แนวทางการดำเนินการช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ 0-8 ปี

ช่วงแรกเกิดถึง 8 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนและก้าวกระโดด ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาซึ่งจะแตกต่างกันไปตามความพร้อมและประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับของแต่ละบุคคล จึงถือได้ว่าเป็น “ช่วงวิกฤติของชีวิตเด็ก” เนื่องจากเป็นช่วง
ระยะเวลาที่เด็กจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ช่วงรอยเชื่อมต่อหรือระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในชีวิตของเด็ก 3 ช่วง ได้แก่

1) รอยเชื่อมต่อจากบ้านสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

2) รอยเชื่อมต่อจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่ระดับอนุบาล

3) รอยเชื่อมต่อจากระดับอนุบาลสู่ระดับประถมศึกษา

เด็กปฐมวัยและครอบครัวจึงจำเป็นต้องได้รับสนับสนุน เพื่อการปรับตัว
ได้อย่างราบรื่นในรอยเชื่อมต่อทั้ง 3 ช่วงเวลานี้

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการศึกษาของประเทศ และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินการช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ 0 – 8 ปี ให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กปฐมวัยสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในช่วงรอยเชื่อมต่อ และสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้
เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม
และสติปัญญา สามารถเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มนโยบายและแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566).แนวทางการดำเนินการช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ 0-8 ปี. กรุงเทพฯ : บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2566). แนวทางการดำเนินการช่วงรอยเชื่อมต่อของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ 0-8 ปี. สืบค้น 22 เมษายน 2566, จาก https://www.onec.go.th/th.php/book/BookView/2002