บทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติให้ยั่งยืน
ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย คือ กระทรวง
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ
แต่อย่างไรก็ตามแต่ละกระทรวงหรือแต่ละหน่วยงานต่างก็ทำตามบทบาทหน้าที่ของตนถึงแม้ว่าจะมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงเพื่อหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกัน
แบบบูรณาการแล้วก็ตาม ซึ่งจากรายงานการศึกษาโครงการติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย
ในระดับภูมิภาคของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่ายังไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังขาดความเชื่อมโยงหรือแนวทางการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขาดกลไกการประสานงานในระดับพื้นที่ ตลอดจนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยยังมีเป็นจำนวนน้อย ประกอบกับงบประมาณในการบูรณาการการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยมีไม่เพียงพอ ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงเป็นหน่วยงานกลางที่มีความสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการทำให้เกิดการขับเคลื่อนและบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดการเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม นำมาสู่การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มี
ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยผู้เขียนได้ทำการสังเคราะห์บทบาทหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในการพัฒนา
เด็กปฐมวัย โดยแบ่งบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนออกเป็นแต่ละด้าน ดังนี้
1. ด้านนโยบาย เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการและขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และเป็นหน่วยงานรวบรวมและติดตามข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัย โดยมีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มีมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 สำหรับให้
ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางหรือกรอบในการดำเนินงาน รวมถึงการนำไปประกอบการจัดทำนโยบายของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการต่าง ๆ เพื่อผลักดันและสนับสนุนการนำนโยบายระดับชาติสู่การปฏิบัติ
2. ด้านกลไกและระบบประสานงานด้านเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัด เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งคณะ
อนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดในเขตกรุงเทพมหานคร และนอกเขตกรุงเทพมหานคร
รวมจำนวน 77 จังหวัด เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและพัฒนากลไกและระบบการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยจากระดับนโยบายสู่ระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกในการประสานทำงานการปฏิบัติอย่างแท้จริง
3. ด้านงบประมาณการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นหน่วยงานที่ให้คำแนะนำ เสนอแนะแนวทางการจัดสรรและแสวงหาทรัพยากรในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และยังเป็นหน่วยงานกลางเพียงหน่วยงานเดียวที่ควรมีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการพัฒนา
เด็กปฐมวัยให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ด้านองค์ความรู้และบริการข้อมูล เป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยและการสร้างนวัตกรรม รวมถึงรวบรวม
องค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่หลากหลาย เป็นคลังความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งสามารถให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีความสนใจนำไปใช้ต่อยอดและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสังคมโลกได้
5. ด้านระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่เป็นหนึ่งเดียว เป็นหน่วยงานกลางในการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กปฐมวัย เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถเชื่อมต่อใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศจากหน่วยงานกลาง เกิดการบูรณาการข้อมูลจาก
ทุกภาคส่วนและนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานตนเองได้ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์อย่างสูงสุดต่อตัวเด็กและการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยได้
อนึ่ง บทบาทของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย ด้านกลไกและระบบประสานงานในระดับจังหวัด ด้านงบประมาณ ด้านองค์ความรู้และการบริการข้อมูล และด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยการพัฒนาเด็กปฐมวัยในแต่ละด้านดังกล่าวข้างต้นนั้น ล้วนเป็นการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ในลักษณะการบูรณาการการทำงานเพื่อทำให้เกิดองค์รวมร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวของเด็กปฐมวัยและประเทศชาติอย่างสูงสุด ผ่านการประชุมปรึกษาหารือ การระดมความคิดเห็น การลงมือปฏิบัติ การกำกับติดตาม รวมถึงการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย และจากผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีสำนักงานเลขาธิการเป็นหน่วยงานกลางที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การพัฒนาเด็กปฐมวัยของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ส่งผลให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยของชาติเป็นไปอย่างมีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาติ ประเทศไทย
ปัณน์ณัช พิชญพิมลมาศ และ มัทนา วังถนอมศักดิ์
Pannach Pichayapimonmat and Mattana Wangthanomsak
ปัณน์ณัช พิชญพิมลมาศ นักศึกษา, หลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
มัทนา วังถนอมศักดิ์ รองศาสตราจารย์ ดร., คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร