฟมยางกันกระแทก

พัฒนาการ 11 – 12 เดือน : สามารถเลียนเสียงพูด และท่าทาง พูดเป็นคำที่มีความหมาย
อย่างน้อย 1 คำ เข้าใจเสียงห้าม และหยุดทำ เริ่มเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น การไหว้ การโบกมือลา 
หอมแก้ม โยกตามจังหวะเพลง ดื่มน้ำจากถ้วยโดยต้องมีคนช่วยเหลือ เริ่มตั้งไข่ เกาะยืนได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ : ในช่วงวัยนี้ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างสอนให้ลูกเลียนแบบท่าทาง
ต่าง ๆ เช่น การไหว้ การโบกมือลา และชมลูกทุกครั้งเมื่อทำได้ สิ่งที่ไม่ควรทำควรห้ามลูกทุกครั้ง
จัดสถานที่ปลอดภัยเพื่อให้หัดยืน โดยผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับอุปกรณ์เสริมในช่วงนี้
คอกกั้น สายพยุงเดิน รถผลักเดิน

ในแต่ละเดือนพัฒนาการของลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองควรส่งเสริมพัฒนาการด้วยความรัก ความใส่ใจ และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการสมวัยและเติบโตอย่างสมบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

จิรนันท์ วีรกุล. (2561). การส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด- 1 ปี. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/DJhf4

พริม สุธรรมรติ. (2565). เช็คพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/nwBtx

รวีรัตน์ ลิชฌรังษี. (2566). วิธีส่งเสริมพัฒนาการทารก เคล็ดลับการส่งเสริมพัฒนาการ ด้านกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของทารกน้อย. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/2fhde

รักลูก. (2564). พัฒนาการเด็กแรกเกิด – 1 ปี และวิธีเสริมพัฒนาการเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/aKWe3

Brainkiddy. (2562). แนวทางการส่งเสริม พัฒนาการเด็ก ตามวัย ทารกแรกเกิด – 1 ขวบ 8 เดือน. สืบค้น 12  กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/oW9G3

Nanababy. (2561). พัฒนาการเด็กวัยแรกเกิดถึง 12 เดือนและวิธีส่งเสริมพัฒนาการ. สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://shorturl.asia/fATkB