แอปพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมทักษะ STEM การคิด และคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

ทำไมต้องส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย คิดเป็น คิดได้

“การคิด” ช่วยให้เด็กได้รู้จักการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ กระตุ้นให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ได้เรียนรู้ความสามารถของศักยภาพทางการคิดของตนเอง และส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ การพัฒนาการคิดของเด็กปฐมวัย จึงเป็นการพัฒนาให้เด็กมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหา คิดรวบยอด และคิดเชิงเหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การที่เด็กได้ฝึกคิดจะเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และเป็นทักษะที่เด็กปฐมวัยควรได้รับการพัฒนา ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ต่อไป 

ปัจจุบันมีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการคิดของเด็กปฐมวัยได้อย่างดี นั่นคือ STEM Education STEM คือ การรวมความรู้ทั้ง 4 สาขา ได้แก่ S (Science): วิทยาศาสตร์ T (Technology): เทคโนโลยี E (Engineering): วิศวกรรม M (Mathematics): คณิตศาสตร์ เพราะฉะนั้น STEM คือการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเหล่านี้ผ่านกิจกรรมที่เหมาะกับวัย ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเด็กปฐมวัยที่ช่วยเสริมสร้างทักษะSTEM การคิดและคณิตศาสตร์ ส่งผลต่อการพัฒนา IQ และ EQ ของเด็กได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กได้เป็นอย่างดี

การนำเทคโนโลยีมาใช้พ่อแม่ควรมีความพร้อม หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร

เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สลับซับซ้อน พลิกผันและคาดการณ์ได้ยาก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเกือบทุกด้าน ผู้คนส่วนใหญ่อยู่กับสมาร์ทโฟน แม้แต่เด็กปฐมวัย จึงปฏิเสธไม่ได้เลยที่เด็กยุคใหม่จะมีโอกาสในการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือ พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ของเด็กเล็กที่ติดหน้าจอมากจนเกินไป ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กหลายด้าน ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไปในเด็กเล็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยพบว่าเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน มีค่าเฉลี่ย IQ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่าอย่างมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสมาธิสั้นและการเรียนรู้ที่ช้าลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กในระยะยาว 

พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรตระหนักรู้ถึงปัญหาและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตราย และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นในการนําเทคโนโลยีมาใช้พ่อแม่ควรมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. พ่อแม่ต้องพร้อมสละเวลา ในการใช้สื่อเทคโนโลยีร่วมกับเด็ก ไม่ควรทิ้งให้เด็กใช้หรืออยู่กับสื่อเทคโนโลยีตามลําพัง เพราะการใช้สื่อเทคโนโลยีในฐานะของเครื่องมือที่สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสําคัญ คือ มีผู้ใหญ่เป็นผู้ใช้สื่อเทคโนโลยีร่วมไปกับเด็ก เช่น ขณะที่เด็กเล่นแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน พ่อแม่ชวนเด็กพูดคุยหรือตั้งคําถามเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกทํา เช่น “ลูกทําอย่างนี้ได้อย่างไรคะ”

2. พ่อแม่ต้องเป็นผู้คัดสรร เลือกใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะกับวัยและส่งเสริมการเรียนรู้ เพราะเด็กยังไม่สามารถเลือกหรือคัดกรองได้ว่าสื่อเทคโนโลยีใดที่เหมาะสมกับวัยของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่สำคัญในการเลือกสรรให้แก่เด็ก โดยต้องคำนึงถึงวัย พัฒนาการและความสนใจของเด็ก เช่น ไม่เลือกใช้แอปพลิเคชันประเภทแบบฝึกหัด เกมที่ใช้ความรุนแรงมุ่งที่การเอาชนะ แต่เลือกแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ สามารถโต้ตอบกันได้ เนื้อหาข้อมูลสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการเลือกใช้ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ รวมทั้งเสริมทักษะด้านการคิด

3. พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อเทคโนโลยี พ่อแม่เป็นตัวอย่างสําคัญที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น ปิดสื่อเทคโนโลยีระหว่างทํากิจกรรมร่วมกันกับเด็ก ไม่ใช้สื่อเทคโนโลยีขณะรับประทานอาหาร หรือก่อนนอน เลือกใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อหาคําตอบเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสงสัย เป็นต้น

4. พ่อแม่ต้องกําหนดข้อตกลงในการใช้สื่อเทคโนโลยี ควรมีข้อกําหนดว่า เด็กจะใช้สื่อเทคโนโลยีอะไรได้บ้าง ใช้ได้ที่ไหน ใช้อย่างไร และใช้เวลาเท่าใด เช่น ให้เด็ก 3 ขวบใช้แอปพลิเคชันสำหรับเด็กได้ 10 นาที หลังจากนั้นต้องสลับทํากิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่สื่อเทคโนโลยี

5. พ่อแม่ต้องรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี เพราะการให้เด็กใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ พัฒนาการและการเรียนรู้ รวมทั้งส่งผลกระทบถึงการพัฒนาสมองด้วย เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถที่จะยับยั้งชั่งใจตนเองได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยกำหนดระยะเวลาการใช้ให้เหมาะสมกับวัย โดยเด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้ใช้สื่อเทคโนโลยีทุกประเภทรวมกันแล้ว ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน สําหรับเด็กอายุ 2-3 ปีให้ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะทําได้และสําหรับเด็กอายุตํ่ากว่า 2 ปีไม่สนับสนุนให้ใช้สื่อเทคโนโลยีที่เป็นสื่อไม่ปฏิสัมพันธ์ เช่น โทรทัศน์ สื่อจอภาพต่างๆ และต้องจัดเวลาสําหรับการพักสายตา ให้เด็กทํากิจกรรมอื่น ๆ คั่นสลับกับการใช้สื่อเทคโนโลยี โดยทุก 1 นาทีที่ใช้สื่อเทคโนโลยี ควรใช้ 5 นาทีในการกิจกรรมอื่น

6. พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่าการเล่นสำคัญที่สุด เพราะอย่างไรก็ตาม การใช้สื่อเทคโนโลยีให้น้อยหรือหลีกเลี่ยงการใช้มากเกินไป และส่งเสริมให้เด็กได้เล่นกับสื่อที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กในวัยนี้เรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเล่น การได้เคลื่อนไหว ได้สำรวจ และมีปฎิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เช่น พูดคุย อ่านหนังสือ ร้องเพลง เดินเล่น เล่นของเล่นร่วมกันมากกว่าการให้เด็กใช้เวลากับสื่อเทคโนโลยี 

แอปพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมทักษะ STEM การคิด และคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

1. เกมสำหรับวัยหัดเดิน Bimi Boo

รูปภาพประกอบด้วย การ์ตูน, การ์ตูนแอนิเมชัน, แอนิเมชัน, ภาพตัดปะ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

แอปพลิเคชัน เกมสำหรับวัยหัดเดิน Bimi Boo เป็นเกมเพื่อการศึกษาเหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 – 5 ปี โดยเด็กต้องช่วยเจ้าสุนัข Bimi Boo แสนน่ารักทำภารกิจมากมาย เพื่อให้ผ่านด่านทั้ง 30 เกม แต่ละเกมจะช่วยพัฒนาทักษะการคิด ทั้งการคิดเชิงตรรกะ จัดระเบียบสิ่งของ การนับตัวเลข การต่อภาพ การเลือกขนาดเล็ก-ใหญ่ การจัดเรียงสิ่งของตามรูปทรง สี และปริมาณ การจัดหมวดหมู่ เป็นต้น 

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ ios ระบบ Android

2. Kids UP 

แอปพลิเคชัน Kids UP ออกแบบมาเพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกขวาและซีกซ้ายของเด็กอายุ 2 – 7 ปี ช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดที่หลากหลายทั้งด้านคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ดนตรี และส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา สามารถเลือกใช้ได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ เด็กจะได้เล่นเกมแบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและน่าสนใจกว่า 90 ประเภท เลือกเล่นตามช่วงอายุผ่านเกมจากง่ายและเพิ่มความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อเด็กเรียนรู้จบแต่ละบทเรียนจะได้รับสติกเกอร์เป็นรางวัลให้สะสมกว่า 100 แบบ 

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ ios ระบบ Android

3. Inventioneers

แอปพลิเคชัน Inventioneers เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 – 8 ปี ที่อยากเป็นนักประดิษฐ์ มาชวนเด็กๆสร้างสิ่งประดิษฐ์สุดสนุกด้วยตนเอง ยิ่งไขปัญหาได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้รับชิ้นส่วนสำหรับสิ่งประดิษฐ์มากขึ้นเท่านั้น! ถึงแม้จะเป็นภาษาอังกฤษ แต่รูปแบบ ภาพ และองค์ประกอบต่าง ๆ ในแอปพลิเคชัน ก็ถูกออกแบบมาให้เข้าใจง่าย เด็กสามารถเรียนรู้และสนุกกับการคิดหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยผู้ปกครองให้คำแนะนำขณะใช้แอปพลิเคชันร่วมกับเด็กเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ ios ระบบ Android

4. ScratchJr

แอปพลิเคชัน ScratchJr สามารถใช้ได้ทั้งในสมาร์โฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เลือกใช้งานเป็นภาษาไทยและภาษาอื่น ๆ ได้ เด็ก ๆ จะได้สร้างสรรค์และออกแบบการเคลื่อนไหวของตัวละคร โดยการเรียงบล็อกคำสั่งที่เป็นรูปภาพเข้าด้วยกัน เพื่อสั่งงานให้ตัวละครเคลื่อนไหว กระโดด เต้น และร้องเพลง นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งตัวละคร อัดเสียง หรือแทรกภาพเข้าไปในแอปฯ ได้ แอปพลิเคชัน ScratchJr ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กเรียนรู้การเขียนโค้ด แต่ทำให้เด็กเขียนโค้ดเพื่อเรียนรู้

ดาวน์โหลดแอปฯ ระบบ ios ระบบ Android

การเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อพัฒนาทักษะการคิด

1. พิจารณาและคัดสรรเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย สอดคล้องกับพัฒนาการและแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก ให้เด็กได้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อการสํารวจสืบค้น การค้นพบด้วยตนเอง การสร้างเสริมทักษะต่าง ๆ ทั้งการแก้ปัญหา และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ใช้เพื่อฝึกฝนทักษะทางวิชาการ

2. เลือกแอปฯ หรือสื่อที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก (interactive media) โดยผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต มากกว่าการรับชมอย่างเดียวจากโทรทัศน์ หรือคลิปวีดีโอ เพราะแอปฯ หรือสื่อที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กจะสามารถดึงดูดความสนใจ และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านการเรียนรู้ได้ดีกว่า

3. เลือกแอปฯ ที่สามารถบูรณาการสื่ออื่นๆ ได้ และใช้เป็นสิ่งที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช้แอปพลิเคชันทดแทนการเล่นและการใช้สื่ออื่น ๆ

4. เรียนรู้ร่วมกับลูก ไม่ปล่อยให้ลูกใช้แอปฯ ตามลําพัง พ่อแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในขณะที่เด็กเล่นแอปพลิเคชัน ชวนเด็กพูดคุยหรือตั้งคําถามเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กทํา ชวนเด็กสังเกต พูดคุย อธิบาย หรือขยายความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและกระตุ้นให้เด็กสนใจการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่า แอปพลิเคชันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิดและคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่ลืมว่าเด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า การได้รับประสบการณ์ตรง และการเรียนรู้ผ่านการลงมือกระทํา จึงควรจัดหากิจกรรมที่ให้เด็กได้พัฒนาทักษะการคิดผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ใช่เรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชันเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สำหรับเด็กอายุ ๓-๖ ปี. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด.

สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2560). การใช้สื่อเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย. บริษัท พลัสเพลส จำกัด.

Wuws. (2567). ‘เพิ่มพูน’ ห่วงเด็กเล็กติดจอ ส่อพัฒนาการช้าลง ฝากถึงผู้ปกครองเป็นตัวอย่างที่ถูกต้อง ใช้เวลาในครอบครัวส่งเสริมให้เด็กสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ. สืบค้น 18 กันยายน 2567 จาก https://moe360.blog/2024/08/17/screenaddiction/