โรคเหามีสาเหตุเกิดจากตัวเหาซึ่งเป็นแมลงปรสิตชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Pediculus humanus var. capitis” ดูดเลือด กินขี้ไคลบนหนังศีรษะเป็นอาหาร จึงทำให้เกิดอาการคันบริเวณหนังศีรษะ
ในน้ำลายของเหามีสารที่ทำให้คัน ระคายผิวหนัง เกิดตุ่มได้ตรงรอยที่เหากัด หากมีอาการรุนแรง อาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่หนังศีรษะ เหาเคลื่อนไหวได้คล่องตัว จึงสามารถแพร่กระจายจากอีกคนไปสู่อีกคนได้ ทำให้เป็นโรคเหากันได้ง่าย โรคเหาสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ทางการสัมผัส โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกัน เช่น
เด็กเล็ก เด็กนักเรียน เนื่องจากเด็กต้องเข้าโรงเรียนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก และมีโอกาสเล่นหรือทำกิจกรรมใกล้ชิดกันบ่อย ๆ ทำให้เป็นเหาได้บ่อยกว่าวัยอื่น
วิธีกำจัดเหาในเด็กเล็กให้หายขาด
1. การใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหา ได้แก่
1.1 โลชั่นกำจัดเหา เช่น โลชั่นเพอร์เมทริน, โลชั่นเบนซิลแอลกอฮอล์
1.2 ครีมกำจัดเหา เช่น ครีมเพอร์เมทริน โดยสระผมด้วยแชมพูและเช็ดผมพอหมาด แล้วจึงชโลมโลชั่นหรือครีมลงบนเส้นผมและหนังศีรษะ ทิ้งไว้ 10 นาที ล้างโลชั่นหรือครีมออกจากศีรษะจนหมด จากนั้นเช็ดผมให้แห้ง
1.3 แชมพูกำจัดเหา เช่น แชมพูคาบาริล, แชมพูสารสกัดรากหนอนตายหยาก โดยชโลมแชมพูลงบนหนังศีรษะและเส้นผมที่เปียกหมาดๆ ขยี้ให้ทั่ว ทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ ใช้หวีสางขณะผมเปียก แล้วปล่อยให้แห้งเอง
2. การใช้สมุนไพร
2.1 ใบน้อยหน่า หรือ ผิวมะกรูด โดยการนำใบน้อยหน่า 3-4 ใบ ตำให้ละเอียดคลุกกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง คั้นเอาแต่น้ำมาทาให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมไว้ 10 นาที แล้วใช้หวีสางออก
2.2 เมล็ดน้อยหน่า โดยการบดเมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 กรองเอาน้ำไปทาให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าโพกไว้ 1-2 ชั่วโมง
3. การใช้หวีเสนียดสางเหาทิ้ง
ก่อนสางผมควรชโลมครีมนวดผมที่มีสีขาวลงบนผมที่แห้ง เพื่อให้ผมง่ายต่อการสาง ช่วยให้เห็นเหาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้เหาเคลื่อนที่ได้ช้าลง แล้วจึงสางผมด้วยหวีเสนียด ซึ่งมีซี่หวีถี่กว่าปกติจะช่วยกำจัดเหาและไข่เหาบางส่วน แบ่งผมแล้วสางผมตั้งแต่หนังศีรษะจนถึงปลายผมใน 4 ทิศทาง คือ ด้านซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง จากนั้นนำหวีไปเช็ดกับผ้าสะอาดเพื่อตรวจสอบว่ามีเหาอยู่หรือไม่ วิธีนี้ควรทำซ้ำอย่างน้อยทุก ๆ 1-2 วัน ติดต่อกันประมาณ 10 วัน หรือจนกว่าจะไม่พบเหาบนหนังศีรษะ
แนวทางการป้องกันการเป็นเหา
1. สระผมให้สะอาดเป็นประจําอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2. ทำความสะอาดหมอน ผ้าปูที่นอนให้ลูกเป็นประจำ และนำไปตากแดดเสมอ
3. เตรียมของใช้ส่วนตัวให้ลูกนำไปใช้ที่โรงเรียน ไม่ใช้สิ่งของหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
4. ไม่คลุกคลีหรือใช้หวีร่วมกันกับผู้ที่เป็นเหา
5. ครูหรือผู้ปกครองควรตรวจดูความสะอาดของผมและหนังศีรษะเพื่อหาเหาให้เด็กและสมาชิกในครอบครัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 6. หากคุณครูตรวจพบว่าเด็กเป็นเหา ต้องรีบแจ้งผู้ปกครองเพื่อทําการรักษาทันที และแนะนําให้สํารวจ สมาชิกในครอบครัวด้วย ถ้าพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นเหาต้องกําจัดเหาให้ทุกคนด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่ง จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเหาได้