นอกเหนือจากการสอนความรู้เชิงวิชาการในระบบการศึกษา ‘ศิลปะด้านใน’ ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาตนเอง ไปจนถึงการใช้เป็นวิธีการใหม่ในการทำงานกับเด็กเล็ก ศิลปะที่มีมากกว่าการวาดรูป ระบายสี คือเส้นทางของการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและความงดงามที่อยู่รอบตัว เป็นการเรียนรู้พัฒนาการของมนุษย์เพื่อส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าพลังชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต และเป็นดั่งการทำงานกับ ‘ความกลัว
ของตัวเอง’ ไปจนถึงคำถามที่เกิดขึ้นในหัวและในใจ เป็นคำถามในใจที่ไม่มีใครตอบแทนให้ได้ นอกจากตัวของเราเอง
แตกต่างจากคลาสเรียนศิลปะที่เราเคยร่ำเรียนตั้งแต่ยังเยาว์วัย ‘ศิลปะด้านใน’ มีมากกว่า
การวาดรูป ระบายสี หากคือเส้นทางของการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติ รวมถึงความงดงามที่อยู่รอบตัว คือการเรียนรู้พัฒนาการของมนุษย์
เพื่อส่งเสริมพลังชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างเข้าใจในความเป็นไปของธรรมชาติ จนถึงที่สุดแล้ว
ศิลปะด้านในคงเป็นแนวทางที่ไม่มีคำนิยามตายตัว เพียงแต่จะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ที่เลือกเดิน
เส้นทางนี้พาตัวเองก้าวข้ามความความหวาดกลัวของตัวเองในอดีตไป
เช่นเดียวกับทุกเส้นทางการศึกษาอื่น ๆ ในโลก เส้นทางเดินของผู้คนบนถนนสายชีวิตเส้นนี้ ย่อมพบเจอทั้งดอกไม้และขวากหนาม มีวันฝนตก ฟ้าหม่น วันแดดออก ฟ้าสดใส โลกที่หมุนเปลี่ยนแปลงไปได้พัดพาให้ตัวกับใจของคนเราค่อย ๆ ห่างกันออกไป รู้ตัวอีกทีมีบางสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสมดุล’ ได้หล่นหายไปจากชีวิต ทำให้ผู้คนต้องวิ่งไล่ล่าตามหาสิ่งที่ขาดหายไป จนหลงลืม
ความงดงาม และพลังที่ยิ่งใหญ่ของกายใจในตัวเอง โดยในบทความนี้ได้มีการพูดคุยกับผู้เข้ารับ
การอบรมศิลปะด้านใน ที่นำแนวทางศิลปะแนวมนุษยปรัชญามาผสานในการใช้ชีวิต ไปจนถึง
การดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ถึงความสำคัญของการนำศิลปะมาทำงานกับเด็ก ความเปลี่ยนแปลง
ที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ รวมถึงโลกและธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปหลังพวกเขาได้รู้จักกับเส้นทาง
ศิลปะด้านใน กับวิทยา จันทร์แดง รองปลัดเทศบาลตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้เต็มหลักสูตรเป็นวิทยากรต้นแบบ โดยเลือกเผยแพร่แนวทางศิลปะด้านใน
สู่แง่มุมการพัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งวิทยาเล่าให้ฟังว่าการศึกษาแนวทางศิลปะด้านใน ได้เริ่มต้นจาก
คำชักชวนของเพื่อนในเครือข่ายที่ทำงาน ทว่าเมื่อหลักสูตรขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ศิลปะ’ (ด้านใน)
ทำให้แรกเริ่มวิทยาเป็นกังวลว่าหลักสูตรนี้อาจคล้ายกับงาน ‘ศิลปะ’ รูปแบบเดิม ๆ ที่เรา
ต่างเคยเรียนกันเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก กับภาพจำของศิลปะที่ต้องวาดรูประบายสีที่อาจมีกฎเกณฑ์
ตายตัว แต่ความเป็นจริงแล้ว ‘ศิลปะด้านใน’ กลับเปิดโลกใบใหม่ให้กับวิทยาไปอย่างสิ้นเชิง
นอกจากการวาดรูปแล้วยังมีกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ให้ได้ลองทำ เช่น กิจกรรมทำขนมปัง
กิจกรรมจัดดอกไม้จัดใจ โดยวิทยาเปิดใจบอกกับเราว่าศิลปะด้านในเปลี่ยนความคิดทัศนคติในการทำงานและใช้ชีวิตของเขาไปอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนแง่มุมในการมอง ‘ศิลปะ’ จากความกลัวเป็นความกล้า กล้าที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และกล้าที่จะเปิดใจให้กับความหลากหลาย ทั้งยังนำพาให้เขาสัมผัสกับความงามที่อยู่รอบตัวได้ง่ายขึ้น
ในแง่ของการทำงาน วิทยาได้นำศิลปะด้านในมาปรับใช้กับการทำงานในศูนย์เด็กเล็ก ด้วยการชวนเพื่อน ๆ ในแวดวงที่ทำงานมาทำค่ายถ่ายทอดแนวทางศิลปะด้านใน โดยเริ่มต้นจากการสร้างพื้นที่ศิลปะด้านในสำหรับผู้ปกครองและกลุ่มเด็กเล็กจากหลากหลายพื้นที่ วิทยาอธิบายว่าเขาได้ค้นพบหลายบทเรียนสำคัญจากการเข้าร่วมโครงการ มาออกแบบกิจกรรม เพื่อส่งต่อสู่เด็ก ๆ ภายใต้ชื่อ ‘ค่ายพัฒนาพลังชีวิตเด็กและเยาวชน’ ที่เครือข่าย Power Inner Art ได้จัดขึ้น
ข้อที่ 1 โลกนิทานมีมนต์เสน่ห์ที่พาเด็ก ๆ โลดแล่นในโลกจินตนาการ ทั้งนิทานหุ่น นิทานเคลื่อนไหว และนิทานภาพ เชื่อมโยงเด็ก ๆ กับธรรมชาติ และพาให้พวกเขาอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ
ที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างพลังชีวิตในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่
ข้อที่ 2 กิจกรรมจังหวะและดนตรี นำพาการเคลื่อนไหวของเด็กให้มีทิศทาง แต่งแต้มสีสันความงดงามให้กับชีวิต ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและรากฐานสำคัญของชีวิต
ข้อที่ 3 กิจกรรมศิลปะทำงานกับด้านในของเด็ก การทำงานของสี การเคลื่อนไหวของพู่กัน
ในการลงสีแต่ละครั้ง เมื่อสีวิ่งไปหากัน เป็นประสบการณ์ที่พาให้เด็กได้อยู่กับตัวเอง และได้ทำงาน
กับความรู้สึกภายใน
ข้อที่ 4 การออกแบบกิจกรรมสิ่งที่สำคัญ คือการกำหนดจังหวะ และความสอดประสานกัน
ของกิจกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้ภาพจำและความสุขของเด็กชัดเจนขึ้น
ข้อที่ 5 ศิลปะด้านใน คือประตูอีกบานหนึ่งที่ให้เราเข้าถึงความงดงามที่มีอยู่ในโลกใบนี้
ช่วยปรับใจให้อ่อนนุ่มเป็นกระบวนการหล่อหลอมให้เกิด ‘ความสมดุล’ เชื่อมสัมพันธ์ให้เรา
กับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว เป็นสิ่งที่นำพาให้เกิดเป็นพลังชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่
จำเป็นอย่างมากสำหรับผู้คนในสมัยนี้กับชีวิตที่เร่งรีบ
หลังจากนำศิลปะด้านในมาถ่ายทอดให้เด็กโดยตรง วิทยามองว่าถึงเวลาที่ศิลปะด้านในต้องไปทำงานกับครูผู้ปฏิบัติงาน ทว่าโจทย์ที่ยากของการอบรมศิลปะด้านในกับครู คือมีครูสอนศิลปะ
มาเข้าร่วมด้วย ซึ่งเมื่อผู้เข้าร่วมเป็นครูศิลปะมาก่อน จึงมีความคิดและแนวทางในตัวเอง มีหลักการ
ที่เคยร่ำเรียนมา ในแต่ละกิจกรรมจึงมีทั้งคนที่สนใจกับคนที่ตั้งแง่ความท้าทายแรกสุดคือการ
ให้ผู้เข้าร่วมลองเปิดใจเรียนรู้ในกระบวนการไปด้วยกัน ลองทำความเข้าใจใหม่ว่าแนวทาง
ศิลปะด้านในจะไม่ได้เปลี่ยนตัวตนเขา แต่จะช่วยปรับอีกมุมหนึ่งในการทำงาน
อีกหนึ่งข้อจำกัดในการถ่ายทอดแนวทางศิลปะด้านใน คือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งการเตรียมเนื้อหา ซักซ้อมการดำเนินกิจกรรมกับวิทยากรคนอื่น ๆ ออกแบบและวางโปรแกรมกิจกรรม การสร้างบรรยากาศในแต่ละกิจกรรม ไปจนถึงการประเมินบรรยากาศให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่และธรรมชาติของผู้เข้าอบรม
นอกเหนือจากผู้ทำงานด้านเด็กเล็กแล้ว วิทยายังจัดกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปที่สนใจแนวทางศิลปะด้านใน หรือคนที่อยากผ่อนคลายความเครียด ยกระดับจิตใจ หรือต้องการเยียวยาหัวใจตัวเองด้วยแนวทางศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ วิทยาเล่าให้เราฟังว่า “แวดวงที่เราอยู่มีผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณ พอเจอพวกเขา เราจับสัญญาณได้ถึงความเหงาและเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า เราจึงเปิดพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุด้วย เพราะที่สุดแล้วศิลปะด้านในสามารถปรับใช้กับคนทุกกลุ่มวัยได้ ไม่ใช่แค่กับเด็กเท่านั้น แม้แต่คนวัยทำงานต่างก็มีภาวะเครียด หมดไฟ ไม่ว่าใครก็พาตัวเองมามีประสบการณ์กับศิลปะด้านในได้เช่นเดียวกัน และพอได้เห็นว่าผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมแล้วมีท่าทีสดใส ตาเป็นประกาย
เราก็มีความสุขตามไปด้วย”
โดยหากท่านใดที่ความสนใจเกี่ยวกับ “Inner Art” สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหา พร้อมกับอ่าน
บทสัมภาษณ์เพิ่มเติมของวิทยา จันทร์แดง ได้ที่ https://www.the101.world/power-of-inner-art/