อะไรเป็นสาเหตุให้ครอบครัวทำร้ายเด็ก

อะไรเป็นสาเหตุให้ครอบครัวทำร้ายเด็ก

เป็นการยากที่จะเข้าใจว่าทำไมคนบางคนถึงทำร้ายเด็ก คนทั่วไปมักจะคิดว่าคนที่ทำร้ายเด็ก
น่าจะมีปัญหาความเจ็บป่วยทางจิต แต่ในความเป็นจริงคนที่ทำร้ายเด็กจากสาเหตุของความเจ็บป่วย
ทางจิตมีจำนวนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นนอกจากนี้ยังพบว่า พ่อแม่ที่ทำร้ายลูกส่วนมากจะรักลูก
ของตนเอง แต่เป็นคนที่มีแนวโน้มว่าไม่สามารถรับมือกับความเครียด ความกดดัน เป็นผู้ที่มีความ
อดทนและวุฒิภาวะที่ต่ำกว่าพ่อแม่ทั่วไป ทำให้ไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของเด็ก
และเพิ่มความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก ได้ทั้งทางร่างกายและอารมณ์จิตใจ (ไม่รวมถึงสาเหตุ
ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงด้านเพศ) โดยสรุปแล้ว การที่บุคคลใดสามารถทำร้ายเด็กได้เป็นเรื่อง
ที่มีความซับซ้อน และไม่สามารถอธิบายสาเหตุอย่างง่าย ๆ ได้ เพราะพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง
มักเป็นผลรวมของการมีปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย ได้แก่

1. การถ่ายทอดวิธีปฏิบัติที่รุนแรงต่อเด็กที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น

เด็กที่เติบโตในความรุนแรง นอกจากจะมีการเรียนรู้ เลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงที่พ่อแม่
แสดงแล้ว ยังไม่มีโอกาสเห็นแบบอย่างและบรรยากาศการเลี้ยงดูที่อบอุ่น เมื่อเติบโตเป็นพ่อแม่
จึงมีแนวโน้มที่ใช้ความรุนแรงกับลูกของตน การศึกษาพบว่าพ่อแม่ร้อยละ 2-3 จะทำร้ายลูก
แต่คนที่มีประวัติในวัยเด็กเคยถูกพ่อแม่ทำร้าย จะทำร้ายลูกตนเองมากกว่า 10 เท่าหรือประมาณ
ร้อยละ 30 จากสถิติดังกล่าวยืนยันว่าการถูกทำร้ายในวัยเด็กทำให้มีความเสี่ยงที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ที่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ในทางกลับกันจากสถิติดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เมื่อเป็น
ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมทำร้ายเด็ก ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัว
ทำนายว่าเด็กที่ถูกทำร้ายจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทำร้ายเด็กหรือไม่ขึ้นกับความเข้าใจของเด็ก
ขณะถูกทำร้าย ถ้าเด็กเชื่อว่าเป็นเพราะตัวเองประพฤติไม่ดี และควรถูกทำโทษให้หลาบจำ
เขาจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก มากกว่าเด็กที่ตระหนักว่าการทำร้ายเป็นสิ่งผิด
เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรทำ

2. ปัญหาส่วนบุคคล

การติดเหล้า แอลกอฮอล์ ยา และสิ่งเสพติดอื่น ๆ พบได้บ่อยในพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก ทั้งจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการสิ่งเสพติด รวมถึงการที่สิ่งเสพติดมีผลกระตุ้นพฤติกรรมรุนแรง คนที่ติดสารเสพติดมีอัตราการทำร้ายลูกมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า มีอัตราการละเลยทอดทิ้งมากกว่าคนทั่วไป 4 เท่า และจะพบความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ปัญหาความผิดปกติ
ด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า หรือการเจ็บป่วยทางจิตแบบอื่น ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความเครียดในการทำหน้าที่หนักจากการเป็นพ่อแม่ อาจจะมาในรูปแบบการใช้ความรุนแรง
หรือการไม่ตอบสนอง ไม่สนใจเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชที่ได้รับการรักษาจะช่วยทำให้
ความสามารถในการรับมือกับปัญหาดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำร้ายเด็กพ่อแม่ที่ไม่มี
ความเชื่อมั่นหรือความภาคภูมิใจในตนเอง ถูกกดดันหรือเครียดจากสภาพการทำงานหรือพ่อแม่
ที่ไม่มีความพร้อมเป็นวัยรุ่น หรือไม่มีวุฒิภาวะมากพอ มักจะไม่สามารถรับภาระหนักหรือความกดดัน
ที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเลี้ยงดูลูก

3. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู วิธีการเลี้ยงดู
และปัจจัยจากตัวเด็ก

ได้แก่ การที่พ่อแม่ พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือผู้เลี้ยงดูไม่ได้เลี้ยงดูเด็กเอง ไม่ได้มีระยะเวลา
การสร้างสายใยผูกพันหรือการมีความคาดหวังต่อเด็กไม่เป็นจริงตามวัยและพัฒนาการ การไม่รู้วิธี
ที่ถูกต้องที่จะเลี้ยงดูหรือสนับสนุนให้เด็กเติบโตตามศักยภาพ นอกจากนี้ลักษณะบางอย่างของเด็ก
อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียดมากขึ้น ได้แก่ เด็กปัญญาอ่อน พิการปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้มี
ความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากภาระที่เพิ่มมากขึ้น จากการดูแลเด็ก

4. โครงสร้างครอบครัว

ลักษณะครอบครัวที่เพิ่มความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก ได้แก่ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว มีความเครียดสูง ปัญหาเรื้อรังด้านความสัมพันธ์สามีภรรยา รวมถึงปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการหย่าร้าง มีการทำร้ายกันระหว่างสามีภรรยาหรือคนในครอบครัว หรือการที่สามีหรือภรรยาหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งยึดอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ เพียงฝ่ายเดียว เช่น เรื่องบ้าน งาน ค่าใช้จ่าย เป็นต้น ปัญหาครอบครัว ได้แก่ ฐานะเศรษฐกิจ หนี้สิน ตกงาน ความเจ็บป่วย บ้านทรุดโทรม ครอบครัวที่มีสมาชิกมากเกินไป มีเด็กเกิดใหม่ มีคนพิการใหม่ หรือมีการตายเกิดขึ้น นอกจากนี้พบว่าครอบครัวยากจนจะมีรายงาน
การทำร้ายเด็กมากกว่าชนชั้นอื่น ขณะที่ครอบครัวชนชั้นกลางและชั้นสูง ที่มีการทำร้ายเด็ก การช่วยเหลืออาจเข้าถึงได้ยากกว่า

5. การแยกตัวจากสังคมหรือการไม่มีแหล่งสนับสนุน

การมีแหล่งสนับสนุนเป็นปัจจัยด้านบวกสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก พ่อแม่อาจต้องการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดูแลครอบครัวและลูกได้ เช่น เศรษฐกิจ ฐานะ เวลา รวมถึงปัญหาอารมณ์จิตใจถ้าสังคมใดถือว่าการดูแลเด็กเป็นหน้าที่ร่วมกัน เช่น ชุมชนที่เพื่อนบ้าน ญาติ เพื่อน เข้ามาช่วยดูแลเด็ก เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จะเป็นสังคมที่มีอัตรา
การทำร้ายเด็กต่ำ ซึ่งพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่ทำร้ายเด็กมักมีแนวโน้มแยกตัวจากสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการสื่อสาร หรือปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหรือญาติ ซึ่งยิ่งทำให้ไม่มีแหล่งสนับสนุนที่จะประคับประคองช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัว และการที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูแยกตัวจากสังคม ก็ทำให้
แนวโน้มที่จะปรับพฤติกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสังคมยากขึ้น

6. ปัจจัยทางสังคม

ความเครียด ความรู้สึกกดดัน จากปัจจัยทางสังคมที่หลากหลาย เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ครอบครัวทำร้ายเด็ก รวมถึงทัศนคติสังคมที่ยอมรับความรุนแรง หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมบ่อยครั้ง การเหยียดผิวหรือเผ่าพันธุ์ สังคมที่ให้สิทธิทางเพศไม่เท่าเทียมกัน การที่สังคมยอมรับการใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก รวมถึงความเชื่อว่าพ่อเเม่เป็นเจ้าของและมีสิทธิและอำนาจที่จะทำอะไรกับลูกก็ได้เป็นความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก

เอกสารอ้างอิง

วนิดา เปาอินทร์. (2565). อะไรเป็นสาเหตุให้ครอบครัวทำร้ายเด็ก. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566, จาก  https://oscc.consulting/media/48