หุ้นส่วนสร้างชีวิตเด็ก : พ่อแม่ผู้ปกครองกับครู

เลี้ยงลูกไปทางเดียวกัน

ชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ สมวัย มีความเข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง และเรียนรู้ได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคนสำคัญรอบข้างที่ดูแลเอาใจใส่ ประกอบด้วย พ่อแม่ ครอบครัว และครูโดยเฉพาะครูปฐมวัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อแม่คนที่สองในช่วงกลางวันที่เด็กอยู่โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ครูทำทั้งหน้าที่ในการดูแล จัดหาอาหาร ดูแลความสะอาด จัดกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ฝึกให้เด็กดูแลตัวเอง เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รับผิดชอบเรื่องของตัวเอง และส่วนรวมตามลำดับพัฒนาการ และหลังจากนั้นค่อยเรียนหนังสือเมื่อถึงเวลาที่พร้อม

บ้านกับโรงเรียนจึงเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญ ในการปั้นเด็กคนหนึ่งให้มีกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่จะต้องมีเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน เลี้ยงลูกของพ่อแม่ เลี้ยงลูกศิษย์ของครู ไปในทิศทางเดียวกันสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ตรงกัน

ครูให้ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ และให้คำปรึกษา

เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย เห็นคุณค่าในตนเอง เรียนรู้ได้ดีมีทักษะสมองส่วนหน้า : EF ที่แข็งแรง แสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข สังคมไทยจำเป็นต้องมีครูปฐมวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่พ่อแม่ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการดูแลพัฒนาเด็ก ๆ ในความดูแลของตน 

ตามสื่อโซเชียลมีเดียมีพ่อแม่มากมายระบายปัญหาการเลี้ยงลูก แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เองต้องการทางออกในการเลี้ยงดูลูก สวนดุสิตโพลได้สำรวจความต้องการของพ่อแม่ในช่วงโควิดพบเช่นกันว่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องการเป็นอันดับหนึ่งคือความรู้และทักษะในการพัฒนาเด็ก ซึ่งคนที่ใกล้ชิดเด็กและจะช่วยเหลือให้ความรู้แก่พ่อแม่ได้ดีที่สุด ก็คือครู

เพราะพ่อแม่ในปัจจุบันจำนวนมาก ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่หากไม่เลียนแบบการเลี้ยงลูกของตน เหมือนอย่างที่ตนได้รับการเลี้ยงดูมา ก็มักเลี้ยงดูไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้น ๆ ภาพปัญหาของเด็กปฐมวัยที่ปรากฏออกมาจำนวนไม่น้อย สะท้อนความไม่รู้ของพ่อแม่ ครูปฐมวัยซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ใกล้ชิด เข้าใจสภาพความเป็นจริงทุกวันของเด็ก จึงเป็นที่พึ่งในการให้ความรู้ ความเข้าใจและให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ ให้ไปดูแลลูก ๆ ของตนได้

พ่อแม่ผู้ปกครองให้เวลา สังเกตลูก และเลี้ยงดูแบบตอบสนอง

หน้าที่ที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ และสังคม ชุมชนต้องอำนวยให้เกิดได้จริงในชีวิตที่เร่งรีบ เต็มไปด้วยภาระมากมายที่ต้องทำคือ “การให้เวลา” และ “การเอาใจใส่” สังเกตลูก เลี้ยงดูแบบตอบสนอง  ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กคนหนึ่งต้องการอย่างมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีแรกที่เพิ่งเกิดมา

ธรรมชาติในช่วงแรกของชีวิตมนุษย์ต้องพึ่งพิงผู้อื่น เรียนรู้การใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพื่อพัฒนาตนเองจนสามารถพึ่งตนเองได้ การให้เวลาแก่ลูก คือการสร้างแม่ (หรือผู้เลี้ยงดู) ที่มีอยู่จริงในยามที่เขาต้องการ รับรู้ว่าลูกหิว เจ็บ ไม่สบายตัวและตอบสนองให้อิ่ม ปลอดภัย สบายตัว การสังเกตลูกเป็นการเลี้ยงดู เอาใจใส่แบบเอาลูกเป็นศูนย์กลาง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ในชีวิตจริงพ่อแม่ทุกคนมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องการงาน การเงิน เวลา ความรับผิดชอบด้านอื่น ๆ การสังเกตลูก เลี้ยงดูแบบตอบสนอง มีความหมายว่า ภายในสภาวะที่เต็มไปด้วยความจำกัด พ่อแม่ไม่ได้เอาความสะดวกสบายของตนเองเป็นตัวตั้ง แต่ดูสังเกตว่าลูกเป็นอย่างไร และพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูก คือ “ความต้องการความรัก การเอาใจใส่ การรับฟัง และโอกาสในการเรียนรู้”

พ่อแม่เข้าร่วมกิจกรรมกับครู

แต่ละวันในโรงเรียนของเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้ชีวิตและโลก ว่าต้องทำกิจวัตรอะไร เพื่อให้ตนอยู่ดี มีสุข และต้องเรียนรู้อะไรเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ก่อนที่จะไปเรียนหนังสือในชั้นประถมเพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารและประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ โรงเรียนอนุบาลจึงมีกิจกรรมมากมายให้เด็ก ๆ ได้เรียนผ่านการเล่น

 การเข้าร่วมมาแลกเปลี่ยนพูดคุยและขอคำปรึกษาเรื่องลูกของตนกับครู ทำให้ทั้งพ่อแม่และครูมีความเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น มีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาเด็กชัดเจนขึ้น การเข้าร่วมกิจกรรมในห้องเรียนของพ่อแม่ทำให้เด็กมีความสุข ภูมิใจ และมั่นคง ปลอดภัย เมื่อมีคนที่ตนรักอยู่ใกล้ให้การสนับสนุน การให้ความร่วมมือกับครู รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นแบบคนที่มีหัวใจตรงกันคือ ต้องการเห็นลูกและลูกศิษย์พัฒนาสมวัย ทำให้ครูทำงานได้ดีขึ้น

เช่นนี้ โรงเรียนก็จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพ่อแม่ที่ร่วมมือกับโรงเรียนดูแลช่วยเหลือเด็กได้ทุกคน ความเป็นหุ้นส่วนชีวิตของลูกระหว่างบ้านกับโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองกับคุณครูก็จะเข้มแข็ง และส่งผลดีต่อการเติบโตของเด็กทุกคน

              หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับเรื่องหุ้นส่วนสร้างชีวิตเด็ก : พ่อแม่ผู้ปกครองกับครูเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่

https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/

เอกสารอ้างอิง

ปรารถนา หาญเมธี. (2566). หุ้นส่วนสร้างชีวิตเด็ก : พ่อแม่ผู้ปกครองกับครู. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567 จาก https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81/