WHO เเนะแนวทางควบคุมการตลาดโฆษณาอาหารไขมัน ด้านกรมอนามัยไทยเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารที่กระทบสุขภาพเด็ก

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้ทำการเผยแพร่คู่มือแนะนำที่ชื่อว่า ‘Policies to protect children from the harmful impact of food marketing: WHO guideline’ เพื่อเป็นแนวทางแก่ประเทศสมาชิกในการออกแบบและกำหนดนโยบายเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบที่เป็นอันตรายของการตลาดอาหาร (food marketing) เนื่องจากปัจจุบันเด็กต้องเผชิญกับแรงดึงดูดจากการตลาดที่ส่งเสริมให้บริโภคอาหารประเภทที่มีไขมันอิ่มตัวสูง กรดไขมันทรานส์ และโซเดียม คู่มือแนะนำ
ข้างต้นวางอยู่บนพื้นฐานของการทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับนโยบายควบคุมการตลาดอาหาร รวมถึงปัจจัยเเวดล้อม (contextual factors)

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมการตลาดของอาหาร
ไขมันสูงที่ปรากฏในรายงาน เช่น

  • จัดทำข้อบังคับสำหรับควบคุมการตลาดอาหาร
  • นโยบายต้องออกแบบให้ปกป้องเด็กทุกวัย
  • ใช้โมเดลการจำแนกอาหาร เพื่อจัดประเภทอาหารที่จะห้ามไม่ให้ทำการตลาด
  • จำกัดอำนาจการทำการตลาดอาหารที่มีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวใจ

ขณะที่ Dr. Francesco Branca ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการเพื่อสุขภาพและการพัฒนา
ขององค์การอนามัยโลก (UN health agency’s Department of Nutrition and Food Safety) ระบุว่าการตลาดเชิงรุก (aggressive marketing) และการแพร่หลายของอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูงต่อเด็ก เป็นภาระต่อการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สร้างกฎควบคุมที่เข้มแข็งและครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองต่อประเด็นนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกรมอนามัย เปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 
นับเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามใช้กฎหมายควบคุมการตลาดส่งเสริมการขาย การโฆษณาอาหาร
ที่หวาน มัน เค็ม เกินค่ามาตรฐาน ป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หลังพบว่าเด็กไทยอ้วนเป็นอันดับ 3
ของอาเซียน

ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น มี 4 หมวด 42 มาตรา

มีสาระสำคัญ เช่น

หมวด 2  การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กดำเนินการ อาทิ 
ฉลากต้องไม่ใช้ข้อความ หรือเทคนิคอื่นใดที่ดึงดูดให้กลุ่มเด็กสนใจ และต้องแสดงข้อความ
หรือสัญลักษณ์ในฉลากตามหลักเกณฑ์

หมวด 3  พนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 25-28) มีอำนาจหน้าที่เข้าไปในสถานที่ในกรณีมีเหตุ
อันควร  สงสัยว่ามีการกระทำความผิด เพื่อตรวจสอบ และสามารถยึดหรืออายัดเอกสาร สื่อโฆษณา หรือสิ่งอื่นใดที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้

หมวด 4 บทกำหนดโทษ (มาตรา 29-39) ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่มีโทษจำคุก
มีเพียงการกำหนดโทษปรับ โดยหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ปรับไม่เกิน
10,000 บาท และระวางโทษปรับเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรการควบคุมการตลาด
อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ระหว่าง 100,000 ถึง 300,000 บาท

เอกสารอ้างอิง

Atirut Duereh. (2566). WHO เเนะแนวทางควบคุมการตลาดโฆษณาอาหารไขมัน ด้านกรมอนามัยไทยเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารที่กระทบสุขภาพเด็ก. สืบค้น 6 สิงหคม 2566,  จาก https://www.sdgmove.com/2023/07/13/guidance-protect-children-from-impact-food-marketing/