การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของเด็ก แม้ว่าหลายคนจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของครูในการสื่อสารกับเด็กในห้องเรียน แต่วิธีการที่ครูสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่ายช่วยให้เข้าใจความต้องการของเด็กได้เป็นอย่างดี เกิดการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาของเด็กอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการประเมินคุณภาพภายนอก ที่มีการกําหนดเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานภายนอก ไว้ในมาตรฐานที่ 2 ดังนั้นวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมนำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องและส่งเสริมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
การสื่อสารกับผู้ปกครองที่มีทั้งวัย ประสบการณ์ วุฒิภาวะทางการศึกษาที่หลากหลาย วิธีการสื่อสารจึงต้องมีความเหมาะสมสำหรับผู้ปกครอง และต้องให้ประโยชน์และคุณค่าแก่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีวิธีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ดังเช่น
1. มีการสื่อสารอย่างเปิดเผย ผู้ปกครองและครูควรมีการสื่อสารที่เปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งรวมถึงการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ความก้าวหน้าและพัฒนาการของเด็ก รวมถึงปัญหาหรือข้อกังวลต่าง ๆ หากผู้ปกครองมีข้อสงสัย ควรสามารถสอบถามและได้รับคำตอบที่ตรงประเด็นและชัดเจนจากครูผู้ดูแล เช่น การจัดทำจดหมายข่าว สารสัมพันธ์ถึงผู้ปกครอง เพื่อแจ้งข้อมูลสำคัญของโรงเรียน การสรุปผลการเรียนรู้ของแต่ละระดับชั้น เป็นการสะท้อนผลการดำเนินงานของทางโรงเรียนให้ผู้ปกครองทราบได้อย่างดี
2. การสื่อสารแบบสองทาง เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองมักจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับลูก ๆ การสื่อสารแบบสองทางช่วยให้ทั้งผู้ปกครองและครูสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย หาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน รับฟังความเห็นของกันและกันอย่างเต็มที่ เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ เกิดความร่วมมือในแนวทางที่ตรงกัน และสามารถจัดการกับปัญหาหรือความกังวลนั้นได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด
3. การใช้เทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์กในการสื่อสาร ในปัจจุบันถือเป็นช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมของโรงเรียนที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเข้าถึงผู้ปกครองได้ในวงกว้าง เช่น การโพสต์ข่าวสารลงในหน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน การสนทนาของครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับกิจกรรมของห้องเรียนผ่านกลุ่มไลน์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ การสนทนาผ่านโทรศัพท์ของครูและผู้ปกครอง
4. การจัดประชุมผู้ปกครองและการจัดกิจกรรมร่วมกัน การประชุมระหว่างผู้ปกครองและครูเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ครูและผู้ปกครองได้พบกันและได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าและข้อกังวลต่าง ๆ เกี่ยวกับเด็ก ในวันปฐมนิเทศ หรือวันแจ้งผลการเรียน ผู้ปกครองสามารถรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาของเด็ก นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมสร้างสรรค์หรือกิจกรรมวันครอบครัว จะช่วยสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยครูสามารถแจกตารางกำหนดการและปฏิทินปฏิบัติงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และกิจกรรมของโรงเรียน รวมถึงกำหนดการวันหยุด เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนและวางแผนการดูแลบุตรหลานในช่วงวันหยุด
5. การสนับสนุนความเข้าใจทางด้านพัฒนาการของเด็ก ผู้ปกครองควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก เพื่อให้สามารถติดตามการเติบโตของบุตรหลานได้อย่างถูกต้อง วิธีการที่ครูให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กสามารถทำได้ผ่านการสื่อสารพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หรือการรายงานพัฒนาการผ่านสมุดรายงานความคืบหน้าหรือแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก ซึ่งเป็นเครื่องมือและหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแสดงความก้าวหน้าด้านพัฒนาการ พฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็ก โดยครูสามารถรายงานความคืบหน้าให้ผู้ปกครองรับทราบได้ทุกสัปดาห์ รายเดือน หรือหลายครั้งต่อปี และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองแสดงความคิดเห็น หรือเขียนคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็กกลับมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กต่อไป
6. การให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกิจกรรม เป็นวิธีที่ดีมากในการให้ผู้ปกครองได้มีปฏิสัมพันธ์กับครูและโรงเรียนและเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เช่น การจัดกิจกรรม Open House เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ในโรงเรียน ได้รับทราบข้อมูลของโรงเรียน ช่วยให้ผู้ปกครองในการตัดสินใจนำบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาเยี่ยมชั้นเรียนในช่วงเวลาที่สะดวกหรือตามเวลาที่โรงเรียนกำหนด และการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองทุกคนสามารถเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการทำกิจกรรมในห้องเรียนได้ตลอดปีการศึกษา เช่น การเชิญผู้ปกครองมาเป็นวิทยากรในการสอนทำอาหารให้กับเด็ก หรือการขออาสาสมัครผู้ปกครองให้มาทำหน้าที่ในโรงเรียน และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและช่วยเหลือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน
7. การให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง การจัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของทางโรงเรียนและหน่วยงานภายนอก และเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ปกครองทราบ เช่น การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีการล้างมืออย่างถูกต้อง บอร์ดประชาสัมพันธ์วันงดสูบบุหรี่ รวมถึงมีการจัดฝึกอบรมผู้ปกครองส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เป็นไปในแนวทางที่ตรงกัน
8. การรับมือกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ในบางครั้งอาจเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ปกครองและครู การแก้ไขปัญหานี้ควรใช้วิธีการพูดคุยกันอย่างสุภาพและมีเหตุผล เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก การรับมือกับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่าลืมชื่นชมความทุ่มเทในการเลี้ยงดูลูกของผู้ปกครอง ครูควรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมที่เรียบง่ายแต่มีความหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ลางานมาพบครูหรือผู้ปกครองที่เป็นห่วงกังวลซึ่งมักจะโทรมาหาครู เพื่อถามว่าลูกของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้างที่โรงเรียน
วิธีการเหล่านี้คือส่วนหนึ่งในแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองกับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและครูให้ดียิ่งขึ้นและเกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกสำหรับเด็ก ซึ่งหลายแนวทางที่กล่าวมานั้น สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยหลายแห่งได้มีการปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว และบางแนวทางก็อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายในการดำเนินการ ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก และเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเป็นอย่างยิ่ง