แอปพลิเคชันเพื่อการพัฒนาภาษา เครื่องมือการเรียนรู้ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

ในยุคดิจิทัลปัจจุบัน แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ภาษา การที่เด็กสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาได้ตั้งแต่ยังเล็กมีความสำคัญมาก เนื่องจากสมองของเด็กในวัยนี้มีความสามารถในการซึมซับและจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว และแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องสนุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการใช้งานแอปพลิเคชัน

การที่พ่อแม่มีความรู้ในการใช้แอปพลิเคชันที่ส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่าลูกจะได้รับประโยชน์เต็มที่โดยอัตโนมัติ ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และเข้าใจวิธีการใช้งานอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษาให้กับลูกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเหตุผลที่พ่อแม่ควรมีความรู้ในการใช้แอปพลิเคชัน เนื่องจาก

1. เพื่อเลือกแอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของลูก แอปพลิเคชันที่ใช้ในการเรียนรู้ภาษามีหลากหลายรูปแบบ หากพ่อแม่เลือกได้เหมาะสมกับวัยและระดับพัฒนาการของลูก จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งสำหรับเด็กเล็กจะเน้นการเรียนรู้พื้นฐาน ด้านการออกเสียง การสะกดคำ ในขณะที่เด็กโตอาจต้องการมุ่งเน้นการอ่านหรือการสร้างประโยคที่ซับซ้อนมากขึ้น

2. เพื่อกำหนดเวลาและการใช้งานที่เหมาะสม การใช้งานแอปพลิเคชันควรมีการกำหนดเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรให้ลูกเรียนรู้ โดยใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมหรือนิสัยของลูก พ่อแม่ควรมีความรู้ในการวางแผนจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ควรใช้เวลาบนหน้าจอไม่เกิน 10-20 นาที ส่านเด็กช่วงอายุ 3-6 ปี ควรใช้เวลาไม่เกิน 20-30 นาที ต่อครั้ง และควรจัดเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ ๆ

3. เพื่อสร้างการเรียนรู้เชิงบูรณาการ พ่อแม่ควรมีบทบาทในการนำเนื้อหาที่ได้จากแอปพลิเคชันมาเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน เช่น หากลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ พ่อแม่สามารถทบทวนคำเหล่านั้นผ่านการพูดคุยหรือการเล่นเกมเพิ่มเติมผ่านสิ่งของหรือของเล่นอื่น ๆ เพื่อให้ลูกมีโอกาสนำภาษาที่ได้เรียนรู้มาใช้ในบริบทจริง

4. เพื่อตรวจสอบและประเมินพัฒนาการของลูก พ่อแม่สามารถติดตามและประเมินพัฒนาการของลูกผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันได้ โดยการสังเกตว่าลูกมีความก้าวหน้าหรือมีความสนใจในการเรียนรู้ภาษามากขึ้นหรือไม่ การติดตามพัฒนาการของลูกจะช่วยให้พ่อแม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการหรือเลือกใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมได้ตามความต้องการของลูก

5. ป้องกันผลกระทบทางลบจากการใช้งานเทคโนโลยี พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีมากเกินไป เช่น การเสพติดหน้าจอ ปัญหาสุขภาพตา หรือการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตจริง การกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้แอปพลิเคชันและเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำควบคู่ไปด้วย

ประโยชน์ของแอปพลิเคชันในการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา

1. การเรียนรู้ผ่านการเล่น แอปพลิเคชันโดยส่วนมากใช้หลักการ “เรียนรู้ผ่านการเล่น” ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เด็กมีความสนใจและจดจ่อกับการเรียนรู้ได้ง่าย เด็กสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ผ่านเกม การร้องเพลง การจับคู่ภาพ หรือการฟังนิทาน ซึ่งกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ

2. การพัฒนาทักษะการฟัง การพูด และการอ่าน แอปพลิเคชันช่วยพัฒนาทักษะการฟัง การพูด และการอ่านผ่านการใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การออกเสียงคำศัพท์ การฟังนิทานเสียง การเรียนรู้การสะกดคำ หรือการอ่านคำต่าง ๆ เด็กสามารถฝึกพูดตามหรือฟังเสียงของคำที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสามารถในการออกเสียงและการสร้างประโยคที่ถูกต้อง

3. เรียนรู้หลายภาษา ในบางแอปพลิเคชันเด็กสามารถเรียนรู้หลายภาษาได้พร้อมกัน เช่น อังกฤษ จีน หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กมีทักษะด้านภาษาเพิ่มมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ที่หลากหลายได้ง่ายขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ในอนาคต

4. เสริมสร้างสมาธิและความจดจ่อ การเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันที่มีความท้าทายพอเหมาะ จะช่วยให้เด็กได้ฝึกความจดจ่อและการแก้ไขปัญหา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเรียนรู้ภาษาแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะด้านสมาธิและการคิดวิเคราะห์อีกด้วย

แอปพลิเคชันยอดนิยมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษาสำหรับเด็ก

เก่งไทย

1. เก่งไทย เป็นเกมฝึกคัดลายมือและเรียนรู้ภาษาไทย โดยเด็กจะต้องใช้นิ้วลากเส้นดินสอให้ไปชนจุดที่อยู่บนตัวอักษร เรียงลำดับจากจุดแรกจนถึงจุดสุดท้าย โดยพยายามลากเส้นไม่ให้ออกนอกกรอบที่กำหนดไว้ เมื่อเขียนเสร็จเด็กจะได้รับดวงดาวและเหรียญทองเพื่อใช้ในการปลดล็อกตัวอักษร และภายในแอปฯ ยังมีมินิเกมมากมายให้เด็กได้ฝึกพัฒนาทักษะภาษาไทย

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ ios >>> คลิก

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ Android >>> คลิก

Monkey Stories 

  2. Monkey Stories เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องก่อนอายุ 10 ปี (เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 – 10 ปี) อีกทั้งยังได้รับรางวัลอันดับหนึ่งในรายการ Global Initiative 2016 ของประเทศสหรัฐอเมริกา เด็กจะได้เรียนภาษาอังกฤษมากกว่า 670 บทเรียน แม้เด็กที่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษหรือมีพื้นฐานเพียงเล็กน้อยก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย ผ่านการเรียนรู้คำศัพท์อย่างครอบคลุมด้วยวิธีโฟนิกส์ (Phonics Method) ช่วยให้เด็กออกเสียงตามมาตรฐานอังกฤษอเมริกัน สามารถจดจำตัวอักษร เข้าใจความหมาย การสะกดคำ และบริบทของคำต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ ios >>> คลิก

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ Android >>> คลิก

Duolingo

3. Duolingo  ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เด็กสามารถเรียนรู้คำศัพท์ การฟัง การสร้างประโยคพื้นฐานผ่านเกม โดยมีตัวการ์ตูนน่ารักดึงดูดให้เด็กเรียนรู้ และมีแบบฝึกหัดที่ท้าทาย Duolingo มีการวางแผนเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอน เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการฝึกทักษะภาษาอย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ ios >>> คลิก

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ Android >>> คลิก

Endless Alphabet

4. Endless Alphabet  เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่ต้องการฝึกการสะกดคำและการออกเสียง แอปฯ นี้จะใช้ตัวอักษรและคำศัพท์ที่มีการ์ตูนแอนิเมชันช่วยในการอธิบายความหมาย ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ ios >>> คลิก

ดาวน์โหลดสำหรับ ระบบ Android >>> คลิก

การเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ภาษา

การเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากแอปพลิเคชันจะทำหน้าที่เป็นสื่อที่ช่วยเสริมสร้างทักษะภาษาและการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็ก ดังนั้นแนวทางในการเลือกใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองนั้น สามารถคำนึงถึง

  1. เนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย ควรเลือกแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาสำหรับเด็กอนุบาล ซึ่งจะมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับระดับการพัฒนาของเด็ก
  2. รูปแบบการเรียนรู้ที่สนุก เช่น การใช้เกม เพลง หรือกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน จะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก และทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. การโต้ตอบ ควรมองหาแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์การโต้ตอบ เช่น การถาม-ตอบ หรือการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของเด็กในขณะทำกิจกรรม
  4. ความหลากหลายของภาษา ควรเลือกแอปพลิเคชันที่นำเสนอการเรียนรู้ที่หลากหลายภาษา หรือมีฟีเจอร์การสอนคำศัพท์ที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่รอบด้านมากขึ้น
  5. ความปลอดภัย ผู้ปกครองควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าแอปพลิเคชันมีความปลอดภัย ไม่มีโฆษณาที่ไม่เหมาะสม หรือเนื้อหาที่อาจจะไม่เหมาะแก่เด็ก ก่อนนำมาใช้กับเด็ก
  6. ข้อเสนอแนะจากผู้ปกครองและนักการศึกษา อ่านรีวิวหรือตรวจสอบความเห็นจากผู้ปกครองหรือครู เพื่อดูว่ามีประสบการณ์ที่ดีต่อแอปพลิเคชันนั้น ๆ หรือไม่
  7. ทดลองใช้งานฟรี  หากเป็นไปได้ ควรทดลองใช้งานแอปพลิเคชันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ เพื่อดูว่าเด็กสนุกและเรียนรู้ได้ดีหรือไม่

จึงกล่าวได้ว่า แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการสนับสนุนและส่งเสริมจากผู้ปกครอง ควรใช้แอปพลิเคชันเป็นเพียงเครื่องมือเสริมในการเรียนรู้เท่านั้น ไม่ควรเป็นวิธีหลักในการเรียนรู้ และการพาเด็กพูดคุยหรือเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำยังคงเป็นวิธีที่สำคัญในการสร้างพื้นฐานทางภาษาให้แข็งแกร่งตั้งแต่เล็ก

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สำหรับเด็กอายุ ๓-๖ ปี. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน). (2566). คู่มือดูแลลูกให้ปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตของ พ่อแม่ยุคดิจิทัล. สืบค้น 11 กันยายน 2567, จาก https://www.tot.co.th/blogs/detail/ดิจิทัลทิปส์/2020/11/17/คู่มือดูแลลูกให้ปลอดภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตของ-พ่อแม่ยุคดิจิทัล

Jutiporn. (2565). เปิดตัวแอปฯ “Me Books” นิทานออนไลน์ 4 ภาษา เสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ภายใต้แนวคิด ปลุกหนังสือให้มีชีวิต. สืบค้น 11 กันยายน 2567, จาก https://www.thaihealth.or.th/?p=307589

SUPINYA R. (2567). แอปพลิเคชันไม่มีพิษภัย สำหรับเด็กน้อยที่เติบโตในยุคที่มีแต่หน้าจอ. สืบค้น 11กันยายน 2567, จาก https://aboutmom.co/uncategorized/good-application-for-kids/16697/