หากเด็กไทยที่เติบโตในทศวรรษ 2530-2540 มี ‘เจ้าขุนทอง’ รายการหุ่นมือที่ฉายทางทีวีตอนเช้าตรู่ในวันไปโรงเรียนอยู่ในความทรงจำ เด็กอเมริกันก็มี ‘เซซามี สตรีท’ (Sesame Street) รายการเด็กที่มีตุ๊กตาหุ่นเชิดขนปุกปุยหลากสีสันมาเดินเคียงข้างเส้นทางการเติบโต
ในวันนี้แม้เจ้าขุนทองจะลาจอแก้วไปเกือบ 3 ปีแล้ว แต่ที่สหรัฐฯ เอลโม่ บิ๊กเบิร์ด โกรเวอร์ เกราช์
และผองเพื่อนมอนสเตอร์แสนซน ยังคงโลดแล่นอยู่บนหน้าจอทีวีและมอบความความสนุกให้เด็ก
อย่างต่อเนื่อง และยาวนานกว่า 54 ปีแล้ว แม้รายการจะมีอายุเกินครึ่งศตวรรษ แต่เอลโม่ (Elmo)
มอนสเตอร์สีแดงตัวจิ๋วขวัญใจเด็กน้อยใหญ่ก็ยังอายุ 3 ขวบครึ่งไม่เปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ไม่เคย
หยุดนิ่งคือเนื้อหาสาระและความสนุกที่ไม่ว่าจะดูครั้งใดก็ยังเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้เสมอ
“เราจะสร้างรายการเด็กที่สนุก และให้สาระความรู้ไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร?” คือโจทย์
ที่โจน แกนซ์ คูนีย์ (Joan Ganz Cooney) และลอยด์ มอร์ริเซ็ตต์ (Lloyd Morrisett) ยึดไว้เป็นแก่น
ในการผลิตรายการ เธอและเขาคือโปรดิวเซอร์และผู้ก่อตั้ง ‘เซซามี เวิร์กชอป’ (Sesame Workshop) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำการศึกษา วิจัย ระดมทุนสร้างจนออกมาเป็น Sesame Street ให้โลกได้รู้จัก หลังรายการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ ก็ได้จุดประกายความคิดแก่ผู้สร้างว่าเด็กทั่วโลกก็ควรมีโอกาสเข้าถึงสื่อดีๆ แบบนี้เช่นกัน ทำให้เครือข่ายของ Sesame Workshop ขยายไปทั่วโลก มีการนำ Sesame Street ไปดัดแปลงแล้วกว่า 150 ประเทศ และหนึ่งในนั้นคือ ‘อินเดีย’
โซนาลี ข่าน (Sonali Khan) ผู้อำนวยการ Sesame Workshop-India ในโอกาสที่เดินทาง
มาเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 : การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย มองภาพกว้างเนื้อหาสาระสื่อเด็กในยุคปัจจุบัน ขยายภาพการสร้างสรรค์รายการเด็กในประเทศที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างอินเดีย โจทย์อะไรบ้างที่ผู้ใหญ่สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ และไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากอินเดีย
จักรวาล Sesame Street: ความสนุกคือสิ่งสากลและตัวตนที่หลากหลายคือสิ่งที่เด็กใฝ่หา
‘Galli Galli Sim Sim’ คือชื่อของ Sesame Street ในเวอร์ชันอินเดียที่ออกอากาศมาแล้วเกือบ 20 ปี นอกจากเอลโมและบิ๊กเบิร์ด สองตุ๊กตาหุ่นเชิดขวัญใจเด็กๆ จากเวอร์ชันต้นฉบับจะมาปรากฏตัวในเวอร์ชันอินเดียแล้ว Galli Galli Sim Sim ยังสร้างตัวละครใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจ
จากวัฒนธรรมอินเดีย หนึ่งในนั้นคือ บุมบ้า (Boombah) สิงโตขนสีม่วงแซมน้ำเงินตัวปุกปุยที่ชอบการเต้นบังกรา (Bhangra) ซึ่งเป็นการเต้นรำพื้นเมืองของอินเดีย เหตุที่บุมบ้าเป็นสิงโต ก็เพราะ
เป็นสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าและความเชื่อของชาวอินเดียมาช้านาน ตัวละครที่ผูกโยงกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกร่วมไปกับเรื่องราวที่ได้รับชมและซึมซับสารที่ต้องการสื่อ
ได้ง่าย
“บริบทสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกันอยู่แล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงต่อให้ประเทศไหน
เอา Sesame Street ไปดัดแปลง คือแก่นหลักและเนื้อหาที่จะสื่อสาร
ต้องยึดมั่นว่ารายการมีประโยชน์สำหรับเด็ก
สนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งความต้องการเช่นนี้จากเด็กเป็นสิ่งที่เป็นสากลอยู่แล้ว”
สำหรับอินเดีย มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา ในการสื่อสารไปให้ถึง
เด็กทุกกลุ่มเป็นความท้าทายใหญ่อีกประการ รายการที่ผลิตโดย Sesame Workshop อินเดีย
มีการออกอากาศหลักๆ ใน 2 ภาษา คือ ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ และเพิ่งมีการทำเวอร์ชัน
ภาษาท้องถิ่นที่มีการใช้เฉพาะพื้นที่ไป 2 ภาษา ในอนาคตเธอคาดหวังว่าจะขยายไปทำภาษา
ท้องถิ่นอื่นๆ มากขึ้น และเช่นเดียวกับเวอร์ชันอเมริกัน ตุ๊กตาหุ่นเชิดในเวอร์ชันอินเดียก็เดินทาง
ไปตามที่ต่างๆ เพื่อพาผู้ชมไปสัมผัสความหลากหลายในสังคมเช่นกัน
โซนาลีกล่าวว่าการผลิตรายการต้องคำนึงถึงภาพ (visual) ที่ถูกนำเสนอ เช่น สีผิว
เครื่องแต่งกาย สถานที่ อาหาร ซึ่งมีอยู่ในสังคมของเด็กๆ ผู้รับสาร “สมมติคุณใส่ฉาก
เอลโม่กินสตรอว์เบอร์รี แต่ถ้าเด็กที่ดูอยู่ในประเทศที่ไม่มีสตรอว์เบอร์รี เขาไม่รู้ว่าผลไม้
สีแดงๆ นี้คืออะไร ก็จะรู้สึกเป็นอื่นแล้ว” การดัดแปลงไปฉายในพื้นที่ที่หลากหลายยังต้อง
เคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ ด้วย โซนาลียกตัวอย่างตอนที่นำเสนอเรื่อง
การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในซีเรีย ชัมกี้ (Chamki) ตัวละครหุ่นเชิดในเวอร์ชัน
อินเดีย จากที่เคยใส่กระโปรงสั้นก็ต้องเพิ่มความยาวกระโปรงและใส่ฮิญาบให้สอดคล้องกับ
การแต่งกายในซีเรีย
เมื่อต้องคำนึงถึงระบบนิเวศของเด็กๆ ที่รับชม ทำให้ในหลายครั้งตัวละครจากประเทศหนึ่งอาจไปปรากฏตัวอีกประเทศหนึ่ง เอลโม่ในเวอร์ชันอเมริกันเองก็เคยเดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัย เช่น
ในประเทศซีเรีย ที่นับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในปี 2011 เด็กจำนวนมากต้องอพยพ
ออกจากถิ่นฐานเพื่อหนีภัยการสู้รบ นอกจากจะไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว เด็กหลายคนต้องเผชิญ
กับความสูญเสียของคนในครอบครัว ตัวการ์ตูนหุ่นเชิดหลากสีเหล่านี้จึงมีบทบาทในการสอน
เด็กๆ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานในช่วงปฐมวัย สุขอนามัย ไปจนถึงการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ
นอกจากความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตัวละคร ยังสอนเด็กให้เข้าใจถึงความหลากหลาย
ของ ‘เพื่อน’ ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งอาจจะพบเจอที่โรงเรียน ในชุมชน หรือเป็นคน
ในครอบครัว โซนาลียกตัวอย่าง จูเลีย (Julia) ตุ๊กตาหุ่นเชิดเด็กหญิงที่เป็นออทิสติก
ซึ่งปรากฏตัวในเวอร์ชันอเมริกา แม้จูเลียจะมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคม
แต่เธอก็สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อน ใน Sesame Street ได้
นอกจากนั้น โซนาลียังกล่าวอีกว่า ตัวละครเหล่านี้ช่วยเปิดความเป็นไปได้ให้เด็กเข้าใจว่า
แม้จะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว หรือร่างกาย แต่พวกเขาก็เป็นเพื่อนกันได้ และสอน
ให้เด็กไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันคนที่ไม่เหมือนตัวเองออกจากสังคม