โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายที่มาพร้อมหน้าฝน

หน้าฝนที่กำลังมาเยือน นับเป็นสัญญาณเตือนถึงการกลับมาอีกครั้งของภัยร้ายต่อสุขภาพอย่าง ‘โรคไข้เลือดออก’ หนึ่งในโรคยอดฮิตในฤดูฝนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่ม
เด็กเล็กที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

โรคไข้เลือดออกเป็น 1 ใน 8 โรคที่ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาประกาศเตือนให้เฝ้าระวังในหน้าฝนปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศในฤดูกาลนี้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ จากสถิติยังเผยว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย 10,948 ราย ซึ่งพุ่งสูงขึ้นเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออกรุนแรงเพิ่มขึ้น

โรคไข้เลือดออก…เกิดจากอะไร?

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายมักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำขัง จึงพบมากในช่วงฤดูฝน หลังจากถูกยุงกัดจะมีเชื้ออยู่ในร่างกายคนประมาณ 5-8 วัน จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ มีไข้สูงลอย 2-7 วัน มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง

นอกจากนี้ โรคไข้เลือดออกยังเกิดขึ้นได้กับทุกวัย และพบมากในกลุ่มเด็กวัย 10-14 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วย
ที่มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง คือ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงควรได้รับการดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคไข้เลือดออก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะไข้

ในระยะไข้ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่จะมีอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส โดยส่วนใหญ่ไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน และประมาณร้อยละ 15 อาจมีไข้สูงนานเกิน 7 วัน รวมถึงอาจพบอาการผื่นคันร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย

อาการเลือดออกที่พบได้บ่อยที่สุดคือ บริเวณผิวหนังตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ จึงทำให้
ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรก นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเลือดออกอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีการอาเจียนและถ่ายอุจจาระ
เป็นเลือด

2. ระยะวิกฤต

ระยะวิกฤตหรือช็อก เป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วย
ไข้เลือดออกเดงกี และจะมีระยะเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะการไหลเวียนล้มเหลว โดยอาการช็อกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็วจึงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 (ถ้ามีไข้ 7 วัน) โดยผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยในระยะนี้ส่วนใหญ่จะมีภาวะรู้สติดี พูดรู้เรื่องอาจบ่นกระหายน้ำ บางราย
อาจมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นอย่างกะทันหันก่อนเข้าสู่ภาวะช็อก ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงผู้ป่วยอาจมือเท้าเย็นเล็กน้อย ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของชีพจรและความดันเลือด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการไหลเวียนของเลือด เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไป แต่รั่วไม่มาก
จึงไม่ทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะสั้น ๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการช็อก ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้น ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยสามารถสังเกตได้ด้วยอาการ ดังนี้ คือ อาการทรุดลงเมื่อไข้ลด เลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก/ปวดท้อง กระหายน้ำตลอดเวลา ซึม
ไม่ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร มีอาการช็อก มือเท้าเย็น กระสับกระส่าย ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะน้อย พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ และโวยวาย เป็นต้น

3. ระยะฟื้นตัว

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อกจะสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว โดยส่วนใหญ่อาการจะเริ่มดีขึ้น
เมื่อไข้ลดลง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ก็สามารถฟื้นตัวได้หากได้รับการรักษา
อย่างถูกต้องก่อนเข้าสู่ภาวะร่างกายไม่สามารถฟื้นตัวได้

การดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

การลดไข้

ควรทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้เมื่อมีอุณหภูมิสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และหยุดยาเมื่อไข้ลดต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียส หากไข้ไม่ลดลงให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง โดยเริ่มเช็ด
ที่ใบหน้า คอ หลังหู จากนั้นประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับต่าง ๆ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยง
การทานยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น เนื่องจากอาจทำให้มี
เลือดออกมากหรือเป็นพิษต่อตับไตได้

อาหาร

ควรทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการเบื่ออาหารหรือทานได้น้อย แนะนำให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่า ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมากให้จิบน้ำเกลือแร่ครั้งละน้อย ๆ บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

การติดตามอาการ

ผู้ดูแลควรสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการวิกฤต เช่น อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เลือดออกมาก ตัวเย็น มือเท้าเย็น มีภาวะไม่รู้สึกตัว ควรรีบพาไปพบแพทย์ในทันที

การระบาดของโรคไข้เลือดออกมักทวีความรุนแรงในช่วงหน้าฝน ดังนั้นการดูแลตนเอง
คนรอบข้าง และที่อยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ
ผ่านแนวทางที่ได้แนะนำไปข้างต้น เพื่อร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาวะอันดี
ให้กับสังคมไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ

เอกสารอ้างอิง

Thaihealth resour cecenter. (2566). โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายที่มาพร้อมหน้าฝน. สืบค้น 29 กรกฎาคม 2566, จาก https://shorturl.asia/Byvx5