ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา สถานศึกษาหลายแห่งประกาศให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาสองปีของการปรับรูปแบบการศึกษาเช่นนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ยังต้องเรียนรู้ผ่านการละเล่นและการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
จากผู้สอนและผู้ปกครอง
ช่วงที่การเรียนออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กเล็กจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการพวกเขามหาศาล เกิดเป็นภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss ซึ่งหลายประเทศล้วนต้องเผชิญหน้าและหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน ไม่เพียงแต่ในแง่ความรู้ทางวิชาการ เช่น การคิดเลขพื้นฐานหรือการเขียนตัวอักษร แต่ยังหมายรวมถึงทักษะการเข้าสังคมบางประการด้วย
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ชี้ว่า ภายหลังเด็กเล็กเข้าระบบเรียนออนไลน์นั้น ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กลดลงเกือบสองเดือน และด้านสติปัญญาลดลง 1.39 เดือน นับเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวหากพวกเขาต้องเข้าศึกษาในชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป
จึงกล่าวได้ว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยไม่ได้มีเพียงเรื่องวิชาการอันจะเห็นได้ชัดจากการเขียนหนังสือหรือการคำนวณเลขพื้นฐาน หากแต่ยังอยู่ในพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเข้าสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ส่งเสริมอย่างใกล้ชิดทั้งจากรั้วโรงเรียน
และผู้ปกครองที่บ้าน โดยไม่อาจปราศจากการส่งเสริมจากภาครัฐในภาพใหญ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเด็กไม่อาจเป็นสิ่งที่จะละเลยได้ไม่ว่าจะในเวลานี้หรือในอนาคต -ไม่ว่าจะในระยะใกล้และไกล นอกจากนั้นยังมีการสัมภาษณ์เหล่าผู้ใกล้ชิดเด็กปฐมวัยเหล่านี้ โดยเฉพาะคุณครูชั้นอนุบาลและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานช่วงปฐมวัย ว่าภายหลังการหวนกลับมาเปิดเรียนภาคสนามอีกครั้ง พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเด็กบ้างหรือไม่ สามารถเข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ และรายละเอียดของบทความเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.the101.world/teachers-and-guardians-opinions-about-learning-loss/