แอปพลิเคชันส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก

ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาเด็กให้มีอารมณ์สุนทรี มองโลกในแง่ดี ใฝ่เรียนรู้ ชอบการค้นคว้าทดลอง มีความคิดริเริ่ม ภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัยที่เป็นช่วงวัยที่เด็กมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ชอบเล่นสมมติและทดลองเล่นบทบาทต่าง ๆ โดยใช้จินตนาการ มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้ดี จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมในการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ในปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเด็กปฐมวัยที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก

มาทำความรู้จักกับ Creative Thinking กันก่อน

กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)  หมายถึง ความสามารถของเด็กปฐมวัยในการคิดสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการผสมผสานความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์รอบตัว มาปรับปรุง ดัดแปลง และบูรณาการจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์และคุณค่า

ส่วนประกอบหลักกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ มี 4 ข้อ ดังนี้ :

1. ความคิดริเริ่ม (Originality) คือ ความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากความคิดเดิมหรือสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นความคิดที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร

2. ความคิดเชื่อมโยง (Connectivity) คือ ความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดหรือแนวคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์จากหลาย ๆ ด้านมาผสมผสานกัน เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เป็นทักษะสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

3. ความยืดหยุ่น (Flexibility) คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดได้หลากหลายมุมมอง ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม สามารถมองปัญหาได้จากหลายแง่มุม

4. ความละเอียด (Detail-oriented) การใส่ใจกับรายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญในการคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็นการปรับปรุงไอเดีย กระบวนการ หรือผลงานให้ดีและมีประสิทธิภาพ

เด็กปฐมวัยที่จะมีกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ และมีศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ ควรได้รับการพัฒนาและจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและต่อเนื่อง เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในวัยต่อมา โดยสามารถพัฒนาได้ด้วยการสอน ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติที่ถูกวิธี และยิ่งส่งเสริมตั้งแต่ยังเด็กเท่าใดก็ยิ่งเป็นผลดีมากขึ้นเท่านั้น

พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการใช้งานแอปพลิเคชัน

การใช้เทคโนโลยีการศึกษามาผสมเข้ากับการออกแบบแอปพลิเคชันสามารถดึงดูดความสนใจของเด็ก และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนานมากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีจากเกมมาประยุกต์เข้ากับการเรียนรู้ จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และทักษะการประเมินสถานการณ์

จากการศึกษาความคิดเห็นของผู้ปกครองโดย Grunwald Associates LLC พบว่า ผู้ปกครองของเด็กปฐมวัยประมาณ 75-80% เชื่อว่าแอปพลิเคชันบนมือถือที่มีเนื้อหาเหมาะสม จะส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการแก้ปัญหา จึงมีการสนับสนุนให้เด็กใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือกันอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก พ่อแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานแอปพลิเคชัน เพื่อเลือกใช้แอปพลิเคชันที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยต้องพิจารณาคัดสรรเนื้อหาที่จะส่งเสริมการเรียนรู้และสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัย และไม่ใช้แอปพลิเคชันหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวช่วยในการเลี้ยงดูเด็ก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชันแล้ว จะสามารถนำแอปพลิเคชันมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

แอปพลิเคชันที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก

1. Quiver – 3D Coloring App

แอปพลิเคชัน Quiver – 3D Coloring App ทำให้การระบายสีภาพของเด็กเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้น ช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยดาวน์โหลดภาพสําหรับระบายสีจากเว็บไซต์ Quiver (https://quivervision.com/) มาระบายสี จากนั้นใช้แอปพลิเคชัน Quiver ส่องไปบนภาพที่ระบายสี ภาพก็จะเปลี่ยนจากภาพ 2 มิติ เป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งภาพไม่เพียงเคลื่อนไหวได้ แต่มีเสียงประกอบด้วย

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ Android และ ios

2. LOOPIMAL by YATATOY 

แอปพลิเคชัน LOOPIMAL คือชุดสร้างแอนิเมชั่นและเสียงที่ทำด้วยมือ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป เป็นแอปฯ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำดนตรี การสร้างสรรค์เสียงเพลงด้วยตัวเอง ผ่านตัวสัตว์สุดน่ารัก และแต่ละตัวก็จะทำเสียงดนตรีที่แตกต่างกันไป โดยให้เด็กเรียงรูปเรขาคณิตที่เป็นคำสั่งให้สัตว์ทำเสียงต่าง ๆ ให้เกิดทำนอง จังหวะ และการเคลื่อนไหวตามความคิดสร้างสรรค์ 

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ ios

3. LEGO® Builder

แอปพลิเคชัน LEGO® Builder เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปที่เป็นนักต่อเลโก้ตัวยง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การต่อตัวต่อนั้นช่วยส่งเสริมและพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้เป็นอย่างดี โดยแอปพลิเคชันนี้เป็นแอปฯ ให้คำแนะนำการต่อ LEGO® ที่จะทำให้เด็กสร้างเลโก้แบบต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย มีฟีเจอร์ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติที่สามารถซูมและหมุนตัวต่อแต่ละชิ้นเพื่อค้นหาสีและรูปร่างที่ต้องการสำหรับแต่ละขั้นตอนได้ ทำให้การต่อเลโก้ของจริงง่ายและสนุกมากยิ่งขึ้น 

    ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ Android และ ios

4. Toontastic 3D

แอปพลิเคชัน Toontastic 3D เป็นแอปฯ สร้างภาพเคลื่อนไหวหรือวีดีโอสั้นในรูปแบบ 3 มิติ มีฉากมากมายที่จะจุดประกายจินตนาการของเด็ก เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในการออกแบบตัวละครของตนเองได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องมือวาดภาพ 3 มิติ เพียงแค่ขยับตัวละครไปรอบ ๆ บนหน้าจอ รวมทั้งสามารถบันทึกเสียงและภาพเคลื่อนไหวเป็นวิดีโอ 3 มิติไปยังคลังรูปภาพได้ด้วย 

          ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ Android

แนวทางการเลือกแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก

แอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับเด็กควรเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ โดยทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ให้ตั้งคําถามและได้คิด คริสติน เอลเจอร์สมา บรรณาธิการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์เนื้อหาการเรียนรู้ ของ องค์กร Common Sense Media ได้ให้คำแนะนำในการเลือกแอปพลิเคชันที่ดีต่อการเรียนรู้ ดังนี้ 1) พ่อแม่ผู้ปกครองควรเลือกแอปพลิเคชันที่มีเนื้อหาหรือวิธีการใช้ที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก 2) ควรตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันมีคุณภาพมากน้อยเพียงไร ใช้งานได้ง่ายและสะดวกหรือไม่ และบางครั้งแอปฯ ฟรีอาจแสดงโฆษณาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องทดลองใช้และตรวจสอบแอปพลิเคชันก่อนให้เด็กใช้ 3) มองหาแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ และควรใช้แอปพลิเคชันที่เป็นสื่อปฏิสัมพันธ์ ที่กระตุ้นให้เด็กได้คิดและเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ มีกลไกที่ชี้แนะให้เด็กได้สํารวจสืบค้น ค้นพบความรู้ใหม่ด้วยตนเอง เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย 

ถึงแม้ว่าแอปพลิเคชันจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้เป็นอย่างดี สะดวกต่อผู้ใช้งาน และมีความน่าสนใจและหลากหลาย แต่ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวม ควรมุ่งเน้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ผ่านการลงมือทำ เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมศิลปะตามความสนใจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ส่งเสริมด้านสุนทรียภาพ ให้เด็กได้ชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงามตามวัย และส่งเสริมความคิดรวบยอด การรับรู้คุณสมบัติของสิ่งต่าง ๆ ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานเชิงศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการปั้น การร้อยลูกปัด การวาด การเล่นกับสีในลักษณะต่าง ๆ การประดิษฐ์จากเศษวัสดุ การสานกระดาษ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สำหรับเด็กอายุ ๓-๖ ปี.  โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด.

ชูพงศ์ ปัญจมะวัต. (2566). ความคิดสร้างสรรค์ – Creativity. สืบค้น 24 กันยายน 2567 จาก https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/creativity/

Christine Elgersma. (2021). How to Tell If an App or a Website Is Good for Learning. สืบค้น 24 กันยายน 2567 จาก https://www.commonsensemedia.org/articles/how-to-tell-if-an-app-or-a-website-is-good-for-learning

Grunwald Associates LLC. (2013). Living and Learning with Mobile Devices: What Parents Think About Mobile Devices for Early Childhood and K–12 Learning. สืบค้น 24 กันยายน 2567จากhttps://grunwald.com/pdfs/Grunwald%20Mobile%20Study%20public%20report.pdf