การพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของเด็กเล็กเป็นเป้าหมายหลักของโรงเรียนนานาชาติบริติชแห่งบอสตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือการศึกษานอร์ดแองเกลีย มีเด็ก ๆ อายุตั้งแต่ 18 เดือนถึง 18 ปี และมีผู้คนจากชนชาติต่าง ๆ กว่า 80 ชาติ
เด็กวัยเล็ก หรือที่เรามักเรียกว่า วัยเตาะแตะ ที่โรงเรียนนานาชาติบริติชแห่งบอสตันสามารถเข้าออกพื้นที่กลางแจ้งได้อย่างอิสระ เพราะโรงเรียนมุ่งเป้าสนับสนุนพัฒนาการทางกายของเด็ก
ทุกมิติ
การทำงานกับเด็กที่อายุ 18 เดือนถึงสองขวบเก้าเดือน ทำให้โรงเรียนตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของเด็ก ๆ ทั้งสองอย่างสำคัญมากสำหรับการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดี จึงได้ปรับสถานที่กลางแจ้งของโรงเรียนให้สามารถช่วยเด็กสร้างทักษะสำคัญทั้งสองอย่าง และได้ผลดีมาก
การพัฒนาพื้นที่กลางแจ้งของโรงเรียนแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ Every Child
a Mover (เด็กทุกคนชอบเคลื่อนไหว) ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบปรับสมดุลการทรงตัวของเด็กเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพัฒนาการด้านการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ได้ดีมาก
เพื่อพัฒนาระบบนี้ เด็ก ๆ ต้องมีโอกาสเคลื่อนไหวไปรอบ ๆ ในทิศทางต่าง ๆ โรงเรียนจึงปรับปรุงสวน เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบอิสระ นอกจากสามารถเคลื่อนไหว
ไปกับไม้ลื่น เนินเล็ก ๆ และจักรยาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังมองหาวิธีใหม่ ๆ และสร้างสรรค์เพื่อชวนให้เด็กๆ เคลื่อนไหวและพัฒนาการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของตนเอง
สร้างเนินให้เด็กปีน
โรงเรียนได้รับฐานรองสินค้าไม้หลายขนาดมา จึงฝังฐานรองอันหนึ่งเข้าไปที่ด้านข้างเนิน และเมื่อเติมอิฐสำหรับปีนเข้าไปสองสามก้อน ทำให้เด็ก ๆ มีที่ทางสำหรับพัฒนาการทรงตัวของตน
ด้วยการปีนเนิน โดยเด็กชั้นเล็กที่สุดรักการใช้หินช่วยปีนขึ้นเนิน ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาจะชอบการเดินไปตามฐานรองโดยไม่ตกร่องไม้ ความคิดง่าย ๆ นี้ช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ทั้งหมดของเด็กๆ
ทำทางวิบาก
ฐานรองไม้ถูกนำมาทำเป็นทางวิบากให้เด็ก ๆ เล่นด้วย ครูสังเกตว่าแม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ยังคิดเกมใหม่ ๆ เพื่อท้าทายตัวเองได้ ทั้งที่ฐานรองบนพื้นก็ท้าทายพอสำหรับการพัฒนาทางกายและการทรงตัวของเด็กเล็กแล้ว ส่วนเด็กโตก็สามารถขยายขอบเขตความสามารถของตัวเองออกไปได้
ด้วยการเพิ่มโจทย์ท้าทายของตัวเองขึ้นมา เช่น วางคานทรงตัวไว้ระหว่างฐานรองสองชิ้นหรือทำให้ฐานรองสูงขึ้น หรือตั้งฉากกัน ซึ่งเด็ก ๆ จะคิดหาวิธีทำให้สิ่งกีดขวางบนทางวิบากยากขึ้นสำหรับ
ตัวเองเพื่อน ๆ และครูตลอดเวลา โรงเรียนจึงพยายามปรับปรุงทางวิบากอยู่เป็นประจำ เพื่อให้เด็ก ๆ ตื่นเต้นเสมอ
ของเล่นเคลื่อนที่ได้
โรงเรียนพยายามจำกัดจำนวนของเล่น “อยู่กับที่” ในบริเวณกลางแจ้ง เพราะพบว่าของเล่นที่เด็ก ๆ เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้มักจะถูกมองข้าม เด็ก ๆ ชอบการได้เล่นวัสดุต่างๆ ที่สามารถจัดวางได้หลายรูปแบบมากกว่าเมื่อสังเกตเห็นว่าเด็ก ๆ ชอบกระโดดลงแอ่งน้ำโคลน จึงหาแทงค์น้ำมาให้ ซึ่งจะรองน้ำฝนจนเต็มทุกครั้งที่ฝนตก การวางถังไว้ข้างแทงค์กระตุ้นให้เด็ก ๆ ตักน้ำและขนไปที่แอ่งทราย การหิ้วถังน้ำหนัก ๆ ไม่เพียงช่วยพัฒนาความแข็งแรงของเด็ก แต่ยังทำให้ได้ใช้ทักษะ
การประสานสัมพันธ์ เพื่อจะไม่ทำน้ำหก
พาเล่นลงเนิน
มีเนินแห่งหนึ่งห่างจากห้องเรียนไม่ไกล ซึ่งพวกเด็ก ๆ ชอบกลิ้งลงมามาก ครั้งแรกที่พาไปเนิน เด็ก ๆ ยังไม่กล้ากลิ้ง แค่เดินขึ้น ๆ ลง ๆ และนั่งไถลลงมา แต่เมื่อไปที่เนินบ่อยขึ้น เด็ก ๆ ได้พัฒนาสัมผัสด้านการทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ในสวนบ่อยขึ้น พวกเด็กก็มั่นใจความสามารถในการเคลื่อนไหวของตัวเอง ตอนนี้เด็ก ๆ มั่นใจที่จะกลิ้งลงมาตามเนิน และชอบแข่งกันว่าใครจะกลิ้งเร็วที่สุด
ครูและผู้ดูแลต้องเปลี่ยนทัศนคติ
เมื่อมีการเปลี่ยนแผนปฏิบัติ แน่นอนว่าต้องมีปัญหาเรื่องความมั่นใจของผู้ปฏิบัติงาน การเปิดคลิปจากการประชุมด้านเด็กเล็กว่าด้วยพัฒนาการทางร่างกาย ช่วยให้ผู้ช่วยสอนในโรงเรียนเข้าใจความสำคัญและสาเหตุของการให้เด็ก ๆ เล่นกลางแจ้งได้ ครูและผู้ดูแลจำนวนมากมักเป็นพวก
“หลีกเลี่ยงความเสี่ยง” โดยเฉพาะในเด็กที่เล็กมาก ๆ และเกี่ยวข้องกับการวิ่งเล่นกลางแจ้ง โรงเรียนจึงเปลี่ยนแปลงภาษาที่ใช้กับเด็ก ๆ เวลาที่ให้เข้าร่วมการเล่นที่มีความเสี่ยง โดยพยายามพูดในแง่บวกมากขึ้น ให้เด็กได้รับผิดชอบความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะพูดว่า “อย่าทำอย่างนั้น” หรือ “ครูว่ามันไม่ปลอดภัยนะ” ครูควรจะพูดว่า “เวลาเหยียบตรงไหนดูดี ๆ ด้วย” “ตรงนั้นมั่นคงดีไหม” หรือ “ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ครูอยู่ตรงนี้นะ” ซึ่งคำพูดแบบนี้ช่วยให้เด็ก ๆ มีอิสระในการเล่นและจัดการความเสี่ยงเอง แน่นอนต้องมีผู้ใหญ่หนึ่งคนอยู่กับเด็กเสมอ พวกเขาจะได้ไม่เจ็บตัวจริงจัง
แต่การปรับภาษาและส่งเสริมเด็ก ๆ จะมีประโยชน์ต่อความมั่นใจและความสามารถของพวกเขา
ผลที่ได้
ตั้งแต่เพิ่มโอกาสให้เด็ก ๆ เคลื่อนไหวในหลายทิศทาง ครูสังเกตเห็นพัฒนาการในทักษะทางการพูดของเด็กด้วย เพิ่มเติมจากความสามารถทางร่างกาย เมื่อมาส่งเด็ก ๆ ในตอนเช้า พ่อแม่เองก็ชอบดูว่ามีอะไรให้เด็ก ๆ เรียนรู้บ้าง และก็สังเกตเห็นเช่นกันว่าความสามารถทางกายของลูก ๆ
ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
เคล็ดลับในการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมกลางแจ้ง
- จำกัดจำนวนของเล่น “อยู่กับที่” และให้มีชิ้นส่วนที่เด็กสามารถเคลื่อนย้ายได้เอง เช่น ท่อพีวีซี ลัง
ฐานรองไม้ และกล่อง - ทำทางวิบากชั่วคราวด้วยอุโมงค์ คานทรงตัว ลัง และห่วง
- จัดหาถังน้ำชนิดต่าง ๆ ไว้ โดยมีหูหิ้วให้เด็ก ๆ เคลื่อนย้ายได้
- ติดตั้งระบบรอกแบบง่าย ซึ่งมีเพียงเชือก ต้นไม้ และถัง
- พาเด็กเดินเล่น และกระตุ้นให้สำรวจสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ เนินเขา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ปีนป่ายและสำรวจด้วยตัวเอง
- เป็นต้นแบบการเคลื่อนไหวไปตามทิศทางต่าง ๆ ให้เด็กเห็น เด็กจะตื่นเต้นอยากเข้าร่วมมากกว่า ถ้าเห็นครูพยายามและทำให้ดูก่อนว่าสนุกขนาดไหน