ความรุนแรงต่อเด็กผ่านสื่อ

ความรุนแรงต่อเด็กผ่านสื่อ เกิดได้หลายรูปแบบ ดังนี้

1. เด็กในฐานะผู้รับสื่อ ทั้งสื่อที่มีเนื้อหาความรุนแรงทางเพศ ทางกาย และในประเด็นอื่น ๆ
เด็กอาจเข้าไปดูสื่อลามกหรือสื่อที่มีเนื้อหาที่เป็นความรุนแรงโดยบังเอิญหรือตั้งใจ เนื้อหาที่แสดง
อาจมาในรูปแบบ เสียง ภาพ บทความ โดยเป็นได้ทั้งสื่อที่ผิดและไม่ผิดกฎหมาย ได้แก่ สื่อลามก
เกมที่มีเนื้อหาความรุนแรง เว็บไซต์ที่แสดงความเกลียดชัง เหยียดผิว เหยียดชาติพันธุ์ สื่อเหล่านี้
อาจปรากฏ (pop-up) ขึ้นมาในขณะที่เด็กเข้าอินเทอร์เน็ต เด็กอาจเข้าไปดูโดยบังเอิญ ทำให้เกิด
ผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจเมื่อเห็นภาพและเสียงเหล่านั้น ในขณะที่เด็กบางรายอาจเข้าไปดูเนื้อหา
ความรุนแรงเพิ่มอีก เนื่องจากเมื่อมีการคลิกเข้าไปดู จะทำให้สื่อในรูปแบบเดียวกันปรากฏให้เด็ก
เห็นมากขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นทำให้มีการดูเนื้อหาเหล่านี้ซ้ำ ๆ จนทำให้การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป
เกิดการยอมรับความรุนแรงทีละน้อยจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแม้จะมีเว็บไซต์และเกม
บางอย่างที่มีการจำกัดอายุผู้ใช้งาน แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการป้องกันการเข้าถึง

2. ความรุนแรงต่อตัวเด็กโดยตรง เช่น การประจาน การแสดงความโกรธ เกลียดเด็ก ผ่านสื่อ หรือใช้สื่อเพื่อข่มขู่ทำให้อับอาย หรือกลัว รวมถึงการเผยแพร่ภาพเปลือย หรือวิดีโอที่มีเพศสัมพันธ์
กับเด็ก ผู้กระทำอาจใช้สื่อดังกล่าวเพื่อแบล็คเมล์ให้เด็กยอมทำตามความต้องการ และอาจข่มขู่ไปถึงครอบครัวของเด็กด้วย นอกจากนี้ความรุนแรงอาจมาในรูปแบบ การสะกดรอยหรือตามรังควาน
ผ่านสื่อ (cyber stalkers)

3. เด็กเป็นผู้สร้างเนื้อหาเผยแพร่ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาทางอารมณ์ อาจสร้างและเผยแพร่ความรุนแรง เช่น วิดีโอทำร้ายเด็กอื่น รูปเปลือยหรือวิดีโอที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ของตนเองหรือของเพื่อนเพื่อเรียกยอดเข้าชม ยอดไลค์

4. พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ เด็กบางรายติดเกมหรือสื่อออนไลน์ อาจชอบบทบาทสมมุติของตนในเกมหรือในสื่อ ที่แตกต่างจากชีวิตจริง และเป็นช่องทางทำให้ผู้กระทำ
เชื่อมการติดต่อกับเด็ก ผู้กระทำซึ่งอาจเป็นนักต้มตุ๋น หรือเป็นพวกแสวงผลประโยชน์กับเด็ก
เริ่มจากเสนอเป็นตัวช่วยเด็กในการเล่นเกม แลกเปลี่ยนสิ่งของในเกมและตามมาด้วยการล่อลวง
ในรูปแบบต่าง ๆ

การที่เด็กหมกมุ่นอยู่กับเกมหรือสื่อออนไลน์ ทำให้มีการแยกตัวจากสังคม ขาดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่งผลให้เด็กลังเลในการขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา เด็กอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือ เด็กที่รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธจากเพื่อนในชีวิตจริง มักจะทดแทนโดยการคบเพื่อนผ่านสื่อ การได้รับความสนใจ มีจำนวนเพื่อนทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ

5. ผู้กระทำใช้สื่อล่อลวงเด็ก ก่อนหน้ายุคที่มีการสื่อสารออนไลน์ ผู้คนและสังคมรอบตัวเด็ก
สามารถขัดขวางผู้กระทำไม่ให้เข้าหาเด็กได้ง่ายกว่า แต่การแทรกแซงการสื่อสารออนไลน์ระหว่าง
ผู้กระทำกับเด็กทำได้ยาก ผู้กระทำใช้วิธีการล่อลวงหลายรูปแบบ เช่น เสนอการให้ทุนเรียน
ทุนทำกิจกรรมหรือโครงการ ชักชวนให้ลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนสูง ชักชวนให้เป็นโมเดลถ่ายภาพ
หรือนักแสดง เป็นต้น เนื่องจากสื่อออนไลน์สามารถโต้ตอบกันได้ทันที จึงสร้างความสัมพันธ์กัน
ได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้กระทำรับทราบข้อมูลส่วนตัวของเด็กที่แชร์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้
การเช็คอิน หรือการแสดงสถานที่ที่ตนอยู่ต่อสาธารณะ ทำให้ผู้กระทำรู้ตำแหน่งที่อยู่ของเด็ก
สื่อออนไลน์ยังทำให้ผู้กระทำสามารถเข้าถึงเด็กในจำนวนมาก ได้ถึงหลายร้อยคน ผู้กระทำมีทักษะ
ในการโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม โดยใช้วิธีตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์จิตใจของเด็ก
ให้ความเป็นเพื่อน จนในที่สุดเด็กให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจ ลดแรงต้านและความระแวง จนให้ข้อมูล
ส่วนตัว ผู้กระทำอาจล่อลวงให้เด็กเปิดกล้อง ให้แก้ผ้า หรือให้ช่วยตัวเองผ่านกล้อง จนถึงสามารถ
นัดให้เด็กมาพบและให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ

ผู้กระทำจะเลือกเด็กที่ชักจูงได้ และเด็กที่ยังคงมีการตอบโต้อย่างต่อเนื่องกับผู้กระทำ
ระยะเวลาที่ทำให้เด็กวางใจจนสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ อาจใช้ไม่นาน ไม่ถึงชั่วโมง หลายชั่วโมง
หลายวัน หรือหลายเดือน ขึ้นกับจุดมุ่งหมายของผู้กระทำและการตอบสนองของเด็ก ผู้กระทำ
อาจสร้างชื่อปลอม ตัวตนปลอม ดึงเด็กเข้าสู่ความสัมพันธ์ออนไลน์ เมื่อเด็กไว้วางใจ อาจจะเริ่ม
เปิดเผยข้อมูลหรือตัวตนจริง โดยยังสามารถคงความเชื่อมั่นไว้วางใจของเด็กเอาไว้ได้ ผู้กระทำ
บางรายใช้ข้อความหรือสื่อลามก ล่อลวงให้เด็กเชื่อว่าพฤติกรรมทางเพศต่อเด็กเป็นเรื่องปกติ
อาจใช้วิธีตั้งชื่อที่น่าสนใจให้เด็กเปิดเข้าไปดู โดยไม่รู้ว่าเป็นสื่อความรุนแรง

6. การแสวงหาประโยชน์กับเด็ก สื่อออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ผู้กระทำใช้เป็นช่องทาง
เพื่อเข้าหาเด็ก เป็นช่องทางการหาเหยื่อ และเป็นที่เผยแพร่เนื้อหารุนแรงให้กับเด็ก ขบวนการ
ค้ามนุษย์ใช้สื่อออนไลน์เป็นวิธีหนึ่งในการค้นหาเหยื่อรายใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยผ่านเว็บไซต์หรือ
สื่อสาธารณะได้อย่างกว้างขวาง เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้เด็กตกเป็นเหยื่อ ใช้สื่อในการหาตลาด
การค้าแรงงาน การขนส่งเด็กและการท่องเที่ยวเชิงเพศกับเด็ก (child sex tourists) เมื่อองค์กร
อาชญากรรมใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลดลง ทำกำไรมากขึ้น
ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การจัดส่งสินค้าจำพวกภาพ หรือวิดีโอ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทำให้เครือข่าย
ผู้ผลิตและขายสื่อความรุนแรงต่อเด็ก เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถติดต่อกับลูกค้าได้
อย่างกว้างขวาง ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถปกปิดตัวตน ติดตามได้ยาก
ลดโอกาสในการหาตัวผู้กระทำมาดำเนินคดี และเมื่อสามารถติดต่อกับลูกค้าได้ จะสามารถติดต่อ
ขายสินค้าอื่น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง สื่อลามกที่กระทำกับเด็กอาจถูกเผยแพร่ซ้ำ ๆ หรืออาจเผยแพร่
ไปในสื่อสาธารณะที่มีผู้เข้าชมเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเด็ก

เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กที่เป็นเหยื่อทางเพศมีอายุน้อยลง จำนวนสื่อที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
ทางเพศต่อเด็กก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการยอมรับและทนต่อการกระทำ
ดังกล่าวมากขึ้น และยิ่งทำให้ผู้บริโภคสื่อเหล่านี้มีความต้องการสื่อที่ระดับความรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ผู้ที่นิยมท่องเที่ยวเชิงเพศกับเด็กใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสาร ส่งข้อความ แชร์เรื่องราวต่าง ๆ รวมถึง
ข้อมูลในการเข้าถึงเด็ก แนะนำวิธีการในการหลบเลี่ยงกฎหมาย มีการตั้งเว็บไซต์เฉพาะกิจ เพื่อส่งต่อ
ข้อมูลเด็กที่มีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อ และใช้ติดต่อเพื่อวางแผนการเดินทาง สื่อเหล่านี้ไม่ช่วยให้
ผู้กระทำตระหนักถึงการกระทำในด้านลบของตน ในทางกลับกันการที่มีสื่อลามกของเด็กจำนวนมาก
อาจสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ รูปแบบใหม่ ๆ ของความรุนแรง เช่น
การผลิตสื่อความรุนแรงทางเพศต่อเด็กตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยสามารถแจ้งความต้องการได้
เช่น อายุของเด็ก ลักษณะกิจกรรมที่ต้องการให้เกิด อีกรูปแบบของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นคือ
การส่งภาพเคลื่อนไหวขณะมีเพศสัมพันธ์กับเด็กขณะที่กำลังเกิดขึ้น (live) พบว่ามีการแลกเปลี่ยน
ข้อมูล ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ทั้งช่องทางที่ไม่เป็นการค้าและเป็นการค้า คนที่ต้องการดูสื่อเหล่านี้
ต้องจ่ายเงินหรือบางแห่งยินยอมให้ใช้สื่อความรุนแรงต่อเด็กที่ตนเองทำขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายแทนการ
จ่ายเงิน และแม้ว่าสื่อสาธารณะที่เข้าถึงง่ายจะลดลงจากการถูกปราบปราม แต่ “dark web”
หรือเว็บที่ผิดกฎหมายกลับมีจำนวนมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

วนิดา เปาอินทร์. (2565). ความรุนแรงต่อเด็กผ่านสื่อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566, จาก  https://oscc.consulting/media/38