เด็กไทยสายตาดี ถ้าพ่อแม่รีบพาไปตรวจ (แต่เนิ่นๆ)

“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ”

การมองเห็นเป็นการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เมื่อสมองของลูกน้อยเริ่มทำงานจับภาพ
และจดจำสิ่งที่เห็น ก็จะส่งผลไปถึงพัฒนาการด้านอื่น ๆ เช่น การหยิบจับ การคลาน การนั่งนั่ง
และการเดินของลูกน้อย ร่างกายจะมีพัฒนาการการทำงานประสานกันของสายตาและกล้ามเนื้อ
มัดเล็ก สามารถมองเห็นได้ไกลมากขึ้นและชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านความชัดเจน
และความลึกของวัตถุ  เมื่อเด็กโตขึ้นพ้นขวบปีแรกการมองเห็นของลูกน้อยจะค่อย ๆ พัฒนา
อย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์เท่ากับสายตาของผู้ใหญ่ตอนที่มีอายุครบ 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาทอง
ทุกครั้งที่ดวงตาของเด็กทำงาน สมองก็จะตอบสนองต่อการมองเห็น เกิดเป็นความสามารถ
ในการคิดและจินตนาการตามมา

มีงานวิจัยศึกษาพัฒนาการด้านความสามารถและความฉลาดในเด็กวัยแรกเกิดจนถึงสามขวบที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะพบว่า มีพัฒนาการด้านกระบวนการคิดช้า และได้ผลคะแนนระดับความฉลาดต่ำกว่าเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการได้ยินเสียอีก เนื่องจากการมองเห็นมีการทำงานที่ละเอียดอ่อนกว่ามาก เพราะที่ประสาทตามีเส้นใยประสาท 1 ล้านเส้นใย ในขณะที่ประสาทหูจะมีเส้นใยเพียง 50,000 เส้นใยเท่านั้น

การที่เด็กมองไม่ชัดมองไม่เห็นหรือมีภาวะการมองบกพร่อง จะทำให้ระบบประสาทในการ
มองเห็นไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ นอกจากจะส่งผลต่อกระบวนการคิดแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิด
ปัญหาต่อเนื่องตามมาอีกมาก เช่น ทำให้เกิดภาวะสายตาขี้เกียจการมองเห็นพร่ามัว ยิ่งเพ่งมาก
ก็จะทำให้กล้ามเนื้อตาเกร็ง จนกลายเป็นตาเขตาเหล่ตามมาในท้ายที่สุด

ปัญหาสายตาผิดปกติในเด็กบางส่วนเกิดจากพันธุกรรม บางส่วนก็อาจเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิดหรือเสื่อมสภาพในภายหลังแต่อีกหลายส่วนก็เกิดจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคที่พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โดยสิ่งที่ตามมาคือ
เด็กรุ่นใหม่เป็นเด็กที่มีปัญหาด้านสายตาเพิ่มมากขึ้น

ทางการแพทย์ถือว่า ถ้าเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติและได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษา
อย่างเหมาะสม การแก้ไขที่ทันเวลาด้วยการให้เด็กได้สวมแว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ยิ่งดำเนินการแก้ไขได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก่อนอายุครบ 6 ขวบปี ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการทางการมองเห็นและด้านอื่น ๆ ของเด็ก

ดังนั้นพ่อแม่และผู้ปกครองจึงต้องสังเกตความผิดปกติของลูกด้วยตนเอง เช่น เมื่อเห็นอาการตาเข ตาเหล่ ตาไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกัน ตาลอย ชอบกระพริบหรือหยีตา หลีกเลี่ยงการมอง
ไฟสว่าง ชอบเอียงหน้าเอียงคอเวลามองหรืออ่าน ในกรณีเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจจะสังเกตจากการ
ดูหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ ปวดศีรษะหลังเลิกเรียน ชอบจดงานจากสมุดเพื่อนมากกว่ามองบนกระดาน มีอาการคลื่นไส้เวลาใช้สายตามาก ๆ หรือบ่นว่ามองกระดานไม่ชัดเดินชนสิ่งต่าง ๆ บ่อย

แต่อีกวิธีที่ได้ผลแม่นยำ ประหยัด ปลอดภัย คือ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูก ๆ ไปตรวจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล และสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง หรือศึกษาข้อมูล
เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ และเว็บไซต์ของ
กรมการแพทย์ และตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี”
ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองสายตาเด็กสำหรับส่งต่อเข้าระบบการดูแลต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2566). เด็กไทยสายตาดี ถ้าพ่อแม่รีบพาไปตรวจ (แต่เนิ่นๆ). สืบค้น 12 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.healthcheckup.in.th/articles/24